ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2552 และพัฒนาการที่สำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 13:53 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 7/2553

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงินเปิดเผยว่า ปี 2552 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ แม้ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ หดตัวจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยสินเชื่อรวมชะลอตัวลงตามสินเชื่อภาคธุรกิจที่หดตัว ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเป็นบวกตลอดปี อย่างไรก็ตาม สินเชื่อภาคธุรกิจเริ่มขยายตัวได้ในไตรมาส 4 จากสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ส่งผลให้ทั้งปีสินเชื่อรวมหดตัวเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจและ การบริหารความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์ มีกำไรซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ประกอบกับการเพิ่มทุน ทำให้ฐานะเงินกองทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงภายในและภายนอกประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และอาจส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้น ระบบธนาคารพาณิชย์จึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านตลาด รวมถึงความเสี่ยงจาการทำธุรกิจข้ามพรมแดนต่อไป

สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงหดตัว ในไตรมาส 3 เริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ทำให้ ณ สิ้นปี 2552 สินเชื่อหดตัวเพียงร้อยละ 1.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อภาคธุรกิจ (สดส่วนร้อยละ 72.9 ของสินเชื่อรวม) หดตัวร้อยละ 5.0 จากการหดตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อ SMEs (สัดส่วนร้อยละ 57 ของสินเชื่อธุรกิจ) ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 อย่างไรก็ดี สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.0

เงินฝาก ณ สิ้นปี 2552 หดตัวร้อยละ 0.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน เมื่อรวมการระดม เงินฝากและตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange : B/E) จะขยายตัวร้อยละ 1.1 ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากผู้ฝากเงิน หันไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า สำหรับสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์สูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสินเชื่อหดตัว โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและ B/E ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 85.8

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross Non-Performing Loans : Gross NPL) มียอดคงค้าง 3.76 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2551 จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงทั้ง gross NPL และ net NPL เหลือร้อยละ 4.8 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ จากการรับชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการโอนเป็นหนี้ปกติ โดยลดลงทั้ง NPL ในส่วนของสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ คือ ผิดนัดชำระหนี้เกิน 1 เดือน แต่ยังไม่เกิน 3 เดือน (Delinquent loan) ลดลงเช่นกัน จากการที่ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในปี 2552 จำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 6.6 จากดอกเบี้ยรับและเงินปันผลสุทธิที่ลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับและเงินปันผลสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงจากร้อยละ 3.2 ในปีก่อนเหลือ ร้อยละ 2.9 และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงจากร้อยละ 1.0 เหลือร้อยละ 0.9 ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะเงินกองทุนเพิ่มขึ้น จากผลกำไรและการเพิ่มทุน โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16.1 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.6

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ