ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2010 16:19 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 31/2553

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยว่าระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2553 มีเสถียรภาพ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ได้ดีขึ้น โดยสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน และสินเชื่อ SME กลับมาขยายตัวเป็นบวก สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น กอปรกับมีการเพิ่มทุน ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนสูงขึ้นที่จะเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจตลอดจนรองรับปัจจัยท้าทายในช่วงต่อไป

สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.3 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาส 1 ปี 2553 โดยสินเชื่อภาคธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 71.5 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวเป็นครั้งแรกที่ร้อยละ 2.1 หลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส โดยสินเชื่อ SME (สัดส่วนร้อยละ 52.4 ของสินเชื่อภาคธุรกิจ) ขยายตัวร้อยละ 2.1 ดีขึ้นจากที่หดตัวในอัตราร้อยละ 4.9 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนในไตรมาส 1 สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเป็นที่น่าสังเกตว่าถ้าเทียบกับไตรมาส 1 แล้ว สินเชื่อ SME ขยายตัวทุกภาคยกเว้นอุตสาหกรรม สำหรับสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 14.3 จากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2553 และสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวสูง

เงินฝากรวมตั๋วแลกเงินขยายตัวร้อยละ 2.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ช้ากว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นบ้าง โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและ B/E เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88.2 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2 ธนาคารพาณิชย์ก็ยังไม่ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้าทั่วไป แต่เลือกใช้วิธีเสนอผลิตภัณฑ์การออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องและรักษาฐานลูกค้าไว้ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จึงปรับอัตราดอกเบี้ยตาม เช่น จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2553 ค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่ง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.17 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14 เป็นต้น

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มียอดคงค้าง 3.56 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 1.5 หมื่นล้านบาท จากการรับชำระคืนหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการขายหนี้ เป็นสำคัญ ทำให้สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงทั้ง gross NPL และ net NPL เหลือร้อยละ 4.4 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ โดยสัดส่วน NPL ของสินเชื่อภาคธุรกิจลดลงจากร้อยละ 5.0 เหลือร้อยละ 4.9 ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วน NPL ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 2.9 สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อ SME เฉพาะของธนาคารพาณิชย์ไทย ลดลงจากร้อยละ 7.4 เป็นร้อยละ 6.8 โดยสัดส่วน NPL ลดลง ทุกประเภทธุรกิจ สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent loan) มียอดคงค้างลดลงเช่นกัน โดยสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 3.0 โดยสัดส่วน Delinquent loan ของสินเชื่อ SME ของธนาคารพาณิชย์ไทยลดลงจากร้อยละ 3.4 ณ ไตรมาส 1 ปี 2553 เหลือร้อยละ 3.2

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2553 จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 6.9 พันล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 2.9 และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.2 กำไรในไตรมาส 2 บวกกับการเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะเงินกองทุนเพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16.9 และร้อยละ 13.0 ตามลำดับ

โดยรวมแล้วในไตรมาส 2 นี้ สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์สอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น และมีบทบาทต่อการระดมทุนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามทั้งภายในและภายนอก ที่สำคัญได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความผันผวนของระบบการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงต่อไป ระบบธนาคารพาณิชย์จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ