สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 31, 2010 11:22 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 14/2553

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น การอุปโภคบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวต่อ เนื่องจากเดือนก่อนเนื่องจากประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตามความต้องการทั้งภายในและภายนอกประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาล สำหรับรายได้ของภาครัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐยังคงขยายตัวจากโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเป็นสำคัญ

ส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออก การค้าชายแดนไทย - สปป. ลาว และไทย - กัมพูชา ยังคงขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนแต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

สำหรับเงินฝากและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเงินฝากชะลอลง สำหรับสินเชื่อที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4

สำหรับรายละเอียด มีดังต่อไปนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 48.8 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.3 เป็นผลจากการขยายตัวของดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.2 ตามราคาข้าวเหนียว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ตามผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวนาปี ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 13,509 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 เป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 7.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้โรงสียังคงชะลอการรับซื้อข้าว ประกอบกับตลาดต่างประเทศนำเข้าข้าวจากประเทศเวียดนามมากขึ้น ขณะที่ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10 % (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 15,277 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 105.0 เนื่องจากความต้องการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งหัวมันสดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.28 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 134.8 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 128.1 ตามปริมาณวัตถุดิบในตลาดที่น้อยลง เกษตรกรบางส่วนชะลอการเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาต้นพันธุ์ไว้สำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป ขณะที่โรงงานแข่งขันการรับซื้อมากขึ้น เนื่องจากราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มสูงขึ้น สำหรับราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.68 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 65.6 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประเทศเวียดนามส่งมันเส้นไปจำหน่ายยังประเทศจีนมากขึ้น ส่งผลให้จีนชะลอการนำเข้ามันเส้นจากไทย

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.53 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 35.2 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการผลิตปศุสัตว์ โดยเฉพาะไก่ไข่ ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มขึ้น

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 เป็นผลจากการขยายตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศตามราคาน้ำตาลโลกที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 ตามความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังยังคงหดตัวร้อยละ 26.3 เนื่องจากปริมาณผลผลิตวัตถุดิบที่ลดลงจากภัยแล้งและจากการระบาดของเพลี้ยแป้ง ส่วนอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษหดตัวร้อยละ 21.2 เนื่องจากเครื่องจักรบางส่วนยังไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 5.2 จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอลง

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 3.5 และร้อยละ 1.2 ตามลำดับ เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น และประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น เครื่องชี้ที่สำคัญ คือ

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจการค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ห้างสรรพสินค้า และกิจการจำหน่ายรถยนต์

ปริมาณการจดทะเบียนรถทุกชนิดเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.8 ร้อยละ 28.4 และร้อยละ 10.1 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการขายที่กระตุ้นความต้องการของผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

4. การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นักลงทุนมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จาก

พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรมโดยในเดือนนี้มีการขออนุญาตก่อสร้างห้างสรรพสินค้าและศูนย์อาหารขนาดใหญ่ในจังหวัดหนองคาย พื้นที่รวม 17,729 ตารางเมตร

ทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.5 เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนตั้งใหม่ร้อยละ 51.9 และร้อยละ 42.7 ส่วนใหญ่เป็นการจดทะเบียนจากธุรกิจขายส่งขายปลีกสินค้าทั่วไป ธุรกิจให้เช่า ขายซื้อและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนครราชสีมา และธุรกิจขายส่งวัสดุก่อสร้างในจังหวัดสุรินทร์ ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท 50 ล้านบาท และ 60 ล้านบาท ตามลำดับ

จำนวนเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง ได้แก่ โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมในจังหวัดนครราชสีมา รวม 2 โครงการ 11,304 ล้านบาท โรงงานผลิตเอทานอลในจังหวัดนครราชสีมา 1 โรง 4,318 ล้านบาท โรงงานแป้งมันในจังหวัดอุบลราชธานี 1 โรง 960 ล้านบาท และโครงการผลิตยางแท่งและยางแผ่นรมควันในจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดบุรีรัมย์ รวม 2 โครงการ 800 ล้านบาท

จำนวนเงินทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าใน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 โรง เงินทุนรวม 301.9 ล้านบาท

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และเดือนก่อน

5. ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาล สามารถจัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 3,157.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นจากภาษีทุกประเภทโดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,824.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากค่าแปรสภาพหัวมันสำปะหลังตามโครงการรับจำนำของรัฐบาล

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 1,311.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากการเพิ่มขึ้นของภาษีสุราเป็นสำคัญ

อากรขาเข้าจัดเก็บได้ 22.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.5 ตามการจัดเก็บอากรขาเข้าจากการนำเข้ากระเทียมและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากด่านศุลกากรมุกดาหารเป็นสำคัญ

การเบิกจ่ายงบประมาณ มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 17,193.6 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยลดลงร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากรายจ่ายลงทุน 2,817.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 56.4 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปลดลง เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเร่งเบิกจ่ายเงินอุดหนุนในช่วงก่อนหน้าแล้ว ในขณะที่รายจ่ายประจำ 14,375.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เป็นผลจากรายจ่ายหมวดค่าตอบแทนและเงินเดือนเพิ่มขึ้น

ส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายลดลง ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานทางหลวงชนบท และสำนักงานทางหลวง สำหรับส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นยังคงเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และงบกลางหมวดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

อย่างไรก็ตาม หากรวมการเบิกจ่ายเงินในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งแล้ว รัฐบาลยังคงมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายจากสาขาการลงทุนในระดับชุมชน สาขาทรัพยากรน้ำและการเกษตร และสาขาขนส่ง ตามลำดับ

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว เดือนนี้มีมูลค่าการค้า 7,716.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.8 จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกและนำเข้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 6,298.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.5 จากการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปยังประเทศจีนผ่านทางด่านศุลกากรมุกดาหาร เป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังมีสินค้าอื่นที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำมันเชื้อเพลิง ยานพาหนะและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก เครื่องจักรและอุปกรณ์ และผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ

การนำเข้า มีมูลค่า 1,418.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 จากการนำเข้าสินแร่ทองแดง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเทียมจากประเทศจีน และวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าจากเวียดนาม

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.1 จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกและนำเข้า โดยมีมูลค่าการค้า 4,909.0 ล้านบาท ตามรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มูลค่า 4,393.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 จากการส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำตาลทราย รถยนต์และส่วนประกอบ อะไหล่รถจักรยานยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง ผ้า อาหารสัตว์ และเครื่องจักรกลการเกษตร

การนำเข้า มูลค่า 515.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.9 จากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเมล็ดงาดำที่เพิ่มขึ้นสูงเนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเพิ่งออกสู่ตลาดจำนวนมาก ส่วนงาดำก็มีผลผลิตออกมามากในเดือนนี้เช่นกันประกอบกับการที่ผู้นำเข้าเสียภาษีในอัตรา 0% ทำให้ไทยมีการนำเข้ามากในเดือนนี้ นอกจากนี้ยังมีสินค้านำเข้าสำคัญที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศษทองแดงและเศษอลูมิเนียม และการนำกลับอุปกรณ์วิทยุโทรคมนาคม

7. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 เร่งตัวจากร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อน เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยเฉพาะหมวดเคหสถานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตามราคาน้ำประปาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.9 เป็นผลจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพในส่วนของค่าน้ำประปา เมื่อเดือนเมษายน 2553 ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น

ราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 จากระยะเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เป็นผลจากกลุ่มอาหารสด ราคายังคงเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะกลุ่มผักและผลไม้ร้อยละ 40.5 ข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ประกอบกับเป็นช่วงนอกฤดูกาลของผลไม้บางชนิด ไข่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.5 แต่ราคาไข่ไก่ยังคงสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

ในเดือนนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7

8. ภาคการจ้างงาน ณ เดือนมิถุนายน 2553 มีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 12.8 ล้านคน ทำงานในภาคเกษตรกรรม 7.1 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5.7 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ทำงานด้านการขนส่ง การขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0

ด้านภาวะการจ้างงาน เดือนกรกฎาคม 2553 มีตำแหน่งงานว่างและการบรรจุงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้สมัครงานลดลง โดยตำแหน่งงานว่างในเดือนนี้มีจำนวน 4,688 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งยังมีความต้องการแรงงานมาก และการบรรจุงานจำนวน 6,548 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ในขณะที่ผู้สมัครงานมีจำนวน 9,699 คน ลดลงร้อยละ 4.4 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการเพาะปลูก

สำหรับคนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมีจำนวน 10,777 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศฟินแลนด์ เนื่องจากคนงานไทยย้ายการเก็บผลไม้ป่าจากประเทศสวีเดนไปที่ประเทศฟินแลนด์เพราะไม่มีการเก็บภาษีรายได้ รองลงมาเป็นอิสราเอล และไต้หวัน จังหวัดที่มีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมาก ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา และอุดรธานี

9. ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ในภาคมีประมาณ 406,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 โดยเป็นการขยายตัวของเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากกระแสรายวัน ร้อยละ 13.0 และร้อยละ 6.0 ชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.6 และร้อยละ 8.5 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินฝากรอจ่ายของราชการลดลงจากการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนนี้ลดลง ในขณะที่เงินฝากประจำลดลงร้อยละ 1.5

ด้านสินเชื่อ มีประมาณ 425,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก ในเดือนนี้เป็นร้อยละ 104.7 ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่อัตราร้อยละ 97.6

ธนาคารเฉพาะกิจ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 เงินฝากคงค้างของธนาคารเฉพาะกิจในภาคมีประมาณ 219,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร้อยละ 10.8 และร้อยละ 21.6 ตามลำดับ ในขณะที่ธนาคารออมสิน ชะลอตัว

สำหรับด้านเงินให้สินเชื่อมีจำนวน 516,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร้อยละ 10.6 ธนาคารออมสินร้อยละ 67.9 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร้อยละ 2.4 และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยร้อยละ 47.5 เนื่องจากมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือภาคธุรกิจเป็นสำคัญ

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411

e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ