การทดสอบแผนรองรับความต่อเนื่องทางธุรกิจ ในระบบสถาบันการเงินไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 1, 2010 16:03 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายบัญชา มนูญกุลชัย

ผู้บริหารทีม

สำนักนโยบายความเสี่ยง

ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง

เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมที่โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ครั้งนั้นผมดูทีวีอยู่ ยังนึกว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ เพราะว่ามีเครื่องบินพาณิชย์บินชนตึก World Trade Center ถึง 2 ลำ ทั้ง 2 ตึกในเวลาใกล้ ๆ กัน และยังมีอีกลำบินไปชนกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ พอตอนหลังมีผู้ประกาศข่าวออกมาสรุปเหตุการณ์ทั้งหมด จึงรู้ว่านี่ไม่ใช่ภาพยนตร์แล้ว แต่เป็นเรื่องจริง และต่อมาก็มีข่าวการก่อการร้ายในอีกหลายประเทศ โดยมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ ดังจะเห็นได้จากในครั้งนั้นดัชนีราคาของหลักทรัพย์ของเกือบทุกประเทศและค่าเงินสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินการธนาคารอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น บริษัทต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันการเงิน ได้เริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากภัยอันตรายต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งภัยจากการก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น และเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญของผู้บริหารของสถาบันการเงินทั่วโลก ที่ต้องหาวิธีที่จะต้องดูแลให้ธุรกิจของตนเองดำเนินต่อไปอย่างปกติภายใต้ภัยต่าง ๆ หรือได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด แต่คำถามสำคัญ คือ เราจะมีวิธีหรือทางเลือกอะไรได้บ้างเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะหาคำตอบ แต่ในความยาก ก็ยังพอมีทางเลือกอยู่บ้าง นั่นก็คือ การประยุกต์ใช้หลักการของการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) หรือหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า แผนรองรับความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP)

เราทุกท่านคงทราบดีว่า ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทใหญ่นั้น ต้องพึ่งพาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) เป็นหลักทีเดียว สำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทย ก็เช่นเดียวกัน มีการใช้ระบบ IT อย่างครอบคลุมเกือบทุกขั้นตอนในการทำงาน ถ้ามีเหตุการณ์ใดที่ทำให้ระบบ IT ล่ม หรือใช้การไม่ได้ แม้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสถาบันการเงินแห่งนั้น ทั้งในด้านที่คิดเป็นตัวเงินได้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมระบบ แต่ผลกระทบที่ไม่สามารถคิดเป็นตัวเงินได้ ก็สำคัญมากเช่นเดียวกัน เช่น ผลกระทบต่อชื่อเสียง หรือการเสียโอกาสทางธุรกิจให้กับคู่แข่งไป ดังนั้น จึงมีการวางแผนรองรับที่เรียกว่า การเรียกคืนระบบภายหลังจากเหตุร้ายแรง (Disaster Recovery: DR) ที่การวางแผนดังกล่าว จะเน้นให้ระบบงานด้าน IT ที่สำคัญสามารถกลับมาทำงานได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือถ้าระบบงานใดสำคัญมาก ก็อาจไม่สามารถให้หยุดได้เลย ก็ต้องจัดให้มีระบบงานสำรองหรือศูนย์สำรองฉุกเฉิน (Backup Site)

หลักการของการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) นั้น เป็นแนวคิดที่ต่อยอดมาจาก Disaster Recovery ของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่า เรื่อง Disaster Recovery นั้น เป็นส่วนหนึ่งของ BCM แต่ได้ขยายขอบเขตของการวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉินให้กว้างกว่าระบบงาน IT โดยจะครอบคลุมไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่สำคัญ ระบบงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรที่สำคัญ ที่สำคัญได้นำหลักการบริหารจัดการ (Business Management) มาใช้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และการบริหารสถานการณ์และเวลาให้สอดคล้องกัน ซึ่งในเรื่องการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจนี้เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญและออกเป็นแนวนโยบายให้สถาบันการเงินนำไปถือปฏิบัติด้วยเช่นกัน

วัตถุประสงค์หลักของการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) ก็คือ มุ่งหวังให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในภาวะที่ไม่ปกติจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยการกำหนดให้มีแผนรองรับความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) ซึ่งอาจต้องย้ายงานสำคัญไปทำงานที่ศูนย์ปฏิบัติงานสำรอง มีการแจ้งหรือมอบหมายงานให้พนักงานทุกระดับทราบตามลำดับขั้น (Call Tree) ที่สำคัญคือ ต้องบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้เหมาะสมด้วย โดยไม่ใช่งานทุกงานต้องมี BCP ซึ่งควรมีเฉพาะงานหรือหน่วยงานที่สำคัญเท่านั้น และต้องตระหนักว่าการจัดให้มีศูนย์สำรองฉุกเฉินเกินจำเป็นนั้น อาจเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายสำคัญขององค์กรทีเดียว สำหรับหน่วยงานที่สำคัญรองลงไปหรืองานที่ไม่เร่งด่วน วิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุดในช่วงเวลาฉุกเฉิน ก็คือ ไม่ต้องทำเลย

ในการวางแผนรองรับความต่อเนื่องทางธุรกิจนั้น ต้องจัดทำให้เหมาะสมกับแต่ละเหตุการณ์ด้วย เช่น แผนรองรับไข้หวัดนก แผนรองรับการก่อการร้าย หรือแผนรองรับเหตุจลาจล ในแต่ละเหตุการณ์ต้องวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจที่แตกต่างออกไป ซึ่งต้องพิจารณาในหลายปัจจัย เช่น เรื่องการใช้บุคลากร การใช้สถานที่ หรือการใช้งบประมาณที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการวางแผนทุกอย่างไม่เฉพาะเรื่องความต่อเนื่องทางธุรกิจนั้น ก็คือ การทดสอบแผนที่ได้วางไว้ว่า สามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ มีอุปสรรคอะไรบ้าง ต้องปรับปรุงแผนอะไรหรือไม่ แต่การทดสอบแผนส่วนใหญ่ ต้องทำผ่านสถานการณ์จำลอง หรือต้องรอให้เหตุการณ์จริงเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงได้ทดสอบแผน เช่น กรณีของไข้หวัดนก หรือกรณีของไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งแผนรองรับความต่อเนื่องทางธุรกิจหรือแผนฉุกเฉินของสถาบันการเงินที่เตรียมไว้ ก็สามารถผ่านบททดสอบดังกล่าวมาได้ด้วยดี

สำหรับเหตุการณ์ไม่สงบการชุมนุมทางการเมืองของบ้านเราในครั้งนี้ หากมองในด้านดี ก็เป็นโอกาสที่ ธปท. และสถาบันการเงินแต่ละแห่ง รวมทั้งภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้ทดสอบการใช้แผนรองรับความต่อเนื่องทางธุรกิจของตนเอง และจากความรู้สึกของผม ซึ่งเป็นลูกค้าธรรมดาคนหนึ่งของสถาบันการเงิน ก็เห็นว่า ทุกอย่างเป็นไปค่อนข้างปกติดีครับ ในส่วนของ ธปท. เอง ก็ประสานงานกับสถาบันการเงิน เพื่อดูแลระบบการสำรองเงินตามตู้ ATM เพื่อให้แน่ใจว่าหากประชาชนต้องการถอนเงินสด ธนาคารก็มีความพร้อมรองรับครับ ผมจึงเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ภายใต้วิกฤตินั้นมักมีโอกาสเสมอ ขึ้นอยู่กับเราจะมองและใช้ประโยชน์จากมันอย่างไรได้บ้าง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 1-3 เมษายน 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ