แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 30, 2010 17:02 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 42/2553

ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม โดยรวมยังคงขยายตัวดี ถึงแม้บางภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต และการส่งออก อัตราการขยายตัวเริ่มชะลอลงเข้าสู่แนวโน้มปกติ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง

ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดีและเศรษฐกิจขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้า จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ แต่จะชะลอลงบ้างในช่วงที่เหลือของปี

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งเสถียรภาพในประเทศและต่างประเทศ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อน เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ขยายตัวร้อยละ 8.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 โดยเฉพาะการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก อาทิ Hard Disk Drive ที่ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนจากฐานที่สูง และการเร่งผลิตเพื่อส่งออกในช่วงก่อนหน้า ด้านภาคเกษตรขยายตัวชะลอลงตามผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาเพลี้ยระบาดที่ส่งผลรุนแรงต่อผลผลิตมันสำปะหลัง ทำให้ผลผลิตภาคเกษตรหดตัว ร้อยละ 6.7 ขณะที่ราคาพืชผลยังขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 38.0 จากอุปสงค์โลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.8

อุปสงค์จากต่างประเทศ การขยายตัวเริ่มมีแนวโน้มชะลอลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงก่อนหน้า โดยการส่งออกเดือนนี้มีมูลค่า 16,292 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 23.6 และขยายตัวดีทุกหมวด ส่วนภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.3 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียนและจีน

อุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.7 เป็นผลจากรายได้ภาคเกษตร การจ้างงาน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศที่ขยายตัวดีตามภาวะเศรษฐกิจ และการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมปรับสูงขึ้นเช่นกัน เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งซื้อที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง สำหรับภาครัฐยังคงมีบทบาทสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการเบิกจ่ายโครงการไทยเข้มแข็ง อาทิ โครงการปัจจัยสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาครู และโครงการจัดหาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน

การนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 15,440 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 41.8 ขยายตัวสูงทุกหมวดสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วน น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าทุน

เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 6.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 แต่เมื่อรวมตั๋วแลกเงินแล้วขยายตัวร้อยละ 8.5 สะท้อนการย้ายเงินฝากของผู้ฝากเงินไปยังตั๋วแลกเงิน ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า ส่วนสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงินยังคงเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 9.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวจากเดือนก่อนตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และเงินทุนสำรองทางการอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ