แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 17:03 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 21/2553

ภาวะเศรษฐกิจเดือนเมษายนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งด้านการผลิตและการใช้จ่าย เป็นผลจากจำนวนวันทำการที่มีน้อยลง และปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และผู้ประกอบการ

เสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ สำหรับเสถียรภาพในประเทศ การว่างงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 21.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.0 เป็นผลจากการเร่งผลิตในเดือนมีนาคม และจำนวนวันทำการที่มีน้อยกว่าเดือนก่อนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การผลิตในหมวดยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ แม้ชะลอลงจากเดือนก่อนแต่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีตามคำสั่งซื้อที่อยู่ระดับสูง นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวเริ่มได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหลังขจัดฤดูกาลหดตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 18.0 ส่งผลให้อัตราเข้าพักโรงแรมลดลงจากร้อยละ 57.0 ในเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 46.6 ในเดือนเมษายน ส่วนภาคเกษตรยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง ทั้งด้านผลผลิตและราคา โดยผลผลิตพืชผลขยายตัวร้อยละ 5.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิตข้าวปาล์มน้ำมัน และยางพารา และราคาพืชผลขยายตัวร้อยละ 15.6 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 21.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวสอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการส่งออกมีมูลค่า 13,832 ล้านดอลลาร์สรอ. ขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 34.6 หากปรับฤดูกาลแล้วปริมาณการส่งออกลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.0 เป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง อาทิ คอมพิวเตอร์ IC และยานยนต์ เป็นสำคัญ เนื่องจากการส่งออกเร่งตัวขึ้นมากในช่วงก่อนหน้าโดยเฉพาะในเดือนมีนาคม การนำเข้าชะลอตัวเช่นกัน โดยมีมูลค่า 14,022 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 43.1 แต่หากปรับฤดูกาลแล้วปริมาณการนำเข้าลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 7.9 อย่างไรก็ตามการนำเข้าน้ำมันดิบเร่งตัวขึ้นมากในเดือนเมษายน เพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันสำรองที่ลดลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และการนำเข้าวัตถุดิบด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี เพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าสูงกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 190 ล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับเดือนก่อนที่เกินดุล 1,090 ล้านดอลลาร์ สรอ. และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 423 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 2,999 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ดุลการชำระเงินเดือนเมษายน 2553 เกินดุล 3,749 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,137 ล้านดอลลาร์ สรอ.

อุปสงค์ในประเทศขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ในเดือนนี้ยังอยู่ในระดับสูงแต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 0.9 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงจากความกังวลของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.3 และเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 จากการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อรองรับคำสั่งซื้อในอนาคตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุนขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบันปรับลดลงจากระดับ 55.7 มาอยู่ที่ระดับ 46.0 ในเดือนนี้ จากความกังวลต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเบิกจ่ายจากเงินในงบประมาณ และจากโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการถอนเงินฝากเพื่อใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ส่วนสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงิน ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศ และหนี้ต่างประเทศมีฐานะมั่นคง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อย ด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน ชะลอตัวจากเดือนก่อนตามราคาพลังงานและราคาอาหารสด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ