วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปกระเทือนเศรษฐกิจไทย?

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 13, 2010 14:03 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร. สมศจี ศิกษมัต

สายนโยบายการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

หนี้สาธารณะที่สูงมากจนเกินความสามารถที่จะบริหารจัดการ ได้สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจต่อบางประเทศในยุโรป และอาจสร้างความอ่อนแอให้แก่เศรษฐกิจของยุโรป จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสะดุดลงได้ ประเทศที่ถูกจับตามองว่ามีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงคือกลุ่มที่เรียกว่า PIIGS (โปร์ตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ เสปน) เนื่องจากมีหนี้สาธารณะและขาดดุลการคลังสูง ที่กล่าวขานกันมากก็คือวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ ต่อมาก็มีข่าวปัญหาเศรษฐกิจในฮังการีและฟินแลนด์ จนทำให้หวั่นวิตถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจในยูโรโซน

แม้ว่าปัญหาที่เกิดในขณะนี้ดูเหมือนจะยังไม่ได้มีผลต่อไทยมากนัก แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าถ้าปัญหาเรื้อรังก็อาจสร้างปัญหาต่อยูโรโซน และกระทบต่อไปยังประเทศในกลุ่มยุโรปได้ เพราะประเทศเหล่านี้มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกันสูง จะเห็นได้จากที่มูลค่าการค้าขายกันเองในยูโรโซน (16 ประเทศ) ในไตรมาสแรกปี 2553 สูงถึง 980 พันล้านดอลลาร์สรอ. หรือประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดในยูโรโซน และถ้าขยายเป็นอียู 27 ประเทศ มูลค่าการค้าขายกันเองในกลุ่มสูงถึง 1,576 พันล้านดอลลาร์สรอ. คิดเป็นร้อยละ 64 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดในอียู

หากจะประเมินความเสี่ยงของแต่ละประเทศในยูโรโซนโดยดูจากสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP และดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP พบว่ากลุ่มประเทศ PIIGS ฟินแลนด์ และเบลเยี่ยม มีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศหลักในยูโรโซนยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเยอรมนีที่เกินดุล แต่อีกประเทศที่ถูกจับตามองถึงแม้จะไม่อยู่ในยูโรโซนแต่ก็เป็นหนึ่งในอียูและเป็นประเทศใหญ่ในยุโรป นั่นคืออังกฤษ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐ เพราะหากประเทศหลักๆเหล่านี้ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะจนต้องตัดทอนรายจ่ายลง ก็อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นจากภาครัฐบาลต่อเศรษฐกิจ

หากจะโยงผลของวิกฤตหนี้ในยุโรปว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน คงขึ้นอยู่กับขนาดและการลุกลามของปัญหาว่าจะจำกัดหรือแพร่ไปในประเทศหลักๆ ของยุโรป ซึ่งในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย เนื่องจากการส่งออกสินค้ามีบทบาทและเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ โดยมีมูลค่าสูงประมาณร้อยละ 60 ของ GDP

ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยสามารถแยกออกเป็นผลโดยตรง คือผลโดยตรงจากประเทศที่เกิดวิกฤต และผลโดยอ้อมคือผ่านประเทศตัวกลางทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่เกิดวิกฤต

ผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยคิดจากมูลค่าส่งออกของไทยไปยังประเทศเที่เกิดวิกฤตที่อาจลดลง อย่างเช่น ในปี 2552 การส่งออกของไทยไปกรีซมีมูลค่าไม่มาก คือประมาณร้อยละ 0.14 ของมูลค่าส่งออกรวม ดังนั้น ผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทยจึงต่ำมาก ถ้าวิกฤตขยายครอบคลุมกลุ่ม PIIGS ผลโดยตรงจะเพิ่มเป็นร้อยละ 1.8 ของมูลค่าส่งออกรวม แต่ถ้าหนักกว่านั้นคือ หากวิกฤตขยายวงและกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรป 10 ประเทศ(*1) ผลโดยตรงต่อส่งออกจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 9.3 ของมูลค่าส่งออก โดยมาจากสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี เป็นสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนในการส่งออกของไทยสูง (คือร้อยละ 2.1 2.1 และ 1.7 ตามลำดับ ขณะที่ผลกระทบโดยตรงจากฮังการีเท่ากับร้อยละ 0.2 และจากฟินแลนด์ร้อยละ 1.8) กลุ่มสินค้าหลักที่ถูกกระทบคือสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพวก High-tech เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์

สำหรับผลกระทบโดยอ้อมต่อการส่งออกนั้นอาจวัดได้ยาก เพราะต้องพิจารณาถึงประเทศที่เป็นตัวกลางการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่เกิดวิกฤต นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ มูลค่าการส่งออกของประเทศตัวกลางไปยังประเทศที่เกิดวิกฤต ความเข้มข้นของการใช้สินค้านำเข้าที่ประเทศตัวกลางนำมาใช้ผลิตเพื่อส่งออก (Import Content of Export) และมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศตัวกลางที่ถูกนำไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศที่เกิดวิกฤต

หากคำนวณแบบคร่าวๆจากปัจจัยที่กล่าวข้างต้นพบว่า ผลโดยอ้อมต่อการส่งออกของไทยจากปัญหาวิกฤตของกรีซยังคงน้อย คือจะทำให้ส่งออกหายไปอีกประมาณร้อยละ 0.1 ของมูลค่าส่งออกรวม โดยผ่านทางจีนเป็นหลัก ทำให้ผลกระทบรวม (ผลโดยตรงบวกผลโดยอ้อม) เท่ากับร้อยละ 0.24 ของมูลค่าส่งออกรวม

หากปัญหาวิกฤตขยายวงไปในกลุ่ม PIIGS ผลกระทบโดยอ้อมจะเพิ่มเป็นร้อยละ 1.7 ของมูลค่าส่งออกรวม ทำให้ผลรวมเพิ่มเป็นร้อยละ 3.5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด เหตุที่ผลโดยอ้อมยังไม่สูงนักเนื่องจากสัดส่วนสินค้านำเข้าจากไทยของประเทศตัวกลางที่ใช้ผลิตเพื่อส่งออกไป PIIGS ค่อนข้างต่ำ โดยผลทางอ้อมส่วนใหญ่ผ่านทาง จีน อาเซียน4 (ประกอบด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) และญี่ปุ่น ตามลำดับ เหตุเพราะจีนและอาเซียน4 มี import content of export ค่อนข้างสูง ส่วนกรณีญี่ปุ่นนั้นมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าประเภทอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์จากไทยในสัดส่วนที่สูง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ถูกใช้ไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไป PIIGS มาก

ท้ายนี้ถ้าปัญหาหนี้สาธารณะขยายวงกว้างและกระทบต่อเศรษฐกิจของยุโรป 10 ประเทศ ผลกระทบโดยอ้อมต่อการส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 4.7 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย โดยผลจะผ่านทางจีน อาเซียน4 ญี่ปุ่น สหรัฐ ฮ่องกง และเวียดนาม ตามลำดับ และผลกระทบโดยรวมจะกลายเป็นร้อยละ 14 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หรือเกือบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าที่ไทยส่งออกไป G3

(*1) ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเชค เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ