ส่องเศรษฐกิจปีเสือ ... เชื่อหรือไม่ว่าจะฟื้นตัว?

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 14:29 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายสุโชติ เปี่ยมชล

เศรษฐกรอาวุโส ทีมเศรษฐกิจมหภาค

สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะถึงเทศกาลปีใหม่ของพี่น้องชาวจีน หลายคนคงตั้งความหวังไว้ว่าปีเสือปีนี้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองกว่าปีที่แล้ว ซึ่งคำอธิษฐานดังกล่าวน่าจะเป็นจริงได้ เพราะจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นและกระจายไปในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ โดยเครื่องชี้หลายตัวปรับดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยเฉพาะในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่กลับไปสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตแล้ว ตามการส่งออกที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.68 ล้านคน เหล่านี้สะท้อนถึงอานิสงค์ที่เศรษฐกิจไทยได้รับจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศก็มีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ตามราคาพืชผลหลักที่ปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก ขณะที่รายได้ของคนทำงานก็มีมากขึ้น ตามภาวะการจ้างงานและการผลิตที่เร่งตัวขึ้น โดยอัตราการว่างงานลดต่ำลงมาอยู่เพียง 1%(*1) นอกจากนี้ สินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เคยดูฝืดเคืองในช่วงก่อน ก็มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมากขึ้นเช่นกัน และท้ายที่สุดท้ายก็คงต้องให้เครดิตกับภาครัฐบ้าง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่ากำลังซื้อและกำลังใจของประชาชนน่าจะกลับมาเข้าที่เข้าทางได้อีกครั้ง

หลายคนคงจะใจชื้นแล้วว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปีเสือน่าจะดีกว่าปีวัวผอมโซแน่นอน แต่คำถามต่อมาก็คือแล้วเศรษฐกิจจะดีแค่ไหน? คงไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่นอนล่วงหน้าในเวลานี้เพราะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่ถ้าดูคำทำนายของโหรเศรษฐกิจสำนักต่างๆ ซึ่งค่าเฉลี่ยของ Consensus Forecast(*2) ที่สำรวจล่าสุดในเดือนมกราคมก็ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.3% ซึ่งปรับขึ้นมาจากประมาณการเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่คาดไว้เพียง 3.9%

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเสือตัวนี้จะกลายเป็นเสือติดปีกทะยานขึ้นฟ้าไปได้ง่ายๆ เหตุเพราะความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มาก ทั้งความแข็งแรงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไว้วางใจไม่ค่อยได้ จากปัญหาการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงและการสะสางปัญหาของภาคการเงิน การใช้ยากระตุ้นทางการคลังของประเทศต่างๆ ก็คงทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะที่เป็นภาระเพิ่มขึ้น หรือเมื่อเร็วๆ นี้ที่ทางการจีนประกาศควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อก็สร้างความวิตกให้กองเชียร์ที่หวังพึ่งให้เศรษฐกิจจีนเป็นตัวนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หันมาดูในประเทศเราเองก็มีความไม่แน่นอนไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลถึงความต่อเนื่องทางนโยบาย จากผลของความไม่แน่นอนทางการเมือง หรือผลกระทบจากการระงับโครงการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก็ตาม ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความเข้มแข็งและความรวดเร็วของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย

ด้วยความไม่แน่นอนเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงยังให้ช่วงประมาณการเศรษฐกิจที่ค่อนข้างกว้างที่ราว 3.3 - 5.3% หรือมีผลต่างอยู่เกือบ 2 % เมื่อเทียบกับช่วงประมาณการในปีปกติที่ผ่านมาที่มักจะแคบกว่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ กนง. เท่านั้นที่ประเมินว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก จากผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของ ธปท. พบว่า ภาคธุรกิจเอกชนก็มีความไม่แน่ใจกับภาวะเศรษฐกิจอยู่พอสมควรและยังเห็นว่าความไม่แน่นอนนี้เป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งของการทำธุรกิจมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนนับเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หลายคนพร่ำบ่นว่าทำให้การลงทุนของไทยฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า เพราะความไม่แน่นอนมักจะถูกแปลความถึงความคุ้มค่าของผลตอบแทนจากการลงทุน และยิ่งธรรมชาติของการลงทุนนั้นมีลักษณะที่เริ่มแล้วถอยกลับได้ยาก เช่น ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานใหม่แล้ว จะให้ถอนเสาเข็มคืนก็คงลำบาก ดังนั้น หากยังคาดเดาไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการก็เลือกที่จะเลื่อนการลงทุนออกไปจนกว่าทุกอย่างจะชัดเจน ดังตัวอย่างข่าวของการชะลอการตั้งโรงงานแห่งใหม่ของบริษัทรถยนต์มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทในประเทศไทย เพราะต้องการรอดูความชัดเจน ดังนั้น ยิ่งความอึมครึมทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่นานเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนใหม่ ระดับผลผลิต รวมถึงศักยภาพ การผลิตของประเทศในระยะยาว หากปล่อยให้การลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นไปเรื่อยๆ ก็จะบั่นทอนให้ศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดน้อยถอยลงไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ในโอกาสตรุษจีนที่จะถึงนี้ ก็ขอให้เศรษฐกิจปีเสือปีนี้ของทุกคนเป็นปีที่เสือกินอิ่ม แข็งแรง ไม่ดุร้าย และมีความไม่แน่นอนน้อยลง อย่างน้อยก็จากความรักสามัคคีของคนในชาติเพื่อต้อนรับวันวาเลนไทน์ที่กำลังมาถึงไปด้วยในตัว ..

(*1) จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนพฤศจิกายน 2552

(*2) Asia Pacific Consensus Forecasts, survey date October 12, 2009 and January 11, 2010.

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553

                   ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ