คำกล่าวเปิดงาน
ดร. ธาริษา วัฒนเกส
ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 ของธนาคารแห่งประเทศไทย
“ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า”
“Moving Thailand towards the Next Decade”
ณ ห้อง Bangkok Convention โรงแรม Centara Grand at Central World
วันที่ 21 กันยายน 2553 เวลา 9.30 น.
ดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปีมาได้ และยังจะต้องเผชิญปัญหาการเมืองภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย โดยผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเหล่านั้น มิได้แผ่ขยาย หรือทวีความรุนแรงเกินกว่าที่เราจะรับมือได้ โดยล่าสุดเศรษฐกิจได้ขยายตัวได้อย่างน่าพอใจ อัตราการขยายตัวในครึ่งปีแรกสูงถึง 10.6 % เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และคาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ในอัตราที่ชะลอลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งโดยเฉลี่ยทั้งปี เศรษฐกิจไทยก็น่าจะยังขยายตัวได้ประมาณ 7%
ในขณะที่เราทั้งหลายล้วนยินดีที่เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มาแล้ว เราต่างทราบดีว่า ความสำเร็จในอดีตไม่เพียงพอที่จะป้องกันวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ โดยเฉพาะในทศวรรษข้างหน้า ซึ่งภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจการเงินโลกจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้วิกฤตและความท้าทายในอนาคตอาจเกิดขึ้นในรูปแบบที่ต่างไปจากอดีต
ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เราต้องปรับมุมมองมาให้ความสำคัญกับอนาคตของประเทศในระยะยาวเพิ่มขึ้น ต้องเร่งลดจุดอ่อนของเศรษฐกิจและพัฒนากลยุทธ์ใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ นั่นคือที่มาของหัวข้อการสัมมนาวิชาการประจำปีนี้ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า”
วิกฤตที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจการเงินของโลก เรียกได้ว่าเป็นจุดหักเหที่จะทำให้เกิดกระบวนการโลกาภิวัตน์ใหม่ โดยพลวัตเศรษฐกิจโลก พฤติกรรมของนักลงทุน และแนวคิดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตมีรูปแบบเปลี่ยนไปในหลายมิติ
ในด้านการเปลี่ยนแปลงพลวัตเศรษฐกิจโลกนั้น คาดว่าเอเชียจะกลายมาเป็น หัวรถจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในช่วง 10 ปีข้างหน้า ในขณะที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก ยังต้องวนเวียนอยู่กับการแก้ไขปัญหาที่เป็นผลพวงจากวิกฤตการเงินโลก ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจมหภาคประสบข้อจำกัด ถ่วงให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และจะทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งเคยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถพึ่งพิงผู้บริโภคหลักอย่างเช่นสหรัฐฯ ได้อีกในระยะต่อไป
ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียนั้นมีแนวโน้มเติบโตในระดับสูง โดยการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและผลิตภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชากรในภูมิภาคมีรายได้และกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับการที่เอเชียมีจำนวนประชากรสูงกว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักถึง 4 เท่า จึงคาดว่าภูมิภาคนี้จะกลายมาเป็นตลาดสำคัญของโลกและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า รวมถึงเป็นจุดสนใจของนักลงทุนทั่วโลก จึงมีแนวโน้มที่เงินทุนจะไหลเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้นและผันผวนสูงขึ้น ในกรณีของประเทศไทยเอง ทุกท่านคงเห็นแล้วว่า มีเงินทุนไหลเข้ามาเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินทั้งในระดับโลกและภูมิภาคดังกล่าว นำมาซึ่งโอกาสสำหรับประเทศไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุน กล่าวคือ การเพิ่มขึ้นของการบริโภคในภูมิภาคเอเชียจะช่วยเพิ่มยอดขายให้สินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่เรามีศักยภาพสูงในการแข่งขัน นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสในด้านการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งในฐานะผู้รับการลงทุน จากการที่ไทยจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากทั้งในและนอกภูมิภาคเพิ่มขึ้น และในฐานะผู้ลงทุน จากการที่ธุรกิจไทยมีช่องทางการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เราได้รับอาจแปรเปลี่ยนเป็นความเสี่ยงหรืออาจกลายเป็นวิกฤตของไทยก็ได้ หากเราไม่สามารถเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ทันท่วงที หลายประเทศในภูมิภาคต่างมีความตื่นตัว พร้อมก้าวไปข้างหน้าโดยอาศัยโอกาสที่กำลังมา เพียงแค่เราหยุดนิ่ง หรือก้าวไปได้อย่างช้าๆ ก็เท่ากับว่าเราตกรถไฟ และเสี่ยงที่จะถูกทิ้งห่างแล้ว ในขณะเดียวกัน เงินทุนที่มีแนวโน้มไหลเข้าสูงอย่างต่อเนื่องนั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาฟองสบู่และปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ หากเราไม่มีการเตรียมการบริหารจัดการที่ดี ประเด็นเหล่านี้ จะมีการวิเคราะห์ในมุมมองต่างๆ ในบทความแรก เรื่อง “โลกาภิวัตน์ใหม่ โอกาสและความเสี่ยงของไทยในทศวรรษหน้า”
ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าท่ามกลางสภาพแวดล้อมและกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนั้น เราจะต้องมีแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสม และเร่งเตรียมความพร้อมที่จะรับความเสี่ยง และสร้างโอกาสในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง และถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองให้กว้างขึ้น ไกลขึ้น และให้ความสำคัญกับการเสริมความแข็งแกร่ง สร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว มากกว่าการมองผลประโยชน์ระยะสั้น สำหรับประเด็นนี้ ดิฉันเห็นว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการในระยะต่อไป มี 4 เรื่องสำคัญ คือ
เรื่องที่ 1 การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน จากรายงานล่าสุดของ World Economic Forum ประเทศไทยถูกลดอันดับความสามารถทางการแข่งขันลงอย่างต่อเนื่องถึง 10 อันดับนับตั้งแต่ปี 2549 โดยล่าสุดถูกปรับลดจากอันดับที่ 36 ในปีก่อนเป็นอันดับที่ 38 ในปีนี้
สิ่งที่เราต้องทำเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ การเร่งเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ที่ยังคงมีปัญหาทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเร่งพัฒนาคุณภาพของสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยใน Global value chain เนื่องจากเราไม่สามารถพึ่งพิงการผลิตและส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานราคาถูกเป็นหลัก หรือค่าเงินบาทที่อ่อนเพื่อจะได้ขายสินค้าได้ในราคาถูกได้ตลอดไป
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2557 หรือประมาณ 5 ปีจากนี้ไป จะเร่งทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้า บริการ ทุน และแรงงานทักษะ อย่างเสรีมากขึ้นในภูมิภาค หากประเทศไทยยังไม่รีบลงมือผลักดันการยกระดับความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่วันนี้ เราจะติดอยู่ในกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ที่เรียกว่า Middle income country trap เป็นการอยู่ตรงกลางๆ ที่มีปัญหา มีอัตราการเจริญเติบโตช้า กล่าวคือ ด้านบนไทยก็ไม่สามารถแข่งขันสู้กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียได้ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง แม้ว่าเราจะมีค่าแรงถูกกว่า ส่วนด้านล่างเราก็เผชิญการท้าทายจากประเทศที่ค่าแรงยังถูกกว่าเรามากและแย่งตลาดของเราไป
ในวันนี้ ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพอย่างจริงจัง เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องจัดหาแรงจูงใจให้กับธุรกิจเพียงพอที่จะให้เพิ่มการลงทุนและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับกลางดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ท่านทั้งหลายคงทราบกันดีว่า การลงทุนของเราในวันนี้ยังมีปัญหา ที่ผ่านมาไทยมีการลงทุนอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายในภูมิภาค และยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นับจากหลังวิกฤตปี 2540 ดังนั้น เราจำเป็นต้องเร่งปลดล็อคการลงทุน ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเสนอแนวทางว่าประเทศไทยควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร บทความเรื่อง “สู่วัฏจักรใหม่ของเศรษฐกิจไทย แนวทางพลิกฟื้นการลงทุน” จึงได้ศึกษาประเด็นดังกล่าว ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียกำลังเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนใหม่ เพื่อรองรับบทบาทใหม่ของเอเชียในการเป็นหัวจักรขับเคลื่อนโลกในทศวรรษหน้า
สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเรื่องที่ 2 คือ การปฏิรูประบบการเงิน เพื่อให้ระบบการเงิน ทั้งสถาบันการเงินและตลาดทุน ทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินอย่างทั่วถึงขึ้นและสามารถสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของระบบสถาบันการเงินจะต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้านพร้อมกันในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยไม่ได้มาจากธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองเท่านั้น แต่จะมาจากตลาดทุนและ Non-bank และมาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ความต้องการบริการทางการเงินที่ซับซ้อนและหลากหลายขึ้น อันเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ บทบาทการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจสูงขึ้น เทียบกับการพึ่งพาการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ
ดิฉันเชื่อว่า แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้ และมีระยะเวลาต่อเนื่องไปถึงปี 2557 ได้วางแนวทางไว้อย่างครอบคลุมและรองรับความท้าทายดังกล่าวไว้แล้ว ดังนั้น ความท้าทายที่เหลือจึงเป็นส่วนของการนำแผนสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ใช่เพียง ธปท. หรือกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเองเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินการตามแผนฯ 2 สิ้นสุดลงในอีก 4 ปีข้างหน้า ธปท. คาดหวังว่าระบบสถาบันการเงินไทยจะมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
อันดับแรก คือ ความมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
อันดับที่สอง คือความเข้มแข็ง ปรับตัวได้เร็ว และสามารถรองรับความผันผวนต่างๆ ที่เข้ามากระทบจากภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
อันดับที่สาม คือ ศักยภาพในการให้บริการที่มีความหลายหลาย และลึกขึ้น โดยสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และครัวเรือนได้อย่างทั่วถึง และมีการให้บริการที่เป็นธรรมและโปร่งใส
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในภาคการเงินและสถาบันการเงินนั้น ได้มีการศึกษาและจะนำเสนอในบทความเรื่อง “ภาคการเงินกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน” ในช่วงบ่ายวันนี้
เรื่องที่ 3 เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง คือ การเตรียมแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านเสถียรภาพการเงินที่เพิ่มขึ้นและเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
ปีนี้นับเป็นการครบรอบปีที่ 10 ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบ Inflation Targeting และเป็นปีที่ 13 ที่ประเทศไทยได้ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ ซึ่งที่ผ่านมา เราก็ได้มีการประเมินทบทวนกรอบนโยบายและปรับปรุงแนวทางและเครื่องมือการดำเนินนโยบายให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
เมื่อมองไปข้างหน้า ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ใหม่ ซึ่งภาคการเงินในภูมิภาคต่างๆ จะมีความเชื่อมโยงกัน และเชื่อมโยงต่อภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น ทำให้ shock สามารถส่งผ่านจากอีกมุมโลกหนึ่งมาสู่ประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่จะมากขึ้นและผันผวนมากขึ้น ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนากลไกติดตามการก่อตัวของความไม่สมดุลทางการเงิน และตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ จากบทเรียนของประเทศตะวันตกที่เป็นศูนย์กลางของวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา ก็เป็นที่ประจักษ์ชัด แล้วว่า การพึ่งพาอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเดียวในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องทบทวน และหาแนวทางที่จะนำเครื่องมือการกำกับดูแลเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงิน หรือที่เรียกกันว่า นโยบาย Macroprudential ซึ่งประเทศไทยเราก็ได้นำมาใช้บ้างอยู่แล้วในอดีต มาผสมผสานกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ และช่วยดูแลเสถียรภาพของภาคการเงินทั้งระบบมากขึ้น
สำหรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้นก็จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นเช่นกัน และผู้ดำเนินนโยบายจะต้องชั่งนำหนักให้ดีในการหาจุดสมดุลที่เหมาะสม โดยในด้านหนึ่ง ก็จะต้องดูแลมิให้ค่าเงินผันผวนมากเกินควรในระยะสั้น จนเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมการค้าและการลงทุน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ควรให้ค่าเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือ จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะต่อไป ที่จะต้องอาศัยการลงทุนมากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมกันนี้ ภาครัฐควรเตรียมแนวทางบรรเทาผลกระทบต่อภาคเอกชนที่ต้องเผชิญการปรับตัวในระยะสั้น และพัฒนากลไกที่เอื้อให้เอกชนปรับโครงสร้างการผลิตในระยะยาว ควบคู่กันไปด้วย
เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการทำนโยบายการเงินในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ในงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้จึงมีการนำเสนอบทความ เรื่อง“อนาคตนโยบายการเงินไทย ความท้าทายจากเสถียรภาพทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน”
สำหรับสิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเรื่องที่ 4 คือ การปฏิรูปทางการคลัง แม้การดำเนินนโยบายการคลังอย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพและสอดประสานกับนโยบายการเงิน จะมีส่วนช่วยยับยั้งวิกฤต และเป็นส่วนสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของไทย ในยามที่ภาคเอกชนอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา แต่ภาคการคลังของประเทศยังมีปัญหาด้านโครงสร้างซึ่งสมควรได้รับการปฏิรูป และรัฐบาลก็ตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าว
ในช่วงที่ผ่านมา งบประมาณของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นงบรายจ่ายประจำ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง อันเป็นผลจากแรงกดดันด้านสังคมและการเมือง ภาระด้านสังคมที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ส่งผลให้การจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หากคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวที่ประชาชนโดยรวมจะได้รับ
ในขณะที่ความสามารถในการหารายได้ โดยเฉพาะจากภาษีอากรซึ่งเป็นภาษีทางตรงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเรามีประชากรเพียง 1 ใน 6 ของกำลังแรงงานที่อยู่ในฐานภาษีอากรปัจจุบัน ที่ผ่านมา ภาคการคลังของไทยจึงต้องพึ่งพารายได้จากภาษีทางอ้อมเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ของเรามีเพียงร้อยละ 16 เท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศพัฒนาแล้ว
ในระยะต่อไป ภาครัฐจะต้องเผชิญความท้าทายทางการคลังเพิ่มขึ้น จากความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาแรงงานและบุคคลากร เพื่อยกขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในขณะที่ภาระผูกพันด้านสังคมก็คงต้องขยายตัวตามเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดูแลการใช้จ่ายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเต็มที่ รวมทั้งการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อหารายได้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศในระยะยาว
สำหรับการปฏิรูปภาษีนั้น หมายความรวมถึง การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ การขยายฐานภาษี และการเพิ่มภาษีชนิดใหม่ๆ ซึ่งอาจเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนบ้างในระยะสั้น โดยบางท่านอาจต้องเสียภาษี จากเดิมที่ไม่เคยเสีย หรืออาจต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จะช่วยลดภาระของทุกคนในระยะยาว เพิ่มความเป็นธรรมในสังคม และเสริมความแข็งแกร่งของฐานะการคลังโดยรวม
ในเวทีงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้ จึงได้มีการศึกษาเรื่อง “ความท้าทายของนโยบายการคลัง สู่ความยั่งยืนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว” ซึ่งเป็นงานศึกษาโดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย นับได้ว่าเป็นบทความร่วมครั้งแรกที่นำเสนอในเวทีนี้ เป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
เช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา ในส่วนสุดท้ายจะเป็นการเสวนาระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ในหัวข้อเดียวกับการสัมมนา ซึ่งก็คือ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า: Moving Thailand towards the Next Decade” โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายวงการผนึกกำลังความคิด รวมทั้งชี้ให้เห็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งท่านทั้งหลายคงเห็นด้วยกับดิฉันว่า ในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน ต่างมีบทบาทและหน้าที่ในการช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ โดยต้องทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน
หนึ่งทศวรรษอาจเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนัก แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่ายาวนานพอที่เราทั้งหลาย จะร่วมมือกันผลักดันให้ประเทศของเราเดินไปข้างหน้าได้อย่างก้าวกระโดด ในวันนี้ ทุกภาคส่วนต้องมองให้กว้าง มองให้ไกล ต้องเดินไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกันและเข้าสู่กระบวนการปรับตัว ที่อาจมีความลำบากหรือมีต้นทุนในระยะสั้นบ้าง แต่การลงทุนนี้ก็จะคุ้มค่าในระยะยาว สร้างทั้งโอกาสและความมั่นคงให้เราและรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต
ดิฉันขอถือโอกาสนี้ขอบคุณ ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้เกียรติมาเป็นผู้วิจารณ์และผู้ร่วมเสวนา มุมมองและวิสัยทัศน์ของท่านมีคุณค่ายิ่งต่องานสัมมนา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาในวันนี้และพรุ่งนี้ จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะมาบรรจบกับประสบการณ์ตรงในการดำเนินนโยบาย และเชื่อมโยงไปสู่ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดกลยุทธ์และแนวนโยบายของประเทศไทยต่อไป
ท้ายสุดนี้ ดิฉันขอเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อเรื่อง “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า” ณ บัดนี้
ขอบคุณค่ะ
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย