นายจาตุรงค์ จันทรังษ์
ผู้อำนวยการ ฝตส.
ฝ่ายตรวจสอบความเสี่ยงและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ถือบัตร ATM ประมาณ 46 ล้านใบ และมีตู้ ATM เกือบ 4 หมื่นเครื่อง ซึ่งนับว่ามากพอควร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือเรื่องทุจริตบัตร ATM ซึ่งปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะ ๆ ทำให้ผู้ใช้บัตร ATM กังวลใจได้เหมือนกัน แต่จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เฝ้าติดตามดูแลมา พบว่าการทุจริตบัตร ATM ลดน้อยลงมาก ธนาคารพาณิชย์มีการร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานรักษาความปลอดภัยให้สูงขึ้นเป็นลำดับ ที่สำคัญคือมีข้อตกลงร่วมกันให้ติดตั้งเครื่องป้องกันการโจรกรรมคัดลอกข้อมูลจากบัตร (Anti-skimming) ที่ตู้ ATM ทั้งหมด (หากสังเกตให้ดี ตู้ที่มีการติดตั้งเครื่องป้องกันดังกล่าว จะมีไฟสว่างแวบ ๆ อยู่ที่ช่องเสียบบัตร) มีการทยอยติดตั้งกล้องจับภาพที่ตู้ ATM ซึ่งเป็นประโยชน์มาก เพราะทำให้รู้ตัวบุคคลที่ใช้บัตรได้ชัดเจน อาชญากรหลายรายถูกตำรวจจับได้ก็เพราะกล้องจับภาพที่ตู้ ATM นี่แหละ
แต่มิจฉาชีพก็พยายามคิดค้นหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ทำการทุจริตบัตร ATM อยู่ตลอดเวลา รูปแบบการทุจริตก็หลากหลายขึ้น ประชาชนผู้ใช้บัตร ATM จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องรูปแบบการทุจริตและวิธีการป้องกันไว้ด้วย เพราะปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง (ไม่ใช่ทั้งหมด) มาจากผู้ใช้บัตรไม่ให้ความสนใจดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควร เช่น ไว้ใจยอมให้บัตรและรหัสลับ (PIN) กับบุคคลอื่นไปกดถอนเงินจากตู้ ATM แทน หรือจดรหัสลับไว้ที่บัตรหรือในกระเป๋าสตางค์ เป็นต้น
โดยสรุป มีหลักการใช้ ATM ให้ปลอดภัยอยู่ 3 องค์ประกอบ คือ ในส่วนของตัวบัตร รหัสลับ และวิธีการใช้ตู้ ATM ดังนี้
- ต้องเก็บบัตรไว้ในที่ปลอดภัย ไม่ให้คนอื่นมาหยิบไปได้ง่าย ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เพราะมีหลายกรณีที่ผู้แอบนำบัตรไปกดถอนเงินโดยที่เจ้าของบัตรไม่รู้นั้น คือบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมที่ทำงานนั่นเอง
- ไม่ควรอนุญาตให้คนอื่นนำบัตรของเราไปใช้งาน แต่กรณีที่จำเป็นจริง ๆ เช่นเป็นบัญชีที่ใช้ร่วมกันในครอบครัว หรือผู้สูงอายุเดินทางลำบาก ต้องไหว้วานคนอื่นไปกดถอนเงินแทน ก็ไม่ควรทิ้งเงินไว้ในบัญชีเงินฝาก ATM มากเกินความจำเป็น และต้องหมั่นตรวจสอบ และ update สมุดบัญชีเงินฝากด้วยตนเองสม่ำเสมอ
- เมื่อเราได้รับรหัสลับจากธนาคารแล้ว ควรแก้ไขรหัสให้เป็นชุดตัวเลขที่เราจำได้ง่าย แต่ต้องไม่ให้ใครเดาได้ง่าย ๆ เช่นกัน
- ไม่จดรหัสลับไว้บนบัตร (หรือไว้ในกระเป๋าสตางค์) และไม่ควรบอกรหัสลับให้ผู้อื่นทราบ
- ไม่ควรนำบัตร ATM ไปใช้กับตู้ ATM ที่มีสภาพเก่า ชำรุด รูปร่างผิดปกติ หรือตั้งอยู่ในที่เปลี่ยวเกินไป และควรใช้ตู้ ATM ที่มีการเดินสายไฟและสายสื่อสารที่เป็นระเบียบเรียบร้อย
- ก่อนทำรายการที่ตู้ ATM ควรสังเกตว่ามีบุคคลอื่นมายืนในระยะที่สามารถมองเห็นรหัสลับของเรา จากด้านหลัง/ด้านข้าง/หรือจากมุมมองด้านใดหรือไม่ ถ้าสงสัยพฤติกรรมของบุคคลที่อยู่บริเวณดังกล่าวให้เลี่ยงไปใช้ตู้อื่นแทน
- ระมัดระวังไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าขณะใช้ตู้ ATM และไม่ให้ใครจับบัตร ATM ของเรา (มิจฉาชีพอาจทำทีหลอกถามวิธีการกดเงิน และหลอกจับบัตร ATM เพื่อใช้เครื่องลักลอบเก็บบันทึกข้อมูลเพื่อจัดทำบัตรปลอม หรืออาจใช้วิธีสับเปลี่ยนบัตรที่เป็นของธนาคารเดียวกัน)
- ขณะที่กดรหัสลับที่ตู้ ATM ต้องใช้มือหรือสิ่งของที่มีขนาดใหญ่พอสมควร เช่นกระเป๋าหรือหนังสือขึ้นมาบัง อย่าให้มือหรือสิ่งของที่ใช้บังอยู่ห่างแป้นกดมากเกินไป ควรยืนชิดตัวเครื่อง ATM และควรฝึกฝนให้ชำนาญว่าเราปิดบังได้ดีจนไม่มีใครแอบมองเห็นรหัสลับได้ หรือหากคนร้ายแอบติดตั้งกล้องไว้ ก็จะไม่สามารถมองเห็นรหัสลับของเราได้
- หากสงสัยว่าอาจจะมีผู้อื่นแอบบันทึกข้อมูลรหัสลับของเราไว้ เราควรเปลี่ยนรหัสลับด้วย
- ควรตรวจสอบภายหลังการทำรายการที่ตู้ ATM เป็นประจำทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยว่า เราได้รับ เงินสด สลิปรายการ และบัตร ATM ครบถ้วนเสมอก่อนเดินจากตู้ ATM ไปสถานที่อื่น อย่าเร่งรีบจนลืมบัตรไว้ที่ตู้ ATM (กรณีนี้ พบอยู่บ่อย ๆ)
ปัจจุบัน การทุจริตแบบเดิมที่ใช้เครื่องมือแอบคัดลอกข้อมูลบนบัตรและใช้รหัสลับไปถอนเงินออกจากบัญชีนั้นมีน้อยลง เพราะธนาคารพาณิชย์มีการป้องกันที่ดีขึ้น และผู้ใช้บัตรก็ระมัดระวังตัวมากขึ้น ทำให้มิจฉาชีพหันมาใช้วิธีใหม่ คือการหลอกลวงทางโทรศัพท์ให้ไปกดโอนเงินที่ตู้ ATM ไปยังบัญชีของคนร้าย โดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หลอกให้โอนเงินไปเพื่อชำระค่าบัตรเครดิตที่ค้างอยู่ หรือเพื่อป้องกันการอายัดบัตร ATM บัตรเครดิต หรือ เช็กเงินโอนเข้าบัญชี หลากหลายวิธี ซึ่งก็มีคนหลงเชื่ออยู่เหมือนกัน หากมีใครโทรศัพท์มาในทำนองนี้ ให้สงสัยไว้ก่อน และควรโทรศัพท์ติดต่อกลับไปที่ธนาคารโดยตรง โดยใช้เบอร์โทรศัพท์ call center ของธนาคารที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ใช้เบอร์ที่คนโทรศัพท์ให้มา
ผมเชื่อว่า หากผู้ใช้บัตร ATM ระมัดระวังป้องกันตนเองดีแล้ว ไม่ว่ามิจฉาชีพจะใช้วิธีการหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อทำการทุจริต เราก็คงไม่ตกเป็นเหยื่อง่าย ๆ และจะได้ใช้บัตร ATM อย่างสบายใจครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 24 - 26 มิถุนายน 2553 ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย