ฉบับที่ 24 /2553
ในวันนี้ (15 มิถุนายน 2553) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหาร ธปท. ได้เชิญผู้บริหารจากภาคธุรกิจ ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับบัตรทอง และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว มาร่วมพบปะสนทนา โดยมีการบรรยายสรุปในเรื่อง ภาวะเศรษฐกิจไทยและการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต การดำเนินนโยบายสถาบันการเงินเพื่อเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งระบบหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค สรุปผลการหารือร่วม ดังนี้
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี และยังมีแนวโน้มต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองในประเทศและปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเริ่มลดน้อยลง โดย ธปท.จะดูแลมิให้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจ
2. ภาคธุรกิจมีความเป็นห่วงผลกระทบจากวิกฤติการเงินยุโรปที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท ซึ่งเป็นปัจจัยที่ ธปท. ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้วและจะยังคงดูแลมิให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนจนเป็นปัญหาต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมทั้งขอให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง
3. ธปท. ให้ความมั่นใจเกี่ยวกับฐานะความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และความพร้อม ในการสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งกฎเกณฑ์ของ ธปท. ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน สำหรับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดเล็กบางส่วนนั้น ธปท.ได้มี การผลักดันมาตรการประกันสินเชื่อ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ ระหว่างสถาบันการเงินและภาคเอกชน เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
4. ธปท. แจ้งความคืบหน้าการพัฒนาระบบหักบัญชีด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค ซึ่งจะเริ่มนำมาใช้ในเขตหักบัญชีกรุงเทพมหานครในเดือนกันยายน 2553 และขยายทั่วประเทศภายในปี 2555 ซึ่งระบบใหม่นี้จะทำให้การหักบัญชีเช็คทำได้เร็วขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้เช็คโดยรวม และได้ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจในการเลิกใช้ตราประทับ ตรานูน หรือตราสีบนตัวเช็ค เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์จากภาพเช็คได้
การพบปะสนทนากับภาคธุรกิจนี้ ธปท.จัดเป็นประจำทุกปีเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย และสื่อสารให้ทราบถึงการดำเนินนโยบายการเงินและสถาบันการเงินของ ธปท. ทิศทางแนวโน้มสถานการณ์การเงินและเศรษฐกิจของโลกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมและปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเงินภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งความเข้าใจอันดีของภาคธุรกิจมีความสำคัญและจำเป็นยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย