แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 26, 2010 17:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 8/2553

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคมขยายตัวต่อเนื่อง และมีการกระจายตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยอุปสงค์ต่างประเทศและการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนอยู่ในเกณฑ์ดีจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของรายได้เกษตรกรและการจ้างงาน ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงเล็กน้อย จากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันประจำปีและบางอุตสาหกรรมได้เร่งผลิตสำรองไว้ในเดือนก่อนเพียงพอกับความต้องการ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนเสถียรภาพภายในประเทศมีสัญญาณตลาดแรงงานที่เริ่มตึงตัวขึ้นในบางอุตสาหกรรมและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2553 มีดังนี้

อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกในเดือนนี้มีมูลค่า 13,634 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.4 เป็นการขยายตัวทั้งทางด้านราคาและปริมาณ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สำหรับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 1.61 ล้านคน ขยายตัวตามเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียที่กลับมาขยายตัวชัดเจน

ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ในเดือนนี้ทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนวิกฤต และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวดีจากเดือนก่อน ได้แก่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน ทั้งนี้ การบริโภคที่อยู่ในเกณฑ์ดี เป็นผลจากรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง และแรงกระตุ้นจากภาคการคลัง รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.4 และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 5.2 ส่วนหนึ่งจากฐานต่ำในปีก่อนจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลก

อุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวส่งผลให้การนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 13,043 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 50.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงทุกหมวดสินค้า

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 28.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 5.6 การผลิตที่ชะลอลงเป็นผลจากการปิดโรงกลั่นน้ำมันเพื่อซ่อมแซมประจำปี และการเร่งผลิตเมื่อเดือนก่อนของอุตสาหกรรมหลายประเภท อาทิ Hard Disk Drive โรงงานผลิตน้ำตาลและอุตสาหกรรมเหล็กทำให้มีผลผลิตสำรองเพียงพอสนองความต้องการของลูกค้า ภาคเกษตร รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 13.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและราคา โดยเป็นการขยายตัวของผลผลิตอ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมันส่วนราคาพืชผลเร่งตัวขึ้น จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้อุปทานในตลาดโลกลดลง ประกอบกับอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่องจากประเทศจีน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน เร่งตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 3.5 ในเดือนธันวาคม ส่วนหนึ่งจากฐานราคาน้ำมันเดือนเดียวกันปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในเดือนธันวาคม

สำหรับสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงินในเดือนมกราคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สินเชื่อชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุจากการชำระคืนสินเชื่อของลูกหนี้รายใหญ่หลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงสิ้นปีเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้ การขยายตัวของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคเอกชนยังคงมาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่สินเชื่อที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำดุลการค้ากลับมาเกินดุลในเดือนนี้ เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุล ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ