สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 23, 2010 15:54 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 ขยายตัว เนื่องจากรายได้เกษตรเพิ่มขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคายางพารา ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตามการส่งออก และการท่องเที่ยวขยายตัว ทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนขยายตัว พร้อมกันนี้ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเร่งตัวขึ้นมาก ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ทางด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร ดัชนีรายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลที่สำคัญในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 77.5 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นทางด้านราคาโดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 79.3 เป็นผลจากราคายางเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยราคาแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 95.97 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีราคาเพียงกิโลกรัมละ 46.37 บาท ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.92 บาท ลดลงร้อยละ 6.4 ทางด้านผลผลิตปรับลดลงร้อยละ 1.0 ตามการลดลงของการผลิตยาง เนื่องจากในปีนี้เข้าสู่ฤดูยางผลัดใบเร็วขึ้น ขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น

การทำประมงทะเลลดลง เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นจากฝั่งอันดามันลดลง จากสภาพภูมิอากาศและกระแสน้ำ ประกอบกับแพปลาหลายแห่งหยุดรับซื้อสัตว์น้ำในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบเรือประมงมีจำนวน 21,363 เมตริกตันลดลงร้อยละ 7.0 คิดเป็นมูลค่า 758.37 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.7 ทางด้านผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงในภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 ส่งผลให้ราคาจำหน่ายกุ้งปรับลดลง โดยกุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 125.25 บาท ลดลงร้อยละ 11.3

2. ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ชะลอลงจากที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 28.7 ทั้งนี้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่การผลิตขยายตัว โดยอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และถุงมือยาง ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนร้อยละ 35.8 38.3 และ 10.9 ตามลำดับ ยกเว้นอุตสาหกรรมยางแปรรูปที่การผลิตลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.7

3. การท่องเที่ยว ขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 71.3 เร่งตัวขึ้นมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.8 ตามการขยายตัวทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทย เนื่องจาก การส่งเสริมตลาด การเพิ่มเที่ยวบิน และเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน และยุโรป สำหรับอัตราการเข้าพักเดือนนี้เฉลี่ยร้อยละ 70.9

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 6.4 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้ทุกหมวดทั้ง การจดทะเบียนรถ ภาษีมูลค่าเพิ่ม การใช้เชื้อเพลิง และการใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ของเกษตรกรและการจ้างานที่เพิ่มขึ้น

5. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมฟื้นตัว สะท้อนจากการขยายตัวของทุกเครื่องชี้สำคัญ โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้างและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในภาคใต้ ทั้งนี้พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 และโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่มีจำนวนรวม 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 3,862.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 60.0 และ 1,740.1 ตามลำดับ ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 โครงการที่มีเงินลงทุนสูงกว่า 100 ล้านบาท ขณะเดียวกันการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่ จำนวน 413 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 976.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.7 และ 63.8 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

6. การจ้างงาน ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น สะท้อนจากตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.5 ขณะที่ผู้มาสมัครงานและผู้ได้รับการบรรจุงานลดลงร้อยละ 29.3 และ 12.6 ตามลำดับ ส่วนข้อมูลด้านการประกันตนตามมาตรา 33 จากสำนักงานประกันสังคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เพิ่มขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากผลของภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และราคาอาหารหลายชนิดปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ ร้อยละ 0.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้ารวมขยายตัวจากการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้าลดลง ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 57.2 ตามการเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยางพารา ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.8 และ 77.5 ตามลำดับ ด้านการนำเข้า มีมูลค่าลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.7 เนื่องจากในเดือนเดียวกันปีก่อนนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์มีมูลค่าสูง

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.5 ในจำนวนนี้เป็นการเบิกจ่ายจากรายจ่ายประจำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.7 จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเร่งรัดโครงการลงทุนที่สำคัญที่จำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ส่วนการจัดเก็บภาษี เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.6 เป็นการเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิตเป็นสำคัญ

10. ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 คาดว่าเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่งผลให้เงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับธนาคารพาณิชย์การออกผลิตภัณฑ์เงินฝากในรูปแบบใหม่ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจกับผู้ฝากเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ