รายงานแนวโน้มธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 17:34 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและนักธุรกิจ

(Economic/Business Information Exchange Programme Between the Bank of Thailand and the Business Sector)

สรุปภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1 ปี 2553

บทคัดย่อ
  • การบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทน (Durable Goods) ที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นและรายได้ของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ปัจจัยทางฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ อาทิ การจัดรายการขายเงินผ่อนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วนการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นขยายตัวจากไตรมาสก่อนเช่นกัน
  • การผลิตและการส่งออก ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์ที่แท้จริง (Final Demand) มากกว่าการสะสมสินค้าคงคลัง (Inventory Build-up) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
  • การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน การก่อสร้าง รวมถึงการลงทุนต่อเนื่องด้านพลังงานทดแทน แต่การลงทุนอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อทดแทนและปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าการลงทุนใหม่เพื่อขยายการผลิต ทั้งนี้ การตัดสินใจลงทุนขึ้นอยู่กับแนวโน้มของอุปสงค์ อัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบัน และระยะเวลาคืนทุนเป็นสำคัญ มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของการลงทุนยังคงมีความเสี่ยงจากต้นทุนการผลิต ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง และความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตมาบตาพุดของรัฐบาล
  • การจ้างงาน ภาวะการจ้างงานโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาและกลับมาอยู่ในภาวะปกติ เป็นผลจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการค้าและบริการ สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมหดตัวลดลง เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน ในส่วนของอัตราค่าจ้าง ในเดือนมกราคม 2553 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้น ตั้งแต่ 1-8 บาทใน 71 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
  • ต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคา แรงกดดันทางด้านต้นทุนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ในระยะต่อไป แรงกดดันด้านต้นทุนจะมีมากขึ้นจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปด้วย อาทิ เหล็ก ทองแดง และพลาสติก
  • สินเชื่อ ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ทั้งจากธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิตและการลงทุน สำหรับมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สะท้อนมุมมองด้านความเสี่ยง (Risk Perception) ของสถาบันการเงินทั้งต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วไปและสภาวะธุรกิจที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา
  • ปัจจัยเสี่ยงและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ การปรับราคาสินค้าที่ทำได้ยาก ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณของมาตรการกระตุ้นของรัฐ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงความชัดเจนและระยะเวลาในการแก้ปัญหาวิกฤตมาบตาพุดของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อบรรยากาศการลงทุนและภาวะเศรษฐกิจในปี 2553 นี้

จากการเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจ สถาบัน และสมาคมธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 200 ราย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 รวมถึงผลจากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ (Business Sentiment Survey)(*1) พบว่า ภาวะธุรกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนจากการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นตามคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการบริโภคมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นทั้งการบริโภคสินค้าคงทนและสินค้าจำเป็นสะท้อนจากยอดการค้าปลีกที่ดีขึ้นมากในช่วงไตรมาส 4 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อทดแทนและปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าการลงทุนใหม่เพื่อขยายการผลิต เนื่องจากอุปสงค์ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ และระยะเวลาคืนทุนนาน

แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่า ภาวะธุรกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกระตุ้นภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความต่อเนื่องและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลกระทบของการลดภาษีภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreement: AFTA) และอาเซียน-จีน ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 แรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตทั้งราคาวัตถุดิบและน้ำมัน ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง และความชัดเจนในการแก้ไขปัญหามาบตาพุดของรัฐบาล

การบริโภคภาคเอกชน

ในไตรมาสที่ 4 การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา บ่งชี้จากการบริโภคสินค้าคงทน (Durable Goods) ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล สะท้อนจาก ยอดจองรถยนต์ในงาน Motor Expo ปี 2552 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 25,220 หมื่นคัน เทียบกับยอดจอง 17,000 คัน ในปีก่อนหน้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า(*2) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง(*3) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐรายได้ของประชาชนทั้งจากภาคการเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากอุปทานสินค้าเกษตรลดลงจากสภาพอากาศที่เลวร้ายและแปรปรวน ประกอบกับความต้องการนำเข้าจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งจากประเทศจีน และอินเดีย รายได้นอกภาคการเกษตรปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งเป็นผลของปัจจัยทางฤดูกาลที่อยู่ในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

นอกจากนี้ การบริโภคที่ฟื้นตัวยังเป็นผลจากการใช้นโยบายส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ อาทิ การจัดรายการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนอัตราดอกเบี้ยต่ำ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค อาทิ ผู้บริโภคหันมานิยมรถยนต์ขนาดเล็กและประหยัดพลังงานมากขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤตพลังงานโลกและปัญหาโลกร้อน สอดคล้องกับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาด และผู้บริโภคหันมานิยมใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นของส่วนตัวมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น

ด้านการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันขยายตัวจากไตรมาสก่อน บ่งชี้จากยอดค้าปลีกในศูนย์การค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะยอดขายสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และ ยาสูบ รวมถึงสินค้าผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ ระดับ High end ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน สะท้อนถึงกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะปานกลางถึงฐานะสูงยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ซ่งึสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีการบริโภคภาคเอกชน

ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่าการอุปโภคบริโภคจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ภาวะการจ้างงานที่ขยายตัวดีและอัตราการว่างงานลดลงมาก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลถึงปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่มีสัญชาติไทยเพื่อขายตลาดในประเทศจะได้รับแรงกดดันด้านการแข่งขันและด้านราคาจากการลดภาษีภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และอาเซียน-จีน ขณะที่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสัญชาติต่างชาติและมีฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะสามารถขยายตลาดสินค้าให้กว้างขึ้นและลดต้นทุนการผลิตจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) โดยใช้ฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

การผลิตและการส่งออก

ในไตรมาสที่ 4 การผลิตและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์ที่แท้จริง (Final Demand) มากกว่าการสะสมสินค้าคงคลัง (Inventory Build-up) ส่วนหนึ่งเป็นผลด้านฤดูกาลที่ผลิตเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประเภท Hard Disk Drive (HDD) และวงจรรวม (Integrated Circuit) และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นผลสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และ ตลาดบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (BRICs) สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) และคำสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศและต่างประเทศที่ได้จากการสำรวจธุรกิจ(*4) โดยบริษัทส่วนใหญ่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ระหว่างร้อยละ 80 — 90 แต่คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นนี้ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต

ในปี 2553 แนวโน้มการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะขยายตัวเทียบกับปีก่อนหน้า จากปัจจัยบวกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคเอกชน การเติบโตอย่างรวดเร็วของเครือข่ายสังคมที่กำลังเป็นที่นิยม อาทิ Facebook และ My Space และการเติบโตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภท Smartphone และการขยายตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ระดับกลางสู่ประเทศอินเดียและทวีปแอฟริกา สำหรับความเสี่ยงต่อการขยายตัวของการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ และแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาน้ำมัน

ในปี 2553 แนวโน้มการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทกลุ่มภาพและเสียง อาทิ โทรทัศน์จอใหญ่ และโฮมเธียเตอร์ ที่ได้รับปัจจัยบวกจากการจัดมหกรรมฟุตบอลโลกปี 2010 รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จากการฟื้นตัวดีขึ้นของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีปัจจัยเสี่ยงคล้ายคลึงกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการแข่งขันและแรงกดดันด้านราคาของสินค้าต่างประเทศภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของไทย สามอันดับแรก ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน (ร้อยละ 30.7) โดยมีอินโดนีเซียเป็น สัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มนี้ รองลงมาคือประเทศออสเตรเลีย (ร้อยละ 17.9) และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง (ร้อยละ 17.1) ตามลำดับ เป็นที่สังเกตว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 73.7(*5) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตเล็กน้อย

ในปี 2553 แนวโน้มการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมรถยนต์ ผู้ประกอบการคาดว่าตลาดรถยนต์จะขยายตัวเทียบกับปีก่อน โดยประมาณการยอดขายทั้งปี 2553 อยู่ที่ 1,200,000 คัน จากปัจจัยบวก ได้แก่ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และ การเปิดตลาดใหม่ภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากปัญหาการเมืองที่เป็นความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว ยังมีปัญหาการประท้วงหยุดงานในภาคอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบโดยตรงและผลทางอ้อมต่อผู้ประกอบการอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

การลงทุนภาคเอกชน

ในไตรมาสที่ 4 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และหมวดการก่อสร้าง สอดคล้องกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index: PII) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ผู้ประกอบการมีการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำ ลังการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์และชิ้นส่วน เพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในส่วนของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะเน้นเพื่อผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กและประหยัดพลังงาน (Eco car) สำหรับการลดภาษีภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) จะสนับสนุนให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสามารถนำเข้าสินค้าได้ในราคาที่ถูกลงและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะทำให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในการส่งออก

การลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ของไมโครซอฟท์ นโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ราชการทั่วประเทศ และกระแสโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ส่งผลให้ความต้องการ Hard disk drive แบบพกพาและกล้องดิจิตอลมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้วงจรชีวิตค่อนข้างสั้น ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้างทรงตัวอยู่ในระดับต่ำแต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลและโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า

หากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการลงทุน พบว่า การลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อทดแทนและปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าการลงทุนใหม่เพื่อขยายการผลิต เนื่องจากอุปสงค์ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ และระยะเวลาคืนทุนนาน

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ รวมทั้งความต่อเนื่องและความเชื่อมโยงหรือประสิทธิภาพต่อการลงทุนภาคเอกชนจากมาตรการกระตุ้นของรัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งและมาตรการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปี 2553 จำนวน 17 มาตรการ6 การลงทุนของภาคเอกชน7ในระยะต่อไปจะกระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตที่มีศักยภาพทั้งด้านการผลิตและการส่งออก ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนในด้านพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการเกษตรและผลผลิตจากการเกษตร และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการลงทุนยังคงมีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบและน้ำมัน ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ และ ความชัดเจนของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหามาบตาพุด(*8) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น จากความไม่ชัดเจนของกฎหมายไทย

อสังหาริมทรัพย์

ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และการแข่งขันปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Mortgaged loan) ของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ภายใต้โครงการ Fast Track

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 อุปสงค์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 3 โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ต่ออาคารชุด จากความต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางในภาวะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น การเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อบ้านหลังแรกของคนรุ่นใหม่จากเดิมที่ซื้อทาวน์เฮาส์มาเป็นอาคารชุด โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีแดง และสีน้ำเงิน รวมทั้งการส่งเสริมตลาดบ้านบีโอไอ ที่ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดระดับล่างขยายตัว ในส่วนของอุปทานใหม่โดยรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา สังเกตจากผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์

ส่วนอุปทานเหลือขายของตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม ณ ไตรมาสที่ 4 (*9) ลดลงเมื่อเทียบกับระยะ เดียวกันปีก่อน โดยอุปทานเหลือขายประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์มีระดับใกล้เคียงกันอยู่ที่ 34,589 และ 34,538 หน่วย ตามลำดับ ขณะที่อุปทานเหลือขายประเภทอาคารชุดอยู่ที่ 28,295 หน่วย ผู้ประกอบการเห็นว่ายังไม่มีอุปทานส่วนเกินในที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จึงทำให้ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทนี้อยุ่อีกมาก และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในประเด็นด้านการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ พบว่าเริ่มมีนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติกลับคืนสู่ตลาดหลังจากที่ลดลงไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก จากแรงจูงใจด้านอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และผลตอบแทนจากการลงทุนในที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดที่เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 50% ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์อาจสูงขึ้นเกินจริงและอาจก่อให้เกิดปัญหาฟองสบู่ได้

แรงกดดันด้านราคาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากต้นทุนด้านที่ดินที่สูงขึ้น ส่วนแรงกดดันด้านราคาที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดโน้มสูงขึ้น(*10) และสูงกว่าราคาพื้นฐานในบางทำเล โดยเฉพาะอาคารชุดราคาแพงตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้มีรายได้สูงชาวไทยและต่างประเทศ เป็นผลสำคัญจากที่ดินซึ่งมีอยู่จำกัด สำหรับต้นทุนการก่อสร้างยังไม่มีแรงกดดัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและตกแต่งราคาถูกจากประเทศจีน และกำลังซื้อโดยรวมที่ยังไม่อยู่ในระดับสูง

แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวดีขึ้น ทั้งยอดขายและการปล่อยสินเชื่อ โดยยอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงก่อนมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จะหมดอายุลงในวันที่ 28 มีนาคม 2553 โดยอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดยังคงมีแนวโน้มเติบโตมากกว่าบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ โดยเฉพาะโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีแดง และสีน้ำเงิน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ SP2 ที่เน้นการสร้างสาธารณูปโภคจะสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ดี แต่ยังมีความกังวลเรื่องความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะต่อไป

การจ้างงาน

ภาวะการจ้างงานโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาโดยกลับมาอยู่ในภาวะปกติ การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการค้าและบริการ ทั้งประเภทโรงแรมและภัตตาคาร ขนส่งและคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมหดตัวลดลง เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน โดยเริ่มมีสัญญาณขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์และชิ้นส่วน และอาหาร เป็นต้น ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง(*11)

ในส่วนของอัตราค่าจ้าง ในเดือนมกราคม 2553 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้น ตั้งแต่ 1-8 บาท ใน 71 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดจาก 173 บาท เป็น 181บาท ส่วน 5 จังหวัดที่ไม่มีการปรับขึ้น ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สุโขทัย เชียงราย เพชรบูรณ์ และ อุทัยธานี ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะกรรมการไตรภาคีของกระทรวงแรงงานกลับไปพิจารณาใหม่ โดยเห็นว่าควรจะต้องมีการขึ้นอย่างน้อย 1 บาท ไปพร้อมๆ กับจังหวัดอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานในเรื่องการปรับค่าจ้างและการจ่ายโบนัส ในช่วงสิ้นปี และเห็นว่าภาครัฐควรปรับปรุงและให้ความสำคัญกับกระบวนการทางแรงงานและกฎหมายที่เกี่ยวกับการเจรจาข้อเรียกร้อง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาไม่ให้ลุกลามจนถึงขั้นนัดหยุดงาน

ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า

การคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เป็นต้นทุนใน 12 เดือนข้างหน้า

(%)     < 3%   3-6%   6-9%   9-12%   > 12%   ค่าเฉลี่ย
ก.ย.52   54.7  31.4    9.5    2.0     2.2     3.9
ต.ค.52   52.1  33.3   10.3    2.5     1.8     4.0
พ.ย.52   55.6  29.8   10.0    2.0     2.5     4.0

แรงกดดันทางด้านต้นทุนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ในระยะต่อไป แรงกดดันด้านต้นทุนจะมีมากขึ้นจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปด้วยเช่น เหล็ก ทองแดง พลาสติก

ทิศทางราคาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเหล็กต้นน้ำเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และจะส่งผลให้ราคาเหล็กกลางและปลายน้ำเพิ่มสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ ความต้องการเหล็กทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั่วโลก โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยสถาบันเหล็กโลกคาดว่าจีนจะใช้เหล็กในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อน สำหรับกรณีของไทยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความคืบหน้าของโครงการลงทุนของรัฐจะเป็นปัจจัยให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของราคาเหล็ก โดยผู้ผลิตในประเทศได้ปรับเพิ่มราคาเหล็กแผ่นรีดเย็นในไตรมาสที่ 4 ตันละ 3,400 บาท และไตรมาส 1 ปี 2553 จะขึ้นอีกตันละ 1,000 บาท

สินเชื่อ

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ทั้ง จากธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Investment) และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิตและการลงทุน ตามคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจบางส่วนยังคงพึ่งพาเงินทุนจากการออกตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจตัวกลางทางการเงิน การผลิต อสังหาริมทรัพย์ และการคมนาคมขนส่ง และผู้ประกอบการเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่เอื้อต่อความต้องการสินเชื่อของทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือนประเภทที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อน ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินในด้านเงื่อนไขการให้สินเชื่อ ส่วนความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิต(*12) และสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ (*13) ลดลงเล็กน้อย

สำหรับมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สะท้อนมุมมองด้านความเสี่ยง (Risk Perception) ของสถาบันการเงินทั้งต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วไปและสภาวะธุรกิจที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา มาตรฐานการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่อนคลายต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ มีความเข้มงวดมากขึ้นเล็กน้อย เป็นผลมาจากความกังวลด้านความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของผู้กู้

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 คาดว่าความต้องการสินเชื่อของธุรกิจโดยรวมจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการกระตุ้นของรัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งและมาตรการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปี 2553 ทั้ง 17 มาตรการ ในขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อทุกประเภทคาดว่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ยกเว้นมาตรฐานการให้สินเชื่อบัตรเครดิตมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมากขึ้นจากการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อย (Retail banking)

ปัจจัยเสี่ยงและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

ผลการสำรวจผู้ประกอบการในช่วงไตรมาสที่ 4 พบว่าปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ 4 ลำดับแรกในไตรมาสนี้ ได้แก่ อันดับแรก คือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจจากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก และยังประสบปัญหาการว่างงานอยู่ในระดับสูงโดย ณ เดือนธันวาคม 2552 คิดเป็นร้อยละ 10.0

อันดับสอง คือ การปรับราคาสินค้าที่ทำได้ยาก โดยผู้ประกอบการต้องการให้สามารถขึ้นราคาได้ในกรณีที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และต้องการความชัดเจนว่าเมื่อใดควรชะลอการขึ้นราคา เมื่อใดที่เอกชนต้องช่วยตัวเอง และเมื่อใดต้องปรับราคาตามต้นทุน ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ รัฐสามารถกำหนดสินค้าที่มีความจำเป็นอย่างมีเหตุผลเป็นสินค้าควบคุมได้ ซึ่งในปัจจุบันมีสินค้า 38 รายการ และบริการ 1 รายการ ที่รัฐควบคุมในรูปแบบของการตั้งเพดานราคา นอกจากนี้ยังมีสินค้าและบริการในหมวดติดตามดูแลอีกกว่า 200 รายการที่เปิดโอกาสให้ขึ้นราคาได้ หากผู้ประกอบการมีเหตุผลในเรื่องต้นทุนและราคาที่ปรับขึ้นไม่กระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งในเรื่องนี้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแล

อันดับสาม คือ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณของมาตรการกระตุ้นของรัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และ อันดับสี่ คือ ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงความชัดเจนและระยะเวลาในการแก้ปัญหามาบตาพุดของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อบรรยากาศการลงทุนและภาวะเศรษฐกิจในปี 2553 นี้

ข้อจำกัดในการทำธุรกิจ                   ส.ค.52    ก.ย. 52   ต.ค. 52   พ.ย. 52
1. ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ     60.0        61.8      56.9      60.6
2. การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก            53.0        51.1      52.4      54.9
3. ความไม่แน่นอนทางการเมือง            51.2        54.1      47.9      51.8
4. การแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดในประเทศ    42.9        42.1      44.6      43.2
5. ต้นทุนการผลิตสูง                     41.1        37.3      40.6      40.8
6. ความต้องการจากตลาดในประเทศต่ำ      40.5        41.6      35.1      36.2
7. ความต้องการจากตลาดต่างประเทศต่ำ     24.3        24.3      21.8      24.0
8. การแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดต่างประเทศ   21.7        23.0      23.3      22.3
9. ขาดแรงงานฝีมือ                     10.9        13.3      13.1      14.7
10. ขาดแคลนวัตถุดิบ                     9.8         9.9       9.1      10.9
11. ปัญหาทางการเงิน                   10.9        10.5      10.3      10.7
12. ขาดข้อมูลในการวางแผนทางธุรกิจ        9.0         9.6       8.8       8.4
13. ไม่มีข้อจำกัด                        6.3         6.9       8.0       7.0

หมายเหตุ: ตัวเลขแสดงร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถาม

ที่มา: การสำรวจผู้ประกอบการ

ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ (Economic Intelligence Team)

ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน

30 ธันวาคม 2552

ข้อมูลเพิ่มเติม: โทร: 0-2283-6920, 5646

(*1) แบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Survey) เป็นแบบสอบถามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำเป็นประจำทุกเดือนโดยส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 865 ราย ครอบคลุมธุรกิจหลายประเภท เช่น ภาคบริการ บริการทางการเงินการค้า ขนส่งและคมนาคม ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค โดยมีการตอบกลับมาทั้งสิ้นประมาณ 520 รายต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 60

(*2) ตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้า แบ่งออกเป็น 3 ตลาดใหญ่ ได้แก่ กลุ่ม Audio Visual กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน และกลุ่มสินค้าที่มีเทคโนโลยีระดับสูง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องใช้ในสำนักงาน และอุปกรณ์เสริมต่างๆ

(*3) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ต.ค.-พ.ย. อยู่ที่ระดับ 76.0 เทียบกับระดับ 74.5 ในไตรมาสที่ 3, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ธันวาคม 2552

(*4) ดัชนีการผลิตในเดือน ต.ค.-พ.ย. อยู่ที่ระดับ 54.3 เทียบกับระดับ 50.4 ในไตรมาสที่ 3 และ ดัชนีคำสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศและต่างประเทศในเดือน ต.ค.-พ.ย. อยู่ที่ระดับ 46.3 เทียบกับระดับ 39.2 ในไตรมาสที่ 3, รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย, พฤศจิกายน 2552

(*5) อัตราการใช้กำลังการผลิตรถยนต์เฉลี่ยในเดือน ต.ค. และ พ.ย. 2552

(*6) มาตรการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 17 มาตรการ ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 2. การเดินหน้าตามแผนพัฒนาตลาดเงิน ระยะที่ 2 เพื่อลดต้นทุนจากกฎระเบียบ และ สินเชื่อและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 3. แผนการพัฒนาตลาดทุน 4. การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ 5. การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) 6. การให้สินเชื่อรายย่อยผ่านสถาบันการเงินของรัฐ 7. การออกกฎหมายควบคุมบริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 8. การควบคุมการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม 9. มาตรการทางเลือกหลักประกันทางธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีทางเลือกในการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน 10. ผลักดันการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 11. การปฎิรูปการจัดเก็บภาษีของไทย โดยเฉพาะภาษีศุลกากรเพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน 12. มาตรการ ภาษีเพื่อการเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย 13. ผลักดันแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 14. การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต 15. การผลักดันไมโคร อินชัวร์รัน หรือ ประกันภัยราคาประหยัด 16. การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ 17. การสร้างจริยธรรมในกระทรวงการคลัง

(*7) จากสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 2552 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 723,400 ล้านบาท เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนของ BOI ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในปี 2552

(*8) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้แก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการลงทุน 76 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด โดยให้ 11 โครงการที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชนสามารถดำเนินงานต่อไปได้ และในวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนการระงับการดำเนินกิจการเพิ่มอีก 1 โครงการ จึงคงเหลืออีก 64 โครงการที่ถูกระงับการลงทุนในปัจจุบัน

(*9) ข้อมูลจากการสำรวจของบริษัท Agency for real estate affair(AREA) การสำรวจครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลคิดเป็นร้อยละ 70 ของอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ

(*10) สอดคล้องกับราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยต่อหน่วยประเภทอาคารชุดในช่วง 11 เดือน ของปี 2552 ที่สูงถึงร้อยละ 43.3 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีอาคารชุดระดับบนที่มีราคาสูงกว่า 20 ล้านบาท เปิดตัวกว่า 100 หน่วย ในไตรมาสที่ 4 นี้

(*11) จำนวนผู้ว่างงาน เดือน ต.ค. 2552 อยู่ที่ 410,500 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 เทียบกับจำนวนผู้ว่างงาน เดือน ก.ย. 2552 อยู่ที่ 458,100 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2

(*12) ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตไม่รวมบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank)

(*13) ความต้องการสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ ประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อเพื่อการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ ผู้บริหารทีม ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ E-Mail: SaovaneC@bot.or.th

นางสาวรุจา อดิศรกาญจน์ เศรษฐกร RujaA@bot.or.th

นายนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ เศรษฐกร NitisanP@bot.or.th

ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ (Economic Intelligence Team)

ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่อยู่ 273 ถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

เบอร์โทรศัพท์ 0-2283-6920, 5646

เบอร์แฟกซ์ 0-2282-5082

เวบไซต์ธนาคาร www.bot.or.th

รายงานแนวโน้มธุรกิจจัดทำขึ้นโดยทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์จากข้อมูลภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจที่ได้จากโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและการเงิน ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคธุรกิจ (Economic/Business Information Exchange Programme between the Bank of Thailand and the Business Sector) รวมถึงการตอบกลับแบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Survey) ซึ่ง ธปท. จัดทำเป็นประจำทุกเดือน

รายงานฉบับนี้สามารถดูได้จาก http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/BLP/Pages/index.aspx

Disclaimer: รายงานฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่ได้สะท้อนความเห็นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง คณะกรรมการนโยบายการเงินใช้ข้อมูลนี้เพื่อประกอบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ในการวิเคราะห์และประเมินภาวะเศรษฐกิจ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ