รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนมกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 22, 2010 17:38 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 4/2553

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนมกราคม 2553 ในวันที่ 22 มกราคม 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทาง การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 แม้ว่าจะยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกเป็นสำคัญ และจากการประเมินเครื่องชี้เบื้องต้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้าโดยมีการส่งออกและอุปสงค์ของภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น เมื่อพิจารณาทั้งปี 2552 กระบวนการฟื้นตัวได้กระจายเป็นวงกว้างไปยังภาคเศรษฐกิจต่างๆ และเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แม้เศรษฐกิจไทยยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในอัตราที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.7

สำหรับแรงกดดันด้านราคา ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับที่คณะกรรมการฯ คาดไว้ โดยการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นมากโดยมีสาเหตุหลักจากฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ต่ำตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากวิกฤตการเงินโลกในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ ได้ทบทวนข้อสมมติประกอบการคาดการณ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อสมมติ 3 เดือนก่อนสรุปได้ ดังนี้

1. ข้อสมมติอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับข้อสมมติเดิมตลอดช่วงประมาณการ สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักและเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ที่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ในรายงานฉบับก่อน

2. อัตราดอกเบี้ย Fed Funds คงเดิมตามประมาณการครั้งก่อน โดยประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0-0.25 เป็นร้อยละ 0.25 ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 และหลังจากนั้นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆ ไตรมาสละร้อยละ 0.25 ตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 จนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554

3. ค่าเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมากกว่าข้อสมมติเดิมเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ตลอดช่วงประมาณการ โดยปัจจัยสำคัญคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้นซึ่งทำให้เกิดภาวะ Risk Appetite และส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

4. ข้อสมมติรายจ่ายในปีงบประมาณ 2553 แตกต่างจากข้อสมมติเดิม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการใช้จ่ายของการลงทุนในงบประมาณแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ให้มาอยู่ในรูปของงบรายจ่ายอุปโภค และส่งผลให้รายจ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจโดยรวมลดลงต่ำกว่าข้อสมมติเดิม และรายจ่ายอุปโภคภาครัฐปรับเพิ่มขึ้น

5. ข้อสมมติราคาน้ำมันดูไบปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากข้อสมมติครั้งก่อน ทำให้ราคาน้ำมันดูไบโดยเฉลี่ยทั้งปี 2553 และ 2554 อยู่ที่ 81.3 และ 87.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ สอดคล้องกับข้อสมมติการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ลดลงต่อเนื่อง

6. ข้อสมมติราคาสินค้าเกษตรในปี 2553 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับประมาณการในรายงานฉบับก่อน ตามราคาในหมวดผักและผลไม้ที่ปรับลดลงมากกว่าที่คาด ถึงแม้ว่าราคาในหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งปรับเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้อุปทานข้าวโลกปรับลดลง ส่วนราคาสินค้าเกษตรในปี 2554 มีแนวโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

7. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับเพิ่มขึ้นตลอดช่วงประมาณการ โดยในปี 2553 สอดคล้องกับค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับล่าสุดในเดือนธันวาคม 2552 ที่ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จาก 203 บาทต่อวัน มาอยู่ที่ 206 บาทต่อวัน สำหรับในปี 2554 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ภายใต้ประมาณการกรณีฐานที่อิงข้อสมมติดังกล่าว ประกอบกับข้อสมมติอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงที่ ณ ระดับร้อยละ 1.25 ต่อปีตลอดช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 ยังคงอยู่ในช่วงการประมาณการที่ให้ไว้ในรายงานฉบับก่อน และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น แนวโน้มของการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายต่อเนื่องไปยังปี 2554 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แม้ชดเจนขึ้น แต่ยังคงเปราะบาง การเบิกจ่ายภาครัฐที่อาจล่าช้าและปัญหาการลงทุนของโครงการต่างๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป โดยในภาพรวมความเสี่ยงด้านลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมากกว่าความเสี่ยงด้านบวก ทั้งนี้ Fan Chart ของการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้โดยรวมจึงมีความเบ้ลงแต่น้อยกว่า ประมาณการครั้งก่อน และจะสะท้อนความไม่แน่นอนของปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระดับสูง โดยมีช่วงประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 3.3-5.3 ในปี 2553 และร้อยละ 2.8-4.8 ในปี 2554 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณร้อยละ 84.3 และ 76.4 ตามลำดับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ