สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 22, 2010 15:30 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมกราคม ปี 2552 ขยายตัว โดยการอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนเร่งตัวขึ้น จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามราคาพืชผลที่สำคัญสูงขึ้นและการจ้างงานมากขึ้นเนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวขยายตัว ขณะเดียวกัน การลงทุนของภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย เงินฝากและเงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคม ปี 2553 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรในภาคใต้ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีรายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 69.0 เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยกิโลกรัมละ 92.97 บาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 100.7 ตามความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อที่มีความต้องการต่อเนื่อง ประกอบผลผลิตออกน้อย มีการเก็งกำไรและราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.15 บาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ตามราคาในตลาดมาเลเซีย เนื่องจากการซื้อขายในตลาดโภคภัณฑ์คึกคักขึ้น กอปรกับปัจจัยด้านฤดูกาลและสภาพอากาศทำให้ผลผลิตในมาเลเซียลดลง ด้านผลผลิตพืชผลที่สำคัญลดลงร้อยละ 5.7 กระเตื้องขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 27.4 ในเดือนก่อน

การทำประมงทะเลเพิ่มขึ้น เนื่องจากเรือประมงที่ไปทำการประมงในน่านน้ำมาเลเซียยังคงนำสัตว์น้ำมาขึ้นท่าเทียบเรือสงขลาและปัตตานี ทำให้ ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นที่เทียบเรือขององค์การสะพานปลาเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.4 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 ทางด้านผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงในภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 ส่วนราคาจำหน่ายกุ้งปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากในช่วงเดียวกันปีก่อนเกษตรกรลดการเพาะเลี้ยง เพื่อมิให้ราคาลดลงมาก

2. ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 ตามการขยายตัวของการผลิตอุตสาหกรรมทุกประเภททั้งอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกและอุตสาหกรรมที่จำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนผลจากมีการขยายตลาดอย่างต่อเนื่องและผลผลิตของประเทศคู่แข่งลดลง ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ตามปริมาณวัตถุดิบ เป็นการขยายตัวที่ดีขึ้นมากจากที่ลดลงร้อยละ 8.5 ในเดือนก่อน

3. การท่องเที่ยว ภาวะการท่องเที่ยวขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.8 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นสำคัญ เป็นผลจากการเพิ่มเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ได้มีการเน้นตลาดในระยะใกล้มากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวออสเตรเลีย รัสเซีย จีนและอินโดนีเซีย เดินทางเข้ามามากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่างลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเดือนมกราคมปีก่อนมีเทศกาลตรุษจีน

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวมากผลจากรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลสูงขึ้นและมีการจ้างงานมากขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 6.7 เร่งตัวมากขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในเดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และ การจดทะเบียนรถที่เพิ่มขึ้นทุกประเภท ส่วนการใช้เชื้อเพลิงลดลงเล็กน้อย

5. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากการขยายตัวของทุกเครื่องชี้สำคัญ โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.1 ตามพื้นที่ก่อสร้างเพื่อการบริการที่เพิ่มขึ้นร้อยละ106.1 เป็นการก่อสร้างโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ตและสงขลา และที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.3 นอกจากนี้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำนวน 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,225.1 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่มีเงินลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป 3 โครงการ เป็นกิจการอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป ถุงมือยาง และพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล

6. การจ้างงาน ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น สะท้อนจากตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 148.5 ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการโรงแรม อุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป อย่างไรก็ตาม ผู้มาสมัครงานลดลงร้อยละ 9.4 ส่วนข้อมูลด้านการประกันตนตามมาตรา 33 จากสำนักงานประกันสังคม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.3 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ผลของราคาน้ำมันในเดือนเดียวกันปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ และการปรับลดมาตรการช่วยค่าครองชีพเกี่ยวกับค่าน้ำประปา

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ ร้อยละ 1.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในเดือนก่อน

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งในด้านการส่งออกและการนำเข้า โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลล่าร์สรอ. เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74.2 ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะการส่งออกยางที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 115.8 มีเพียงถุงมือยางที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 39.9 ตามการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์เพิ่มขึ้น

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้ ลดลงจากเดือนเดียวกันกันปีก่อนร้อยละ 30.2 ตามการลดลงของการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 78.6 เนื่องจากได้มีการปรับไปใช้งบไทยเข้มแข็งบางส่วน ส่วนการจัดเก็บภาษี เพิ่มขึ้น 19.8 ตามการเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิตเป็นสำคัญ

10.ภาคการเงิน เงินฝากและเงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีก่อน โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 เงินฝากและเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 และ 4.4 ตามลำดับ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม: นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ