แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม และไตรมาสแรก ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 30, 2010 15:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 19/2553

ภาวะเศรษฐกิจเดือนมีนาคมขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเป็นการขยายตัวของอุปสงค์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการขยายตัวในภาคการผลิต ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน และรายได้เกษตรกร เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้ปรับลดลงจากเดือนก่อนตามปัจจัย ด้านฤดูกาลและความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ เสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศ ที่อยู่ในระดับสูง สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

อุปสงค์ในประเทศขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ในเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 8.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากเดือนก่อน จากปัจจัยสนับสนุนด้านรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะเดียวกันดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และกลับมาอยู่สูงกว่าระดับก่อนวิกฤต โดยขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.2 และเพิ่มขึ้นจาก เดือนก่อนร้อยละ 3.1 ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 10 เดือน ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนในส่วนของการนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวดีขึ้นมาก ส่วนแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเบิกจ่ายจากเงินในงบประมาณ และจากโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการ ไทยเข้มแข็ง อาทิ โครงการบริหาร จัดการ และพัฒนาแหล่งน้ำ และการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ด้านอุปสงค์ต่างประเทศ การส่งออกขยายตัวสูงต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกในเดือนนี้มีมูลค่า 16,094 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 41.0 ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยมูลค่าส่งออกสนค้าเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นตามราคายางพาราและมันสำปะหลัง ส่วนสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงขยายตัวตามการส่งออกยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

อุปสงค์ที่ขยายตัวดี ส่งผลให้การนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 15,004 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 62.0 โดยเป็นการขยายตัวของการนำเข้าทั้งในกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภค การลงทุน และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

อุปสงค์ในและต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นสอดคล้องกับภาคการผลิตที่ขยายตัวดี โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 32.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากปรับฤดูกาลแล้ว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.2 ขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับฤดูกาลแล้วเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 68.3 เป็นร้อยละ 69.7 ในเดือนนี้ ด้านภาคเกษตร ผลผลิตพืชผล ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน อ้อย และยางพารา และราคาพืชผลขยายตัวร้อยละ 18.8 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 21.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเดือนมีนาคม แม้จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่น ของนักธุรกิจในระยะ 3 เดือนข้างหน้าลดลงจากความกังวลในสถานการณ์ทางการเมือง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาพลังงานและราคาอาหารสด ขณะที่อัตรา เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4 และดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 จาก ระยะเดียวกันปีก่อน และสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามราคาสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) ขยายตัวร้อยละ 5.7 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการที่สถาบันการเงินเร่งระดมเงินฝาก โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับ ความต้องการสินเชื่อในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป ส่วนสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงิน ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศมีฐานะมั่นคง ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด และ หนี้ต่างประเทศ ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ การว่างงานและอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2553 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2552 โดยขยายตัวจากไตรมาสก่อน ทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิต โดยการบริโภคภาคเอกชนมีระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤต การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ตอเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการส่งออก สำหรับภาคการส่งออกและการผลิตขยายตัวสูง โดยเฉพาะ ในหมวดที่ใช้เทคโนโลยีสูง

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648 e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648 e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ