สรุปภาวะเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ เดือนกรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 13:32 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนกรกฎาคม ปี 2553 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยรายได้ของเกษตรกรยังขยายตัวในอัตราสูงผลจากการเพิ่มขึ้นทั้งด้านราคาและปริมาณ แม้ว่าการผลิตอุตสาหกรรมจะลดลงเล็กน้อย จากราคายางที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้ประเทศจีนชะลอการซื้อยาง การท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ขณะเดียวกันการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการขยายตัวต่อเนื่องของเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวส่วนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน

1. ภาคเกษตร ดัชนีรายได้ของเกษตรกรในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 82.3 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นทั้งด้านราคาและผลผลิต โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 97.7 ตามราคายางแผ่นดิบที่มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100.03 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 110.6 ขณะเดียวกันราคาปาล์มน้ำมัน เร่งตัวเป็นกิโลกรัมละ 4.35 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 จากเดือนเดียวกันปีก่อน ด้านดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ตามการผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 ขณะที่ผลผลิตยางพาราลดลงร้อยละ 2.3 จากเดือนเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง

ผลผลิตสัตว์น้ำจากการทำประมงทะเลชะลอลง โดยปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบ เรือประมงขององค์การสะพานปลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 ด้านมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เป็นผลจากปริมาณและราคาสัตว์น้ำที่ปัตตานีเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ส่วนผลผลิตกุ้งลดลงร้อยละ 34.9 จากโรคระบาดในหลายพื้นที่ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นทุกขนาด

2. ภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.2 ตามการผลิตยางแปรรูปและอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป โดยการผลิตยางลดลงร้อยละ 9.7 ตามปริมาณการซื้อยางจากจีนซึ่งลดลงจากการซื้อยางเมื่อจำเป็นเนื่องจากราคายางยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามการส่งออกยางไปประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากสต๊อคยางในประเทศลดลง และยังมีความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่การผลิตอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปลดลงร้อยละ 12.1 ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ถุงมือยาง และไม้ยางพาราขยายตัว

3. การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันออก จำนวนนักท่องเที่ยวผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.1 เนื่องจากการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว การทำการตลาด และการส่งเสริมการขาย โดยภูเก็ตมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำ จากประเทศจีนเข้ามาเพิ่มขึ้นทำ ให้จำ นวนเที่ยวบินและจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 และ 42.0 ตามลำดับ ขณะเดียวกันกระบี่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.4 เร่งตัวขึ้น เนื่องจากมีสายการบินไทเกอร์แอร์เพิ่มขึ้น สำหรับสุราษฏร์ธานีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 ส่วนในภาคใต้ตอนล่างจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 56.7 เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในเดือนนี้ กอปรกับฐานจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเดียวกันปีก่อนต่ำเพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

4. การจ้างงาน การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากเครื่องชี้ตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านจัดหางานจังหวัด การสมัครงาน และการบรรจุงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 111.9 34.4 และ 52.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามจำนวนแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคมตามมาตรา 33 ชะลอลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเดือนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4

5. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 4.1 จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น และการใช้จ่ายในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคา ปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.2 เป็นการจัดเก็บที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ การขายปลีกขายส่งการก่อสร้าง เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.1 ตามการเพิ่มขึ้นของการจดทะเบียนรถใหม่ทุกประเภท และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 12.9

6. การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ กอปรกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.6 จากเครื่องชี้พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในเขตเทศบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.0 การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลมีจำนวนและทุนจดทะเบียนรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 และ 15.3 ตามลำดับ ในขณะที่การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 5 โครงการ เงินลงทุนลดลงร้อยละ 22.9

7. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้ ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.6 ตามการลดลงของการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรายจ่ายที่ดินสิ่งก่อสร้าง เป็นการลดลงของรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำร้อยละ 44.9 และ 11.0 ตามลำดับ

สำหรับการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 จากการจัดเก็บภาษี สรรพากร และสรรพสามิตเป็นสำคัญ

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 46.1 ชะลอลงจากร้อยละ 56.5 ในเดือนก่อนหน้า ตามการชะลอลงของมูลค่าส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูป สัตว์น้ำแช่แข็งอาหารกระป๋อง ด้านการนำเข้า มูลค่าชะลอลงมาก โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.9 จากร้อยละ 60.9 ในเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงร้อยละ 0.3 ขณะที่มูลค่านำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็ง เร่งตัวสูงขึ้น

9. ภาคการเงิน เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.3 ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 8.2 เป็นผลจากการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องรวมทั้งราคาสินค้าเกษตร อาทิ ยาง ยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เงินฝากและความต้องการสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น

10. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ตามราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ที่เร่งขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 7.6 ขณะที่ ราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 1.2 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ระดับร้อยละ 1.2 จากเดือนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

จัดทำโดย ส่วนเศรษฐกิจภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/South/EconomicReport/EconomicReport/Pages/Econ 20Report.aspx

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ