แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 31, 2010 14:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 13/2553

ภาวะเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวต่อเนื่องโดยมีแรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศและการท่องเที่ยวประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ขยายตัวหลังจากชะลอลงเล็กน้อยในเดือนก่อน ทั้งนี้ รายได้เกษตรกร และรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้ต่างประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนเสถียรภาพภายในประเทศยังคงมีแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ทั้งจากราคาอาหารสด และราคาผู้ผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีดังนี้

อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกในเดือนนี้มีมูลค่า 14,255 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 23.5 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง โดยสินค้าเกษตรขยายตัวดีตามราคายางพาราที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงขยายตัวตามการส่งออกยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ สำหรับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 1.6 ล้านคน ขยายตัวตามตลาดนักท่องเที่ยวหลักในภูมิภาคเอเชีย

อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.3 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวดีจากเดือนก่อน อาทิ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ได้รับผลดีจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวในระดับสูง และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามสินค้าไม่คงทน อาทิ นาฬิกาและเครื่องประดับยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนการนำเข้าสินค้าคงทนยังทรงตัวในเกณฑ์ดี ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.6 และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 11.4 ทั้งนี้ การลงทุนที่ปรับดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังคงมีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการเบิกจ่ายของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโครงการประกันรายได้เกษตรกร

อุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวดี ส่งผลให้การนำเข้าในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 80.8 คิดเป็นมูลค่า 13,803 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณถึงร้อยละ 62.6 ตามการขยายตัวในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เป็นสำคัญ และเป็นการเพิ่มขึ้นด้านราคาร้อยละ 11.2

ภาคการผลิตขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์ โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 30.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากปรับฤดูกาลแล้ว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.3 เป็นการปรับตัวดีขึ้นทั้งการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ IC Hard Disk Drive และเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังมีคำสั่งซื้อในระดับสูง ด้านภาคเกษตร ผลผลิตพืชผล ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากระยะเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพารา ราคาพืชผลขยายตัวร้อยละ 20.9 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 23.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามราคาสินค้าในกลุ่มผลผลิตเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ ที่ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก

สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากระยะเดียวกันปีก่อนโดยเงินฝากภาคครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่เงินฝากของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงิน ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ

ปริมาณเงินความหมายกว้าง (Broad Money) ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่ระดับ 10,684.8 พันล้านบาทขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามเงินฝากที่สถาบันรับฝากเงิน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายเงินฝากไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่น เช่น เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นต้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เสถียรภาพภายในประเทศมีแรงกดดันต่อระดับราคาต่อเนื่อง ทั้งจากราคาอาหารสดและราคาผู้ผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ