เงินสด: ต้นทุนที่มองไม่เห็น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 15, 2010 13:38 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ

ผู้บริหารทีม

ฝ่ายระบบการชำระเงิน

ในการทำธุรกิจนั้น แน่นอนว่าเงินสดเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องการ เรียกว่ายิ่งได้มากยิ่งดี แต่จริงๆ แล้ว การรับจ่ายเงินสดหรือธนบัตรปริมาณมากก็นำมาซึ่งต้นทุนของธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ที่อาจวัดเป็นตัวเงินได้ยากหรือมักถูกมองข้ามไป เช่น เวลาที่ใช้ในการตรวจนับเงินสดหรือแลกธนบัตรชนิดต่างๆ เพื่อรองรับการทอนเงิน ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างธนาคารให้มารับเงินสดที่ร้านค้าเพื่อฝากเข้าบัญชี รวมถึงความเสี่ยงจากการโจรกรรมหรือการทุจริตของพนักงาน เป็นต้น

การลดการใช้เงินสดของภาคธุรกิจนั้นทำได้โดยใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิต การโอนเงิน เป็นต้น ซึ่งสามารถทำได้ทั้งด้านการรับเงิน และการจ่ายเงิน

1. ด้านการรับเงิน ธุรกิจสามารถลดปริมาณเงินสดได้ด้วยการรับชำระค่าสินค้าและบริการจากลูกค้าด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต ซงธุรกิจไม่ต้องรับเงินสดจากลูกค้าโดยตรง แต่จะได้รับเงินจากธนาคารที่ให้บริการรับบัตร (acquiring bank) ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 1 วันทำการ ปัจจุบันประเทศไทยมีบัตรเดบิตกว่า 30 ล้านใบและบัตรเครดิตกว่า 13 ล้านใบ แสดงให้เห็นว่าลูกค้าส่วนใหญ่มีความพร้อมในการใช้บัตร การรับบัตรจะช่วยลดภาระการจัดการเงินสดได้มาก โดยเฉพาะสำหรับร้านค้าที่รับเงินสดจากลูกค้าปริมาณมาก เช่น ร้านค้าปลีกค้าส่ง ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจหลายแห่งให้บริการรับชำระบิล เช่น ค่าบัตรเครดิต ค่าประกันชีวิต ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่มียอดเงินต่อบิลสูงระดับหลักพันหรือหลักหมื่นบาท การหันมารับชำระด้วยบัตรจะช่วยลดปริมาณเงินสดที่ร้านได้

จริงอยู่ว่าในการรับบัตรเดบิตหรือเครดิต ร้านค้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า ที่เรียกว่า Merchant Discount Rate (MDR) เป็นสัดส่วนร้อยละของยอดเงินค่าสินค้า ซึ่งอาจจะถูกมองว่าเป็นต้นทุนส่วนเพิ่ม แต่หากเปรียบเทียบกับการลดภาระในการตรวจนับธนบัตร การประหยัดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างธนาคารขนเงินเพื่อฝากเข้าบัญชี การลดความเสียหายจากความผิดพลาดของพนักงาน การทุจริตและการโจรกรรม รวมถึงโอกาสที่ลูกค้าจะใช้จ่ายมากขึ้น ก็น่าจะคุ้มค่า

อีกวิธีหนึ่งที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ คือ การให้ลูกค้าสามารถเบิกถอนเงินสดที่จุดรับชำระเงินของร้านค้าได้ หรือที่เรียกว่า Cash out โดยเมื่อลูกค้าชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเดบิต ลูกค้าสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่แคชเชียร์ได้ว่าต้องการถอนเงินด้วย แคชเชียร์จะส่งมอบเงินสดพร้อมกับสินค้าให้แก่ลูกค้า โดยยอดเงินที่ตัดจากบัตรเดบิตจะเท่ากับยอดเงินค่าสินค้ารวมกับจำนวนเงินที่ลูกค้าต้องการถอน บริการ

ดังกล่าวจะช่วยถ่ายเทเงินสดที่ร้านค้าได้รับออกไป ลดการเก็บเงินสดจำนวนมากที่ร้านค้าและยังเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าที่ไม่จำเป็นต้องถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มอีกด้วย

2. ด้านการจ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเดือนพนักงานหรือจ่ายเงินให้กับบริษัทคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ ธุรกิจสามารถลดการใช้เงินสดและเช็คได้โดยหันมาใช้การโอนเงินเข้าบัญชีพนักงานหรือบริษัทคู่ค้าโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดภาระการเบิกถอนและขนส่งเงินสดจำนวนมากและเพิ่มความสะดวกคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้นด้วย ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งมีบริการโอนเงินที่ทันสมัย ทั้งบริการโอนเงินข้ามธนาคารที่ธุรกิจไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีไว้กับหลายๆ ธนาคารก็สามารถโอนเงินให้กับผู้รับเงินที่มีบัญชีกับธนาคารอื่นได้ รวมถึงบริการเสริมอื่นๆ เช่น การตั้งเวลาทำรายการอัตโนมัติ การเก็บประวัติการทำรายการรวมถึงข้อมูลเจ้าหน้าที่ผู้ทำรายการสำหรับการตรวจสอบย้อนหลัง การแจ้งข้อมูลการชำระเงินให้ผู้รับเงิน เป็นต้น

ประโยชน์อีกประการของการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ การลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเอกสารกระดาษที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบเรียกเก็บเงิน เป็นต้น จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า การจ่ายเงินด้วยเช็ค 1 ฉบับ จะมีเอกสารกระดาษเกี่ยวข้อง 4-6 แผ่น การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระดาษ การพิมพ์เอกสาร และพื้นที่สำนักงานสำหรับการจัดเก็บเอกสาร รวมถึง ยังเป็นการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย ข้อมูลจาก PayItGreen Alliance ในสหรัฐอเมริการะบุว่าการลดการชำระเงินด้วยสื่อกระดาษลง 60,000 รายการ/ปี (ประมาณวันละ 250 รายการ) จะประหยัดกระดาษได้มากกว่า 2,208 ปอนด์ ประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า 27,000 แกลลอน และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 264 ตัน

การลดใช้เงินสดเป็นทิศทางที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ สำหรับประเทศไทย การเลือกใช้บริการรับจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับขนาดและลักษณะของธุรกิจ เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ขณะเดียวกัน ทางการก็ควรส่งเสริมและผลักดันอย่างจริงจังในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกกฎระเบียบที่เอื้อต่อการให้บริการ Cash out กฎระเบียบเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และการบังคับใช้กฎหมายที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ก็จะช่วยเหลือภาคธุรกิจได้มาก รวมถึงลดต้นทุนโดยรวมของประเทศอีกด้วย

(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย)
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

แท็ก ธนบัตร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ