รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนเมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 29, 2010 11:43 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2553

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนเมษายน 2553 ในวันที่ 29 เมษายน 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน และขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนเป็นครั้งแรกของปี จากแรงขับเคลื่อนหลัก คือ การส่งออก และการใช้จ่ายภาคเอกชน สำหรับเครื่องชี้เบื้องต้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 สะท้อนการ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกและการใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ สอดคล้องกับการขยายตัวสูงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาค อุตสาหกรรมที่สูงขึ้น รายได้เกษตรกรและภาวะการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนความเชื่อมั่นผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่สูงขึ้นเป็นลำดับ

แรงกดดันด้านราคาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบล่างของช่วงเป้าหมายจากผลของมาตรการภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ตามราคาอาหารสดและราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ

การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ ได้ทบทวนข้อสมมติประกอบการคาดการณ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อสมมติ 3 เดือนก่อนสรุปได้ ดังนี้

1. ข้อสมมติอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับข้อสมมติเดิมตลอดช่วงประมาณการ สอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาที่แสดงว่า ประเทศอุตสาหกรรมและกลุ่มตลาดเกิดใหม่โดยรวมมีการฟื้นตัวชัดเจนและสูงกว่าที่ประเมินไว้ในรายงานฉบับก่อน

2. ข้อสมมติอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไม่ต่างจากรายงานฉบับก่อน

3. ค่าเงินในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากข้อสมมติเดิมเล็กน้อยตลอดช่วงประมาณการ เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียที่ฟื้นตัวชัดเจนและแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น กอปรกับภาวะ Risk Appetite ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

4. ข้อสมมติรายจ่ายโดยตรงของภาครัฐในปีงบประมาณ 2553 ใกล้เคียงกับข้อสมมติเดิมในภาพรวม แต่รายละเอียดมีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยงบประมาณถูกจัดสรรไปเป็นรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่รายจ่ายเพื่อการลงทุนลดลงตามข้อมูลการเบิกจ่ายจริงในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2553 สำหรับปีงบประมาณ 2554 การเพิ่มวงเงินงบประมาณทำให้รายจ่ายโดยตรงของภาครัฐสูงขึ้นจากข้อสมมติเดิม ซึ่งจะมีผลให้รายจ่ายอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ในขณะที่รายจ่ายลงทุนลดลงจากการที่รัฐบาลระงับการออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงิน 4 แสนล้านบาท

5. ข้อสมมติราคาน้ำมันดูไบในระยะข้างหน้าเท่ากับข้อสมมติครั้งก่อน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดราคาน้ำมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรายงานฉบับที่แล้ว แต่มีการปรับราคาลงเล็กน้อยสำหรับไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2553 ตามข้อมูลจริง ทำให้ราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 80.2 และ 87.5 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ

6. ข้อสมมติราคาสินค้าเกษตรในปี 2553 ปรับสูงขึ้นจากข้อสมมติในรายงานฉบับก่อน ตามราคาในหมวดเนื้อสัตว์ ผักและไข่ไก่ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ก่อนที่จะชะลอลงบ้างในปี 2554 จากฐานในปี 2553 ที่สูงขึ้นมามาก สำหรับข้อสมมติราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มิใช่เชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นจากข้อสมมติเดิมในปี 2553 ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก่อนที่จะปรับลดลงในปี 2554 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF ที่ให้ราคาสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบทางการเกษตรปรับลดลงจากปี 2553 ค่อนข้างมาก

7. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่ากับข้อสมมติเดิมตลอดช่วงประมาณการ โดยอยู่ที่ 206 บาทต่อวันในปี 2553 ก่อนปรับสูงขึ้นเล็กน้อยในปี 2554 ให้สอดคล้องกับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ภายใต้ประมาณการกรณีฐานที่อิงข้อสมมติดังกล่าว ประกอบกับข้อสมมติอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงที่ ณ ระดับร้อยละ 1.25 ต่อปีตลอดช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวสูงกว่าประมาณการเดิมทั้งในปี 2553 และ 2554 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่สูงมากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 และคาดว่าจะสูงมากเช่นกันในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ตามแนวโน้มเครื่องชี้ทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจะสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าในระยะ 8 ไตรมาสข้างหน้าขยายตัวได้ดีกว่าประมาณการครั้งก่อน นอกจากนี้ นโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในช่วงสามไตรมาสหลังของปี 2553 ในขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนในภาพรวมยังขยายตัวได้ แต่ในอัตราที่แผ่วลงเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนไม่สามารถดำเนินไปได้เป็นปกติ อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนถูกบั่นทอนลง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถกลับเป็นปกติในปี 2554

สำหรับแรงกดดันด้านราคา คณะกรรมการฯ ประเมินว่าในปี 2553 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะต่ำกว่าประมาณการในรายงานฉบับก่อนเล็กน้อย ด้วยผลของการต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐออกไปอีกหนึ่งไตรมาสเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่ต่างจากประมาณการเดิมเนื่องจากผลของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำลงจะถูกชดเชยด้วยราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าเดิม สำหรับปี 2554 อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าประมาณการในรายงานฉบับก่อนจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเอื้อให้ผู้ประกอบการทยอยส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่เริ่มปรับสูงขึ้นแล้วได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่ามีความเสี่ยงที่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเบี่ยงเบนไปจากประมาณการในกรณีฐาน โดยในภาพรวมความเสี่ยงด้านลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมากกว่าความเสี่ยงด้านบวกตลอดช่วงประมาณการจากปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อและรุนแรง จะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของภาครัฐ นอกจากนี้ ความยืดเยื้อในการแก้ปัญหากรณีมาบตาพุด จะส่งผลโดยตรงต่อการลงทุนและรายได้จากโครงการที่ต้องหยุดชะงักลง สำหรับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือการที่เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ประเมินไว้ ดังนั้น Fan Chart ของการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้จึงมีความเบ้และความกว้างที่มากกว่า Fan Chart ในประมาณการครั้งก่อนตลอดทั้ง 8 ไตรมาส เพื่อสะท้อนความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น โดยมีช่วงประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 4.3-5.8 ในปี 2553 และ ร้อยละ 3.0-5.0 ในปี 2554 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณร้อยละ 75.7 และ 74.5 ตามลำดับ

สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คณะกรรมการฯ มองว่าความเสี่ยงด้านต่ำมีมากกว่าด้าน สูงจากอุปสงค์ที่อาจขยายตัวน้อยกว่าที่คาด ดังนั้น Fan Chart ของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจึงเบ้ลงตลอดช่วงประมาณการ สอดคล้องกับ Fan Chart ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เบ้ลงเช่นกัน ส่วน Fan Chart ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสมดุลตลอดช่วงประมาณการ เนื่องจากความเสี่ยงด้านสูงจากแรงกดดันด้านอุปทานจะ ถูกชดเชยด้วยความเสี่ยงด้านต่ำจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ดังนั้น ในภาพรวม คณะกรรมการฯ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.3-4.8 ในปี 2553 และร้อยละ 2.3-4.3 ในปี 2554 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณร้อยละ 92.0 และ 84.9 ตามลำดับ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.0-2.0 ในปี 2553 และร้อยละ 2.0-3.0 ในปี 2554 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณ ร้อยละ 98.7 และ 87.8 ตามลำดับ

การดำเนินนโยบายการเงินในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

จากการประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจข้างต้น คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เป็นต้นมา ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้น และปัจจัยพื้นฐานที่ดี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ สูงขึ้นในระยะต่อไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุน จึงให้ติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป และมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต่อปีไว้ก่อน ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มีนาคม และวันที่ 21 เมษายน 2553

ข้อมูลเพิ่มเติม : กฤตชญา จั่นเจริญ

โทร. 0 2356 7876 E-mail: kritchap@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ