ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 1 ปี 2553 และแนวโน้ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 29, 2010 11:16 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2553

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยรายได้ของเกษตรกรขยายตัว จากการปรับเพิ่มขึ้นทางด้านราคาเป็นสำคัญ ขณะที่ปริมาณผลผลิตปรับลดลงเล็กน้อย ส่วนปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำจากการทำประมงทะเลและการเพาะเลี้ยงกุ้งเพิ่มขึ้น และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวทุกประเภท ทั้งยางแปรรูป อาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง ถุงมือยาง ไม้ยางพารา และดีบุก ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวขยายตัวดีโดยเฉพาะในภาคใต้ฝั่งตะวันตกในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว รวมทั้งความต้องการจ้างงานแรงงานของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงตามการลดลงของรายจ่ายลงทุน สำหรับอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร ดัชนีรายได้เกษตรกรขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 79.1 จากการปรับเพิ่มขึ้นด้านราคา โดยดัชนีราคาพืชผลเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.4 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคายางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ โดย ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 96.78 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 46.38 บาท ในไตรมาสเดียวกันปีก่อนกว่าเท่าตัว และราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.98 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ด้านปริมาณผลผลิตลดลงเล็กน้อย โดย ดัชนีผลผลิตพืชผลเกษตรปรับลดลง ร้อยละ 1.4 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 18.4 ในไตรมาส4 ปีก่อน เนื่องจาก ผลผลิตหลัก ได้แก่ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้น

ส่วนปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำทั้งจากการทำประมงทะเลและการเพาะเลี้ยงกุ้งเพิ่มขึ้น ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือประมงทางการในภาคใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และ 2.9 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำสัตว์น้ำจากการทำประมงในน่านน้ำประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียมาขึ้นท่าเทียบเรือประมงสงขลาและปัตตานีเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันปริมาณกุ้งจากการเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 ด้านราคาปรับลดลง ทุกขนาด โดยกุ้งขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 128.40 บาท ลดลงร้อยละ 6.5

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 ตามการขยายตัวของการผลิตอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ปรับตัวดีขึ้นตามการผลิตยาง ถุงมือยาง อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และไม้ยางแปรรูป ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นการผลิตเพื่อการใช้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เร่งตัวขึ้นมากเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกเร็วกว่าฤดูกาลปกติ อย่างไรก็ตามจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้อัตราการให้น้ำมันลดลง

3. การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวของภาคใต้ขยายตัวดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38.1 เนื่องจากการทำการตลาดในระยะใกล้ เช่น จีน ออสเตรเลีย และอินเดียประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ภาพรวมของการท่องเที่ยวขยายตัว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และการออกประกาศเตือนการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของประเทศต่างๆ เริ่มส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภาคใต้ ในปลายไตรมาส โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

4. การจ้างงาน เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการท่องเที่ยวและภาคการผลิต โดยจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากสำนักงานประกันสังคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ขณะเดียวกันตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานในภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.7 และการบรรจุงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 แต่ผู้มาสมัครงานลดลงร้อยละ 18.6

5. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การอุปโภคบริโภคขยายตัวจากปัจจัยสนับสนุนได้แก่ รายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นและการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้ทุกหมวดทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หมวดยานยนต์ และการใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย มีเพียงการใช้เชื้อเพลิงที่ลดลงเล็กน้อย

6. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญทุกตัว โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI 27 โครงการ เงินลงทุนรวม 8,080.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 และ 156.1 ตามลำดับ ในจำนวนนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ 3 โครงการ ตั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 โครงการ คือโครงการยางผสม เงินลงทุน 3,103.7 ล้านบาทและถุงมือยาง เงินลงทุน 890.3 ล้านบาท อีก 1 โครงการเป็นอาหารสำเร็จรูป ที่จังหวัดสงขลา เงินลงทุน 1,036.0 ล้านบาท ขณะเดียวกันการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7

7. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงร้อยละ 2.0 ตามการลดลงของรายจ่ายลงทุนร้อยละ 10.7 ส่วนรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5

การจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 จากการจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 และ 53.3 ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552

8. การค้าต่างประเทศ การส่งออกเร่งตัวสูงขึ้น ร้อยละ 66.8 ตามการเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มยางพารา และอิเลคทรอนิกส์ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.1 ตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังจากที่หดตัวไปตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 โดยมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 นอกจากนี้ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำยางสังเคราะห์และน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ สัตว์น้ำแช่แข็ง และอุปกรณ์ก่อสร้าง ปรับตัวลดลง

9. การเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2553 คาดว่าเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 7.3 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนเดียวกันของปีก่อนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน

10. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เนื่องจากราคาอาหารสดเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ตามราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 แนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2553

เศรษฐกิจภาคใต้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัว จากปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะยางพารา และผลผลิตยางพารามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัว เป็นผลดีต่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองคาดว่า จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ