แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 30, 2010 16:16 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 30 /2553

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนกลับมาเร่งตัวขึ้น หลังจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองคลี่คลาย โดยการท่องเที่ยวมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี หลังจากชะลอลงเล็กน้อยในช่วงก่อนหน้า

ด้านการลงทุนและการส่งออกยังคงขยายตัว เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความสามารถในการปรับตัวของภาคเอกชนเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

หลังจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองคลี่คลายลง ภาคการท่องเที่ยวในเดือนนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.2 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 14.8 อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 37.0 สูงขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 34.3 จากการเพิ่มขึ้นของการเข้าพักโรงแรมในเขตภาคใต้และภาคกลาง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 8.3 และ 2.7 ตามลำดับ จากการขยายตัวของเครื่องชี้ทุกรายการ โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์พาณิชย์ รถจักรยานยนต์การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวได้ในเกณฑ์สูง

ด้านการลงทุนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน และร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อน ตามการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องจักร เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่ยังคงมีต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ นอกจากนี้ การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ตามการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร ส่วนแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการเบิกจ่ายจากโครงการไทยเข้มแข็ง

อุปสงค์จากต่างประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง การส่งออกในเดือนนี้มีมูลค่าถึง 17,878 ล้านดอลลาร์ สรอ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 47.1 เป็นการขยายตัวดีในทุกหมวดสินค้า และทุกตลาด ด้านการนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 15,342 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 38.3 ขยายตัวดีทุกหมวด ทำให้ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่องจากเดือนก่อน2,536 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลจากรายจ่ายผลประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล 681 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นการไหลเข้าสุทธิ 2,168 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ดุลการชำระเงินกลับมาเกินดุล 2,166 ล้านดอลลาร์ สรอ.

ภาคการผลิตขยายตัวในเกณฑ์สูงสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.3 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.3 โดยขยายตัวดีทั้งที่ผลิตเพื่อการส่งออกและเพื่อจำหน่ายในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องทั้งทางด้านผลผลิตและราคา โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตปาล์มน้ำมัน ยางพารา และข้าวนาปรัง จากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิต ด้านราคาพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผัก ผลไม้ ยางพารา ข้าวเปลือกเหนียว และมันสำปะหลัง จากอุปสงค์โลกที่ยังขยายตัวดี และอุปทานที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้งและเพลี้ยระบาด ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวถึงร้อยละ 50.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน

เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงจากเดือนก่อน 237 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลเข้าเงินคงคลัง ส่วนสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงิน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.3 เป็นผลจากการเร่งขึ้นของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ให้แก่ภาคครัวเรือน เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนองที่สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน สำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาน้ำมัน แต่ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มสูงขึ้นจากราคาผลผลิตหมวดเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี

ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรกแม้จะชะลอลงบ้างจากผลกระทบของความไม่สงบทางการเมือง โดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศขยายตัวในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ขยายตัวสูง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งในและ ต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ