สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2010 14:16 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนธันวาคม ปี 2552 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ในด้านอุปทาน รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรทั้ง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน กอปรกับการทำประมงทะเลยังคงขยายตัว ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ สินค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และไม้ยางแปรรูป ขณะที่การผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามปริมาณวัตถุดิบ นอกจากนี้การท่องเที่ยวขยายตัวดีทั้งในภาคใต้ฝั่งตะวันตกและภาคใต้ตอนล่าง ทางด้านอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้นทั้ง การลงทุนของภาคเอกชนและ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ส่วนการส่งออกและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเร่งตัวขึ้น

ไตรมาส 4 ปี 2552 เศรษฐกิจของภาคใต้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งทางด้านการผลิตและการใช้จ่าย โดยรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากที่หดตัวในไตรมาสก่อน เนื่องจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น การทำประมงทะเลเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า อย่างไรก็ตามผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงลดลง ด้านการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกและการผลิตเพื่อการขายในประเทศ การท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้น จากการออกมาตรการส่งเสริมทั้งการลดราคาห้องพัก และทำการตลาด ทำให้มีการเพิ่มเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศมายังจังหวัดภูเก็ต เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการลงทุนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น ทางด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นและความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีรายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 93.0 จากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.1 เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคายางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 83.65 บาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 126.2 ผลจากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและด้านอุปทานที่ตึงตัว ส่วนราคาปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 4.65 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.0 ขณะที่ด้านผลผลิตพืชผลปรับลดลงร้อยละ 5.2 ตามผลผลิตยางและปาล์มน้ำมัน

การทำประมงทะเลเพิ่มขึ้น ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นที่เทียบเรือขององค์การสะพานปลาเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.7 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เป็นผลจากเรือประมงที่ทำการประมงในน่านน้ำมาเลเซียนำสัตว์น้ำมาขึ้นท่าเทียบเรือ ฯ สงขลาและปัตตานีมากขึ้น ขณะที่ผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงในภาคใต้ลดลงร้อยละ 6.3 เนื่องจากได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทำให้ราคากุ้งขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 อย่างไรก็ตามกุ้งขนาดเล็กราคาเฉลี่ยกลับลดลง เนื่องจากเกษตรกรเร่งจับกุ้งออกจำหน่าย

ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 รายได้เกษตรกรขยายตัวถึงร้อยละ 41.4 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 36.8 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น โดยยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ในไตรมาสนี้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 77.25 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 52.6 เนื่องจากความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ผลผลิตของโลกลดลง ส่วนปาล์มน้ำมันราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.06 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2

ทางด้านประมงทะเล ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือภาคใต้มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 และร้อยละ 4.2 ส่วนผลผลิตกุ้งในภาคใต้ลดลงร้อยละ 10.2 ด้านราคาซื้อขายกุ้งขนาด 50ตัวต่อกิโลกรัมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ขณะที่กุ้งขนาด 70-100 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นกุ้งขนาดเล็กราคาปรับลดลง อนึ่ง การจำหน่ายกุ้งในโครงการรับจำนำกุ้งขาวแวนนาไมปี 2552 นั้น อยู่ระหว่างขออนุมัติหลักเกณฑ์จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

2. ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 32.3 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพาการส่งออก ได้แก่ ยาง อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง ถุงมือยาง และไม้ยาง มีเพียงการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ปรับลดลงตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงาน

ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.0 เร่งตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.0 เมื่อพิจารณารายละเอียด อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกปรับตัวดีขึ้น ตามการผลิตยาง อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลบรรจุกระป๋องและไม้ยางพาราแปรรูปที่มีความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งเป็นการผลิตที่พึ่งพาตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน

3. การท่องเที่ยว ภาวะการท่องเที่ยวขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 27.6 เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคใต้ตอนล่าง ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศเส้นทางใหม่มายังจังหวัดภูเก็ต ทำให้อัตราการเข้าพักของภาคใต้เฉลี่ยร้อยละ 61.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 48.2

ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 การท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 0.1 เป็นผลจากนักท่องเที่ยวฝั่งตะวันตก เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 18.4 เนื่องจาก การส่งเสริมการตลาดโดยการลดราคาห้องพัก การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การเพิ่มเที่ยวบินตรงและเช่าเหมาลำ ทำให้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 60 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 56 ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในภาคใต้ตอนล่างเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เร่งตัวขึ้นมากจากไตรมาสก่อนที่มีนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 10.4

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 2.7 หลังจากที่ลดลงงร้อยละ 0.8 ในเดือนก่อน เป็นการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้ในทุกหมวด โดยเฉพาะ การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 และ 14.0 และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด โดยจังหวัดภูเก็ต สงขลาและสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีสัดส่วนการจัดเก็บมากนั้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 16.6 และ 4.9 ตามลำดับ

ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.9 ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.5 ส่วนดัชนีหมวดเชื้อเพลิง และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับหมวดยานยนต์ แม้จะลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 10.2 แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 23.6 การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้เป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้น การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น การเร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

5. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของเครื่องชี้สำคัญ อาทิ พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.5 ตามการเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างเพื่อการบริการและขนส่งจากการก่อสร้างโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ตเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 229.4 เนื่องจากมีโครงการที่มีเงินลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการได้แก่ โครงการผลิตยางผสมและสัตว์น้ำแช่แข็งในจังหวัดสงขลา และโครงการสวนน้ำ ในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลมีจำนวนรายและจำนวนเงินทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 และ 224.2 ตามลำดับ

ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 การลงทุนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่ รวมทั้งการเพิ่มทุนจดทะเบียนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเงินเพิ่มทุนจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลลดลง

6. การจ้างงาน ความต้องการแรงงานชะลอลงจากเดือนก่อน โดยตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 34.3 ขณะที่มีการบรรจุงานลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.3 และ ผู้สมัครงาน ลดลงร้อยละ 12.6 ส่วนข้อมูลด้านการประกันตนตามมาตรา 33 จากสำนักงานประกันสังคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 หลังจากหดตัวติดต่อกันตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา

ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีการบรรจุงานลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.3 โดยมีจำนวนผู้สมัครงานลดลงร้อยละ 3.6 ขณะที่มีตำแหน่งงานว่างเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ส่วนผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ในภาคใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เร่งตัวจากร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อนเป็น ร้อยละ 4.3 ในเดือนนี้ ทั้งนี้ เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร และหมวดเคหสถาน เป็นผลจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น รวมถึง การปรับเงื่อนไขมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้กลับมาบวกที่ร้อยละ 3.1 หลังจากติดลบมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ตามดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8 จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าผักและผลไม้ ขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร เนื่องจากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.5

8. การค้าต่างประเทศ การส่งออกดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลล่าร์สรอ. เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.7 จากที่ลดลงร้อยละ 0.3 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสินค้าส่งออกที่สำคัญมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกสินค้า โดยเฉพาะสินค้ายางพารา และไม้ยางพาราแปรรูปส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 110.9 และ176.7 ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 19.8 เร่งตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 34.6 ทั้งนี้เป็นการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และอุปกรณ์ก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้ากอปรกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนเป็นช่วงเริ่มเกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าหมวดยางพารา ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกมากที่สุด มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 นอกจากนี้ สินค้าที่มูลค่าส่งออกเร่งตัวสูงขึ้น ได้แก่ ไม้ยางพาราแปรรูป และอาหารกระป๋อง ส่วนการส่งออกสัตว์น้ำมูลค่าทรงตัว ขณะที่ถุงมือยางมีมูลค่าส่งออกลดลง สำหรับการนำเข้าลดลง ร้อยละ 13.6 เป็นการลดลงในอัตราที่ชะลอลงจากที่ลดลงร้อยละ 25.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากมีการนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันกันปีก่อนร้อยละ 77.1 ในจำนวนนี้เป็นการเบิกจ่ายจากรายจ่ายประจำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 และมีการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 319.7 จากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบไทยเข้มแข็งเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบลงทุน

ส่วนการจัดเก็บภาษี เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 ตามการเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิตเป็นสำคัญ

ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.1 โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8 และร้อยละ 201.5 ตามลำดับ เนื่องจากภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณและงบประมาณไทยเข้มแข็ง

ขณะที่ การจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.9 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 186.5 เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีในหมวดน้ำมัน สุรา เบียร์และยาสูบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ในขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพากรลดลงร้อยละ 2.9

10. ภาคการเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 หดตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.1 เนื่องจากผู้ออมเงินหันไปออมเงินในผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่จูงใจกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.8 กระเตื้องขึ้นหลังจากที่เดือนก่อนหน้าหดตัวร้อยละ 0.1

แนวโน้มไตรมาสที่ 1 ปี 2553

เศรษฐกิจภาคใต้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังอยู่ในระดับสูงทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดี และมีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว นอกจากนี้ยังได้รับแรงกระตุ้นจาก การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามโครงการไทยเข้มแข็ง ทางด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ผ่อนคลายความเข้มงวดในการพิจารณาการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ