เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 26, 2010 15:04 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2553

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนมกราคม 2553 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการส่งออกเร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักและขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ทำให้ภาคการค้าทั้งหมวดยานยนต์ ค้าส่งและค้าปลีกขยายตัวดีขึ้นตอบสนองความต้องการอุปโภคบริโภคที่มีมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดีเกือบทุกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งออกและการผลิตเครื่องดื่มเป็นสำคัญ รายได้ของเกษตรกรขยายตัวเป็นเดือน

แรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐลดลงตามการหดตัวของงบลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเร่งเบิกจ่ายในเดือนที่ผ่านมาแล้ว เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่วนการว่างงานอยู่ในระดับต่ำกว่าของประเทศ ด้านเงินให้สินเชื่อขยายตัวเป็นเดือนแรก ในขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรขยายตัวเป็นเดือนแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 เป็นผลจากราคาและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยดัชนีราคาพืชผลสำคัญสูงขึ้นร้อยละ 8.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากราคาอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก ประกอบกับราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวเปลือกเหนียวนาปี ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.9 ร้อยละ 17.9 และร้อยละ 64.9 ตามลำดับ ตามความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีลดลงร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับฐานราคาของระยะเดียวกันปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ด้านดัชนีผลผลิตพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากการเพิ่มขึ้นของอ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ เนื่องจากราคาของปีก่อนอยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก สำหรับผลผลิตข้าวนาปีและมันสำปะหลังลดลงร้อยละ 2.5 และร้อยละ 16.2 ตามลำดับ จากการระบาดของเพลี้ยในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงมาก

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 41.5 ขยายตัวดีเกือบทุกอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากช่วงเดียวกันปีก่อนประสบวิกฤตเศรษฐกิจและขยายตัวร้อยละ 16.7 จากเดือนก่อน ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวดีในทุกสินค้าและเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80.5 เช่น แผงวงจรสำเร็จรูป ไอซี ส่วนประกอบฮาร์ดดิสต์ไดร์ และไดโอด เป็นต้น ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในต่างประเทศ ด้านการผลิตเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 82.1 ด้านการผลิตสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องจากการก่อสร้างภาครัฐ/ชาวบ้าน และการส่งออกไปประเทศเพื่อบ้านที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี ด้านอุตสาหกรรมเครื่องประดับและเจียระไนเพชรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตามความต้องการในเอเชียตะวันออกกลาง ด้านอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.7 จากการแปรรูปพืชผักแช่แข็ง และพืชผักถนอมอาหารที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน แต่การผลิตน้ำตาลชะลอลง เนื่องจากได้เร่งผลิตในเดือนก่อนหน้า

3. ภาคบริการ ภาวะด้านการท่องเที่ยวปรับตัวในทิศทางน่าพอใจ แม้จะแผ่วลงจากช่วงสิ้นปี โดยสะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.1 ชะลอตัวจากร้อยละ 41.5 เดือนก่อนซึ่งเป็นเดือนที่ขยายตัวสูงสุดในรอบปี ด้านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารขยายร้อยละ 15.1 โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย สำหรับอัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 55.6 ราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 1,481.7 บาท/คืน

4. ภาคการค้า ภาวะการค้าภาคเหนือเร่งตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีภาคการค้าขยายตัวร้อยละ 22.5 จากระยะเดียวกันปีก่อนโดยขยายตัวทุกหมวด ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การค้าหมวดยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 24.1 โดยการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวกอปรกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ จากความต้องการภายในประเทศและการส่งออกไปประเทศพม่าที่มีนโยบายเปิดเสรีให้จดทะเบียนรถทุกชนิด และการค้าหมวดค้าส่ง ขยายตัวร้อยละ 23.8 จากหมวดขายส่งเครื่องดื่ม หมวดวัสดุก่อสร้าง ส่วนหมวดขายส่งอาหารและยาสูบยังคงหดตัว สำหรับ การค้าหมวดค้าปลีก ขยายตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 19.7 ตามการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ทั้งหมวดอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ และหมวดวัสดุก่อสร้าง ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 รวมถึงยอดขายในห้างสรรพสินค้าและสินค้าหัตถกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการส่งเสริมการขาย ในช่วงเทศกาลปีใหม่และการที่รัฐบาลส่งเสริมให้มอบของขวัญของที่ระลึกเป็นสินค้าในท้องถิ่น

5. การอุปโภคบริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 เครื่องชี้การใช้จ่ายของภาคเอกชนส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.8 การบริโภคสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันในหมวดค้าส่งและค้าปลีก หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ โทรทัศน์ ตู้เย็น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดัชนีในหมวดยานยนต์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่แปด ซึ่งสอดคล้องกับกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีการค้าหมวดยานยนต์และเชื้อเพลิง ส่วนหนึ่งเกิดจากฐานต่ำในปีก่อน นอกจากนี้ยังเกิดจากการจัดงาน Motor show การเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย การออกรถยนต์รุ่นใหม่ ดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และรายได้เกษตรเพิ่มสูงขึ้นจากราคาพืชผลเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเดือนธันวาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 6.4 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

6. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ขยายตัว ตามมาตรการกระตุ้นของทางการเป็นสำคัญ โดยดัชนีการลงทุนภาคเอชนภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 104.9 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของภาคก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 54.7 โดยตลาดในประเทศขยายตัวตามการก่อสร้างภาครัฐในมาตรการกระตุ้นของทางการ และการก่อสร้างของเกษตรกรในพื้นที่ ตลาดต่างประเทศขยายตัวจากการส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 60.1 โดยเฉพาะประเภทที่อยู่อาศัยและประเภทเพื่อการบริการ ในจังหวัดสำคัญทางเศรษฐกิจของภาค ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 21.7 ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินอ่อนตัวลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากการสิ้นสุดการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สำหรับความสนใจลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งสะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือ เร่งตัวถึงร้อยละ 766.0 โดยมีการอนุมัติ 6 โครงการ เงินลงทุน 555.8 ล้านบาท เป็นการลงทุนในหมวดเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตร และหมวดบริการ และสาธารณูปโภค เป็นสำคัญ

7. การค้าต่างประเทศ การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเร่งตัว การส่งออก เร่งตัวขึ้นโดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 86.0 เป็น 257.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนหนึ่งเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนประสบวิกฤตเศรษฐกิจ แต่หากเทียบกับเดือนก่อนมูลค่าการส่งออกก็ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในทุกประเภทสินค้า ทั้งสินค้ากลุ่ม Hi-tech Products เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลนส์กล้องถ่ายรูป และส่วนประกอบฮาร์ดิสต์ไดร์ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มอื่น ๆ ก็ขยายตัวเช่นกันทั้ง เพชรเจียระไน และผลิตผลทางการเกษตรแปรรูป การส่งออกสินค้าเกษตรเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนตามการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และใบยาสูบที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสำคัญ ตลาดส่งออกโดยรวมที่ขยายตัวดีได้แก่ อาเซียน จีน และเอเชียตะวันออกกลาง การส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 86.4 เป็น 113.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน ขยายตัวในทุกตลาดทั้งพม่า ลาว และจีนตอนใต้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 90.4 ร้อยละ 62.5 และร้อยละ 64.3 ตามลำดับ จากการส่งออก น้ำมัน และยานพาหนะ

การนำเข้า ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 52.4 เป็น 99.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่มีการนำเข้าเพื่อผลิตในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นขึ้น เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพชรเพื่อเจียระไน และแก้ว การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวดีจากการนำเข้า ชิ้นส่วนเครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องจักรกลเป็นสำคัญ ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เป็น 9.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวเมื่อเทียบกับที่หดตัวในเดือนก่อน ตามการนำเข้าจากลาวที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากการนำเข้าถ่านหินลิกไนท์ พืชผัก และดอกไม้ ด้านการนำเข้าจากจีนตอนใต้ขยายตัวร้อยละ 6.7 ส่วนการนำเข้าจากพม่าลดลงร้อยละ 39.5 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน.

ดุลการค้า ในเดือนมกราคม 2553 เกินดุล 157.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่เกินดุล 72.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 140.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

8. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 11,174.9 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 41.3 ตามรายจ่ายของงบลงทุนซึ่งลดลงร้อยละ 78.2 เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปเร็วขึ้นกว่าทุกปี จึงได้มีการเบิกจ่ายในช่วงเดือนที่ผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ตามหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.5 ระยะเดียวกันปีก่อน ด้านรายจ่ายประจำมีจำนวน 8,888.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ตามการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายอาหารกลางวัน นมโรงเรียนและค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.9 ขณะที่งบดำเนินงานในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนพนักงานส่วนราชการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ระยะเดียวกันปีก่อน

9. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 107.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จากหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งที่ร้อยละ 15.0 โดยเฉพาะข้าวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก หมวดผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.9 ด้านหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารร้อยละ 12.0 จากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ที่ยังสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก หมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 9.1 จากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต หมวดเคหสถานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 ตามการปรับลดเกณฑ์การช่วยเหลือในการต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือน โดยเฉพาะค่าน้ำประปา ส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ในขณะที่หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ยังคงลดลงจากผลของ

มาตรการเรียนฟรี 15 ปี สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.2

10. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพียงสิ้นเดือนธันวาคม 2552 ภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวม 7.3 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.2 ล้านคน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.2 ตามจากการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร การก่อสร้างและการผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 ร้อยละ 10.4 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ เนื่องจากสาขาดังกล่าวมีความต้องการแรงงานกลับเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 2.9 โดยส่วนหนึ่งจากการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่นอกภาคเกษตร สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.03 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.4 ต่ำกว่าร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนอัตราการทำงานต่ำกว่าระดับอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่ำกว่าร้อยละ 1.3 ระยะเดียวกันปีก่อน ทางด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 รวมจำนวน 707,452 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.3 และร้อยละ 7.2 ตามลำดับ โดยจำแนกเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 607,580 คน และตามมาตรา 39 จำนวน 99,872 คน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.7 และร้อยละ 35.0 ตามลำดับ

11. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 392,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.4 ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชรและพิษณุโลก ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 309,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ขยายตัวเป็นเดือนแรกนับจากที่หดตัวตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2552 จากความต้องการใช้สินเชื่อในภาคเหนือตอนล่างของธุรกิจโรงสีข้าว/ค้าพืชไร่ ค้าปลีกค้าส่งและสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์และพิจิตร ขณะที่ในภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงราย ลำปาง และเชียงใหม่ จากสินเชื่อธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และธุรกิจลิสซิ่ง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 79.0 ลดลงจากร้อยละ 81.4 ระยะเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณกุศล จันทร์แสงศรี โทร 0 5393 1164

E-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ