สุนทรพจน์กล่าวเปิดงาน
ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ในงานสัมมนาวิชาการปี 2553 ฝ่ายบริหารข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย
“10 ปี คลังข้อมูล ก้าวไกลสู่อนาคต”
ณ โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท
วันพุธที่ 18 สิงหาคม 2553 เวลา 9.00 — 9.15 น.
_________________
ท่านประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล)
ดิฉันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มากล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการด้านสถิติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการจัดตั้งฝ่ายบริหารข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้ก็เพื่อเผยแพร่ผลงานด้านสถิติแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงวิชาการด้านสถิติ และสื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลเศรษฐกิจการเงินของประเทศ อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างองค์กรและบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะในฐานะผู้ให้ข้อมูลผู้ใช้ข้อมูล และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสถิติ
กอปรกับในปีนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น กำหนดให้มีวันสถิติโลก (World Statistics Day) ตรงกับ วันที่ 20 ตุลาคม เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงคุณค่าและบทบาทสำคัญของสถิติในการวางแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ เพื่อเชิญชวนให้ทุกฝ่าย หันมาให้ความสนใจต่องานพัฒนาสถิติและบุคลากรทางด้านสถิติอย่างจริงจังมากขึ้น และเน้นถึงประโยชน์ส่วนรวม อันจะได้จากการที่ทุกคนมีส่วนร่วม และให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านสถิติ ในแต่ละประเทศของตน ขยายไปถึงการประสานความร่วมมือทางด้านสถิติในระดับสากล จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ ธปท.ได้จัดงานสัมมนาสถิติพร้อมกันในปีนี้
ในหนึ่งทศวรรษที่ฝ่ายบริหารข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการมา เป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยได้ข้ามผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเงินทั้งในและนอกประเทศมาหลายครั้ง ประสบการณ์ดังกล่าวได้ให้บทเรียนที่สำคัญ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพลวัตรของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เปน็ ความท้าทายต่อระบบเศรษฐกิจไทย และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้วางนโยบายจะต้องมีข้อมูลที่จำเป็นอย่างพอเพียง และ “ทันเกม ทันกาล” เพื่อรองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤติ ซึ่งดิฉันขอสรุปสาระสำคัญ 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ระบบเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศ มีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินของโลกมากขึ้นทุกวัน
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในปัจจุบัน เกิดปรากฎการณ์กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจำนวนมหาศาล อันเป็นผลสืบเนื่องจาก ความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการเงินในประเทศต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินของโลกขยายตัวเชื่อมโยงกันอย่างไร้พรมแดน มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินอันหลากหลาย ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนของโลกขยายตัว มีความกว้าง ลึก และซับซ้อนมากขึ้น เกิดความเสี่ยงต่อการลุกลามของวิกฤติเศรษฐกิจจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ จะต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อย่างรอบคอบ และตระเตรียมมาตรการป้องกันบรรเทาไว้ให้พร้อมเสมอ
ประเด็นที่สอง สาเหตุสำคัญของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน มีพื้นฐานจากการขาดความสมดุลในระบบเศรษฐกิจ ขาดวินัยทางการเงินและการคลัง ขาดการจัดการและป้องกันความเสี่ยงที่ดี ขาดความโปร่งใส และขาดข้อมูลที่ดี
วิกฤติที่เกิดขึ้นกว่าสิบปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติหนี้ในประเทศเม็กซิโก วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย (Asian Crisis) หรือวิกฤตหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub prime crisis) ที่เกิดขึ้นล่าสุด เป็นต้น ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลในโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาค เช่น ปัญหาดุลการชำระเงิน การก่อหนี้ต่างประเทศในระดับสูง การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยน ที่ไม่ยืดหยุ่น หรือเกิดจากการใช้นโยบายด้านการกำกับสถาบันการเงินที่ไม่เข้มงวดรัดกุม หรือการทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนมีความเสี่ยงที่ขยายตัวในวงกว้าง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งอาจเกิดความเสี่ยงที่เชื่อมต่อผลกระทบที่โยงใย สร้างความเสียหายลุกลามไปทั้งระบบ นอกจากนี้ ความไม่พอเพียงของข้อมูลเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมความรุนแรงของวิกฤติ ทำให้ความสามารถในการควบคุมเหตุการณ์และการคาดคะเนผลกระทบได้ยาก
บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้นานาประเทศ ทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจระบบการเงินและการคลังอย่างกว้างขวาง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสอดส่องดูแลระบบการเงินโลก อาทิ ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (BIS) องค์กรผู้กำหนดมาตรฐานบัญชีสากล (IAS Board) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น ยังได้ร่วมมือกันในการปรับปรุงมาตรฐานสากล และเกณฑ์การกำกับดูแลที่สำคัญหลายด้านเพื่อพัฒนาและเพิ่มการสอดส่องดูแล และสร้างกลไก และกติกาตลาดการเงินโลก ให้ทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น รวมทั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกันระหว่างประเทศ และในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ในการรายงานข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้อง ให้มีมาตรฐานที่สามารถเชื่อมโยงต่อกันเป็นภาพรวมที่สมบูรณ์ พอเพียง ถูกต้องทันเวลา เพื่อการติดตามป้องกัน และแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากเกิดวิกฤติการเงินในปี 2540 ตลอดช่วงเวลา กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงองค์กรในหลายด้าน อันเป็นการวางรากฐานให้ ธปท. สามารถทำหน้าที่ธนาคารกลางได้อย่างเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ รักษาความเป็นอิสระ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อดำเนินภารกิจในการดูแลรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และดูแลรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินของประเทศ ที่สำคัญคือ ธปท. ตระหนักถึงความสำคัญของการมีข้อมูลข่าวสารที่ทันการณ์ เที่ยงตรง และเป็นมาตรฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอย่างรวดเร็ว อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการทำนโยบาย รวมทั้งเพื่อช่วยให้เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญสำหรับภาคเอกชน เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านการผลิต การลงทุน และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานสากล เพื่อเชื่อมโยงกับระบบสถิติขององค์กรนานาชาติ ในการจัดทำข้อมูลสถิติเศรษฐกิจการเงินตามมาตรฐานสากล เพื่อการรักษาเสถียรภาพการเงินของโลกโดยส่วนรวมในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก
ในการพัฒนาระบบข้อมูล ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่านมา ได้ยึดแนวทางของอดีตท่านผู้ว่าการ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งท่านเป็นผู้มีคุณูปการเป็นอย่างสูง ต่อการวางรากฐานระบบการจัดการข้อมูลสมัยใหม่ของธปท. อันนำไปสู่การจัดตั้งสายฐานข้อมูลขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และพัฒนาสืบต่อมาจนเป็นฝ่ายบริหารข้อมูลในเวลานี้ปัจจุบันท่านได้กลับมายังธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้ง ในฐานะประธานกรรมการ และท่านยังคงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพัฒนาการจัดการข้อมูลของ ธปท. อยู่เสมอ จะเห็นได้ว่า วันนี้ ท่านได้กรุณาสละเวลามาเป็น Keynote speaker “10 ปี คลังข้อมูล ก้าวไกลสู่อนาคต” นับเป็นเกียรติและกำลังใจอย่างสูงสำหรับพนักงาน ธปท. โดยเฉพาะกับพนักงานฝ่ายบริหารข้อมูล
สำหรับบทความในการสัมมนาครั้งนี้ มีอยู่ 3 บทความ โดยบทความแรก เรื่อง “ย้อนอดีต ขีดอนาคตคลังข้อมูลธปท.” ใคร่ขอนำทุกท่านย้อนเวลากลับไปวิเคราะห์ทบทวนจุดเริ่มต้น ของการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานครั้งใหญ่ในงานด้านสถิติ เพื่อจัดทำข้อมูลเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญ อันเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนจากวิกฤติปี 2540 ที่ ธปท.ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากนั้นจะเป็นการมองไปข้างหน้าเพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในการผลิตข้อมูลในอนาคต ที่จะต้องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และจะต้องตามให้ทัน ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี และเทคนิคทางสถิติ บทความนี้จะเป็นการปูทางไปสู่บทความที่ 2 และ 3
ทั้งนี้ บทความที่ 2 เรื่อง “ฐานข้อมูลภาคเศรษฐกิจจริง : ทิศทางและการพัฒนา” บทความนี้ต้องการจะตอบคำถามว่าฐานข้อมูลของภาคเศรษฐกิจจริงที่ ธปท. ใช้อยู่มีความเพียงพอหรือไม่ ในการนำไปใช้เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของปริมาณ และคุณภาพของข้อมูล เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาสถิติข้อมูลภาคเศรษฐกิจจริงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยพยายามจัดลำดับความสำคัญ ของข้อมูลภาคเศรษฐกิจจริง ที่ประเทศไทยน่าจะมีการจัดทำเพิ่มขึ้นและหยิบยกข้อมูลที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ บางตัวขึ้นเป็นกรณีศึกษา
ส่วนบทความที่ 3 เรื่อง “ข้อมูลตลาดการเงิน : จากวิกฤติสู่การประสานความร่วมมือ” วิเคราะห์ให้เห็นถึงช่องว่างของข้อมูลทางการเงินของโลกที่เผชิญกับวิกฤติหนี้ด้อยคุณภาพครั้งล่าสุด เป็นบทเรียนแก่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย ให้ตระหนักถึงความซับซ้อนของตลาดการเงินโลก และหันมาประเมินความพร้อม ทางด้านข้อมูลของประเทศว่ามีเพียงพอสำหรับติดตามวิเคราะห์ความเสี่ยงในตลาดการเงิน และสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยในฐานะประเทศผู้รับการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจนิ่งนอนใจจนกว่าเราจะสามารถปิดช่องว่างของข้อมูลดังกล่าว
สำหรับ รายการสุดท้ายของการสัมมนาวันนี้ จะเป็นการเสวนาระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในหัวข้อ “สถิติไทย ทันเกม ทันกาล” (Data on the move) ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านต่างมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ลึกซึ้งในงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การเงิน และการลงทุน ตลอดจนนโยบายการจัดการระบบข้อมูลสถิติของประเทศ ท่านให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและความท้าทายในการเป็นผู้ใช้และผู้จัดทำข้อมูล ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ อาทิ กรอบกฎหมาย มาตรฐานสากล การเปิดเสรี การแข่งขันในตลาด เป็นต้น ซึ่งจะเป็นครั้งหนึ่งที่โยงองค์ความรู้ทางสถิติ และเศรษฐศาสตร์มาบรรจบกับประสบการณ์ตรงในการดำเนินนโยบาย
ดิฉันขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่ให้เกียรติมาเป็นผู้วิจารณ์และผู้เสวนา เพื่อร่วมให้ความรู้และมุมมองที่มีค่ายิ่ง ในการสัมมนาครั้งนี้ และท้ายที่สุดดิฉันขอขอบคุณทุกท่านในที่นี้ ที่หน่วยงานของท่านมีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ขอบคุณค่ะ
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย