สรุปภาวะเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 2, 2010 14:27 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนพฤษภาคม ปี 2553 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคเกษตร โดยผลผลิตยาง และ ผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงลดลง ขณะเดียวกันผลผลิตจากการทำประมงทะเลและการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนของภาคเอกชน และการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงเงินฝากและสินเชื่อที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัว

1. ภาคเกษตร ดัชนีรายได้ของเกษตรกรในภาคใต้ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 80.4 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาพืชผลเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.9 ตามราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่สูงถึงกิโลกรัมละ 105.64 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.8 ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 3.80 บาท ลดลงร้อยละ 19.1 เนื่องจากในเดือนเดียวกันปีก่อนเป็นช่วงที่มีการใช้มาตรการแทรกแซงราคา ด้านดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 0.8 ตามผลผลิตยางที่ลดลง ส่วนผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น

การทำประมงทะเลขยายตัว ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลา เพิ่มขึ้นร้อยละ13.4 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการทำประมงในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย

การเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตกุ้งภาคใต้ลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และการปรับลดลงของราคาจำหน่าย ทำให้เกษตรกรชะลอการลงกุ้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังพบโรคระบาดกุ้งในหลายพื้นที่ ทำให้มีการเร่งจับขายบางส่วนในช่วงที่ผ่านมา ด้านราคาจำหน่ายกุ้งขนาด 50 ตัว/กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 124.60 บาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.4

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13.6 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 เป็นผลจากการผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ยางแปรรูป ถุงมือยาง น้ำมันปาล์ม และไม้ยาง เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูปลดลง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลา และผลิตภัณฑ์หมึก ขณะที่ผลิตภัณฑ์กุ้งเพิ่มขึ้น และคาดว่าแนวโน้มความต้องการกุ้งจากไทยในระยะต่อไปจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตสำคัญอื่นได้แก่ อินโดนีเซีย จีน และสหรัฐอเมริกามีผลผลิตลดลง

3. การท่องเที่ยว ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยนักท่องเที่ยวผ่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 จากเดือนเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน การทำการตลาด การส่งเสริมการขาย และการมีเที่ยวบินตรง อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือนนี้ ร้อยละ 45.5 นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเกาหลี ออสเตรเลีย มาเลเซียและสิงคโปร์

4. การจ้างงาน ความต้องการแรงงานขยายตัวในอัตราชะลอลง ตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 และผู้ที่ได้รับการบรรจุงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 อย่างไรก็ตามจำนวนผู้มาสมัครงานลดลงร้อยละ 18.3 ส่วนข้อมูลด้านการประกันตนตามมาตรา 33 จากสำนักงานประกันสังคม ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0

ในเดือนเมษายน 2553 อัตราการว่างงานในภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.3 แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.3

5. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 11.7 จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ รายได้เกษตรกรและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว โดยเครื่องชี้ทุกหมวดเพิ่มขึ้นทั้ง การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนรถใหม่ทุกประเภท และการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซแอล พี จี และน้ำมันดีเซล

6. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมขยายตัว โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0 ตามการก่อสร้างที่อย่อาศัย และการส่งเสริมการลงทุนของ BOI มีจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 974.6 โครงการลงทุนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจต่อเนื่องจากสินค้าเกษตรทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน

7. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ ปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ร้อยละ 27.9 โดยรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 2.0 และ 69.4 ตามลำดับ เป็นผลจากการการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นลดลง เนื่องจากได้เร่งจ่ายในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ

ส่วนการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.1 จากการจัดเก็บภาษีสรรพากรที่เพิ่มขึ้นตามการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสำคัญ

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สรอ. ขยายตัวร้อยละ 57.6 จากการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.1 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.8 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูป และถุงมือยาง ด้านการนำเข้าขยายตัวเกือบทุกกลุ่ม มีเพียงการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าลดลง

9. ภาคการเงิน เงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 เงินฝากและเงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 7.6 และร้อยละ6.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนเดียวกันของปีก่อน

10. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเร่งตัวร้อยละ 6.1 ตามราคาผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.4 เร่งตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ