สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 4/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 29, 2010 15:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2553

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนและปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 เป็นผลจากการขยายตัวของภาคการเกษตร การใช้จ่ายตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง ทุนจดทะเบียนของโรงงานอุตสาหกรรม และทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ และการบริโภคของประชาชนที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้ 1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตเกษตรในไตรมาสนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ในระดับทรงตัว โดยดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 0.4 เนื่องจากข้าว อ้อย และมันสำปะหลังมีราคาสูงขึ้น ส่วนดัชนีผลผลิตในไตรมาสนี้หดตัวลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ตามปริมาณการลดลงของผลผลิต มันสำปะหลังเป็นสำคัญ

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 14,179 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.9 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 สำหรับราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 9,046 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.5 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัว ร้อยละ 0.3 เนื่องจากประเทศผู้ส่งออก ได้แก่ อินเดีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ประสบปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม ทำให้ปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นและส่งผลให้ประเทศไทยส่งออกได้มากขึ้น

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.84 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 38.3 และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 16.7 สำหรับราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.80 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.8 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวลดลงร้อยละ 28.8 เนื่องจากภาวะการส่งออกโดยเฉพาะประเทศจีนขยายตัวขึ้น

อ้อย เข้าสู่ฤดูกาลเปิดหีบในไตรมาสนี้ ราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูกาลปี 2552/53 ราคา 950 บาทต่อตัน ณ ค่าความหวาน 10 ซีซีเอส ขณะที่ราคาเฉลี่ยอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนธันวาคมเท่ากับ 963 บาทต่อตัน เนื่องจาก ค่าความหวานเฉลี่ยของอ้อยในภาคสูง และความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตน้ำตาล รายใหญ่ของโลก ได้แก่ บราซิลและอินเดีย มีปริมาณการผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง และการนำอ้อยไปผลิตพลังงานทดแทน มีผลให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.28 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.9 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 30.2 เนื่องจากราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิต ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติทำให้สามารถผลิตได้มากขึ้น

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 ตามการหดตัวของอุตสาหกรรมมันเส้นและแป้งมัน เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบลดลง อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลง เนื่องจากการเร่งผลิตในไตรมาสที่ผ่านมา เพื่อรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นการชำระภาษี อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า อุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) และอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคบริการ การท่องเที่ยวในภาคไตรมาสนี้ เป็นช่วงเทศกาล เริ่มเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญในภาค และบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น มีผลให้อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.0 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีอัตราการเข้าพักร้อยละ 43.0 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 45.9

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสถาบันการเงินเริ่มมีการให้สินเชื่อ และผู้ประกอบการ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 แม้ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ทั้งนี้มีเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 แม้ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่เก็บได้จากห้างสรรพสินค้า และธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งสะท้อนการจับจ่าย ใช้สอย ยังคงเพิ่มขึ้น

สำหรับปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกัน ปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 และร้อยละ 20.8 ตามลำดับ และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ขณะที่ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3

4. การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้ตัดสินใจลงทุนเพิ่ม โดยเครื่องชี้สำคัญคือ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ เป็นการเพิ่มขึ้นในจังหวัดอุดรธานี โดยเป็นการยื่นขออนุญาตก่อสร้างของโครงการบ้านจัดสรร ธุรกิจการค้า และการยื่นขออนุญาตดัดแปลงอาคารของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งหากไม่นับรวมการยื่นขออนุญาตดัดแปลงอาคารของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แล้ว ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.5

ทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนกว่าเท่าตัว และเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการจดทะเบียนของบริษัทขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานี รวมทั้งธุรกิจขายปลีกอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดอุดรธานี

จำนวนเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.1 ส่วนใหญ่ประกอบกิจการอบและรักษาเมล็ดพืชในไซโลในจังหวัดนครราชสีมา และกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าในจังหวัดนครราชสีมาและอุบลราชธานี และปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนลดลงร้อยละ 37.1 เนื่องจากในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีโครงการผลิตขวดแก้วขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดขอนแก่นทำให้มูลค่าการลงทุนมากกว่าปกติ

5.ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาล ไตรมาสนี้สามารถจัดเก็บภาษีอากรได้ 9,627.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของภาษีสรรพากร และอากร ขาเข้า ส่วนภาษีสรรพสามิตชะลอตัวลง มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 4,657.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน เป็นการขยายตัวจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เห็นได้จากภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนและค่าจ้างเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาคธุรกิจมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนเป็นต้น สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอตัวเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากธุรกิจลิสซิ่งแห่งหนึ่งย้ายแหล่งชำระภาษีจากส่วนกลางมาชำระภาษีในภาคแทนทำให้ฐานปีก่อนสูง แต่อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจผลิตน้ำตาล ธุรกิจผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 4,901.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ตามการจัดเก็บภาษีสุราและเบียร์เป็นสำคัญ เนื่องจากในเดือนตุลาคมผู้ประกอบการชะลอการผลิตเพราะสินค้าคงเหลือมีปริมาณสูง จากการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า ส่วนภาษีเครื่องดื่มยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

ภาษีอากรขาเข้าจัดเก็บได้ 68.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสแรกหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาหลายไตรมาส ตามการเพิ่มขึ้นของอากรขาเข้าจากด่านศุลกากรนครพนม และด่านศุลกากรท่าลี่เป็นสำคัญ จากการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ข้าวโพด และกระเทียมที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ส่วนด่านศุลกากรมุกดาหารและด่านศุลกากรหนองคายหดตัวน้อยลง

การเบิกจ่ายงบประมาณ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ มีการเบิกจ่ายงบประมาณ 61,828.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน มีรายลัเอียดดะงนี้ รายจ่ายประจำ 42,927.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในหมวดเงินเดือน และค่าตอบแทน

รายจ่ายลงทุน 18,900.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป และรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว ในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการค้า 20,357.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.9 และขยายตัวจากไตรมาส 3 ที่หดตัวร้อยละ 17.1 เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่า การส่งออกและนำเข้า ตามรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 15,405.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน ขยายตัวหลังจากที่หดตัวมาหลายไตรมาส เป็นผลจากการส่งออกสินค้าส่วนหนึ่งไปใช้ในช่วงการจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรและอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

การนำเข้า มีมูลค่า 4,952.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวจากไตรมาส 3 ที่หดตัวร้อยละ 39.0 จากการนำเข้าสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินแร่ทองแดงเนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีน อุปกรณ์เครื่องโทรคมนาคมและตัวแปลงกระแสไฟฟ้าจากประเทศเวียดนาม กระเทียมจากประเทศจีน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา ในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการค้า 13,292.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.9 จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกและนำเข้า และยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่หดตัวร้อยละ 17.2 โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 11,922.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน และยังคงขยายตัวจากไตรมาส 3 จากการส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จากการเร่งส่งออกตามโค้วต้าปี 52 น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารสัตว์ สุกรมีชีวิต ผ้าผืน เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลการเกษตรและก่อสร้าง

การนำเข้า มีมูลค่า 1,370.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน และยังคงขยายตัวจากไตรมาส 3 จากการนำเข้าเศษวัสดุโดยเฉพาะเศษเหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียมที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวตามราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการนำเข้ามันสำปะหลังและถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว นอกจากนี้ ยังมีการนำกลับสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการเกษตร

7. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 2.3 เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2

หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ หมวดเนื้อสัตว์ร้อยละ 7.7 ข้าวร้อยละ 6.5 ไข่ร้อยละ 2.6 ผักและผลไม้ร้อยละ 2.0

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 4.4 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากผลิตภัณฑ์ยาสูบและผลิตภัณฑ์เบียร์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 และ 14.2 ตามลำดับ เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 52 อย่างไรก็ตาม หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา การศาสนาและหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลงร้อยละ 14.9 และ 4.8 ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการต่างๆ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานไตรมาสนี้ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1 เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 0.6

8. ภาคการจ้างงาน ด้านภาวะการจ้างงาน มีผู้สมัครงาน 26,317 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 35.1 มีตำแหน่งงานว่าง 12,768 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 26.7 และมีผู้ที่ได้รับการบรรจุ เข้าทำงาน 15,744 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีการสมัครงาน ตำแหน่งงานว่าง และการบรรจุเข้าทำงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิต และการขายส่ง การขายปลีกเนื่องจากจะมีการเปิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น

สำหรับคนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 19,802 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.9 เป็นผลต่อเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและวิกฤตการณ์ดูไบเวิลด์ ส่วนใหญ่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานยังประเทศไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ กาตาร์และลิเบีย จังหวัดอุดรธานีมีผู้ขออนุญาตเดินทางไปมากที่สุดรองลงมาเป็น นครราชสีมา ขอนแก่น และหนองคาย

9. ภาคการเงินธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคมีจำนวน 385,742 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากกระแสรายวัน ในขณะที่เงินฝากประจำยังคงหดตัวต่อเนื่อง

ด้านสินเชื่อ มีจำนวน 388,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อเริ่มมีสัญญาณขยายตัวเป็นเดือนที่สองหลังจากที่ชะลอตัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 โดยในเดือนนี้สินเชื่อประเภท ตั๋วเงินขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.0 ในขณะที่เดือนก่อนหดตัวร้อยละ 3.9 ส่วนใหญ่เป็นตั๋วเงินของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครู กลุ่มโรงสีที่เริ่มใช้วงเงินเพื่อจัดซื้อผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ รวมทั้งธุรกิจเช่าซื้อและจำหน่ายรถยนต์

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือนนี้เป็นร้อยละ 100.8 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 103.5 เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อยังคงน้อยกว่าการขยายตัวของเงินฝาก

ธนาคารเฉพาะกิจ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 เงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจในภาคมีจำนวน 197,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของเงินฝากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในขณะที่เงินฝากของธนาคารอาคารสงเคราะห์หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ด้านเงินให้สินเชื่อมีจำนวน 453,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของการให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในขณะที่อัตราขยายตัวของสินเชื่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรชะลอตัวลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411 e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ