แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม และทั้งปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 29, 2010 15:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 5/2553

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนธันวาคมฟื้นตัวต่อเนื่องและกระจายตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเป็นการขยายตัวของอุปสงค์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับภาคการผลิตที่กลับมาขยายตัวหลังจากแผ่วลงไปเล็กน้อยในเดือนก่อน และเป็นการปรับตัวดีขึ้นในทุกสาขาการผลิต ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รายได้เกษตรกร และรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ และเป็นแรงส่งที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนในระยะต่อไป

  • เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้เริ่มมีแรงกดดันด้านราคาเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และสัญญาณการตึงตัวของตลาดแรงงานในบางอุตสาหกรรม
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม และทั้งปี 2552 มีดังนี้
  • อุปสงค์โดยรวมขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออก โดยการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวดี สะท้อนจาก ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ในเดือนนี้ ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เครื่องชี้การใช้จ่ายของภาคเอกชนเมื่อปรับฤดูกาลแล้ว ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น เช่น การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ การบริโภคที่ขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น การว่างงานที่ลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับแรงกระตุ้นจากภาคการคลังยังมีต่อเนื่อง ตามการเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลก และเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนการเสื่อมสภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ มีแนวโน้มที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ สะท้อนว่านักลงทุนยังคงมีความกังวลกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งปัญหาจากกรณีของนิคมอุตสาหรรมมาบตาพุดและราคาน้ำมันที่ผันผวน ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการจ้างงานและการลงทุนในระยะต่อไป

สำหรับการส่งออกในเดือนนี้มีมูลค่า 14,528 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้นกลุ่มที่ใช้แรงงานสูง สำหรับการนำเข้า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่มสินค้าสอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ฟื้นตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 14,650 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 33.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการนำเข้าทองคำมูลค่า 1,097 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นมูลค่าการนำเข้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 122 ล้านดอลลาร์ สรอ. หากไม่รวมการส่งออกและนำเข้าทองคำ ดุลการค้าจะเกินดุล 919 ล้านดอลลาร์ สรอ.

ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ที่ขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ที่ปรับฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ที่สำคัญคือหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีระดับการผลิตสูงเป็นประวัติการณ์ และยังคงมีคำสั่งซื้อสูงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการขยายตัวของการผลิตในหมวดยานยนต์ เนื่องจากผู้ประกอบการต่างทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 70.1 เป็นอัตราการใช้กำลังผลิตที่ใกล้เคียงกับระดับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับรายได้เกษตรกรจากการขายพืชผลขยายตัวร้อยละ 11.8 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการเร่งตัวของราคาพืชผลเป็นสำคัญ โดยราคาพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิด จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและปัญหาเพลี้ยระบาด ส่งผลให้อุปทานทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของอุปสงค์โลก โดยเฉพาะจากประเทศจีนส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตรไทยเพื่อใช้ผลิตในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น สำหรับด้านผลผลิตพืชผลขยายตัวร้อยละ 0.7 ตามผลผลิตข้าว และอ้อย เนื่องจากราคาสูงจูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก สำหรับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวนถึง 1.68 ล้านคน ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียที่กลับมาขยายตัวชัดเจน

สำหรับสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงินในเดือนธันวาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการเร่งตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจมีทิศทางการปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ สินเชื่อภาคเอกชนเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงท้ายของปีเป็นผลจากโครงการสินเชื่อ Fast track ของภาครัฐที่สนับสนุนให้ธนาคารเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเอกชนมากขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับสูงขึ้นและธนาคารต่างๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลง เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง แม้ว่าดุลการค้าในเดือนนี้จะขาดดุล แต่เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุล ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และเป็นการเกินดุลต่อเนื่อง

สำหรับทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยโดยรวมคาดว่าหดตัวร้อยละ 2.7 จากปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการฟื้นตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลาย มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยอุปสงค์ในประเทศที่หดตัวลงมากในช่วงแรก กลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้เกษตรกร และรายรับจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นตลอดจนการจ้างงานที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง นอกจากนี้ การส่งออกและการนำเข้าสินค้าปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีในเกือบทุกอุตสาหกรรม ทั้งการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนแม้จะเริ่มฟื้นตัวแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 อยู่ที่ 138.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของทั้งปี 2552 เกินดุล 19,416 และ 20,291 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2552 หดตัวร้อยละ 0.9 อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2552 เริ่มมีแรงกดดันด้านราคาเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และสัญญาณการตึงตัวของตลาดแรงงานในบางอุตสาหกรรม

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ