มารู้จักกับศูนย์บริหารเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 28, 2010 09:51 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

มารู้จักกับศูนย์บริหารเงิน

นางสาวบริพร อุไรวัฒนา

ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา หลายๆ ท่านคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับศูนย์บริหารเงิน หรือ Treasury Center กันมาบ้าง แล้วท่านทราบหรือไม่ว่าศูนย์บริหารเงินคืออะไร และมีประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ และประเทศไทยอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับศูนย์บริหารเงินกันดีกว่า

ศูนย์บริหารเงิน เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของบริษัทไทยที่มีเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ หรือบริษัทข้ามชาติ (Multi-National Corporation : MNC) ในการบริหารจัดการรายได้ ค่าใช้จ่าย และธุรกรรมอื่น ๆ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ โดยศูนย์บริหารเงินสามารถทำหน้าที่ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การเป็นตัวแทนของกลุ่มบริษัทในการรับจ่ายค่าสินค้าบริการระหว่างประเทศ การหักกลบลบหนี้กับคู่ค้าในต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “Netting” การบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยให้กลุ่มบริษัทซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับศูนย์บริหารเงินแทนการซื้อขายกับสถาบันการเงิน ตลอดจน การบริหารสภาพคล่องให้กับกลุ่มบริษัท เช่น การกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากบริษัทในกลุ่มที่มีสภาพคล่องส่วนเกินไปให้กู้กับบริษัทในกลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง

บริษัทที่จัดตั้งศูนย์บริหารเงินจะได้รับประโยชน์หลายๆ ประการ อาทิ ช่วยลดต้นทุน ในการจัดการรายได้ ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากศูนย์บริหารเงินสามารถหักกลบลบหนี้ สกุลเงินตราต่างประเทศกับคู่ค้าในต่างประเทศได้ เช่น บริษัท ก. ต้องรับเงินค่าสินค้าส่งออกจากบริษัท A ในต่างประเทศเป็นจำนวน 100 ดอลลาร์ สรอ. และบริษัท ข. ต้องจ่ายเงินค่าสินค้านำเข้าให้กับบริษัท A จำนวน 60 ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งหากแต่ละบริษัททำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศแยกแต่ละรายการจะต้อง เสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร 2 รอบ แต่หากบริษัท ก. และ ข. เป็นบริษัทในกลุ่มของศูนย์บริหารเงิน ศูนย์บริหารเงินจะสามารถหักกลบรายการดังกล่าวแทนให้ และเหลือรายการที่ทำกับธนาคารเพียง 1 รายการคือรับเงินจากบริษัท A จำนวน 40 ดอลลาร์ สรอ. ประโยชน์อีกประการหนึ่ง คือช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารเงินตราต่างประเทศ โดยบริษัทในกลุ่มสามารถกู้หรือให้กู้ยืมระหว่างกัน โดยมีศูนย์บริหารเงินเป็นตัวกลาง ซึ่งหากไม่มีศูนย์บริหารเงิน แต่ละบริษัทต้องจัดการสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศด้วยตนเอง นอกจากนี้ การมีศูนย์บริหารเงินยังเท่ากับมีศูนย์กลางที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้แก่กลุ่มบริษัท ทาให้มีประสิทธิภาพกว่าให้แต่ละบริษัทบริหารกันเอง ซึ่งประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในระยะยาวด้วย

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์บริหารเงิน อาทิ ผ่อนคลายคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจัดตั้งศูนย์บริหารเงินให้จัดตั้งได้ง่ายขึ้น และขยายขอบเขตการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของศูนย์บริหารเงินให้ทำได้มากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น ความคล่องตัว ตลอดจน ประสิทธิภาพในการบริหารเงินตราต่างประเทศให้กับธุรกิจ ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบันที่ทุกคนต้องพยายามลดต้นทุนในการบริหารงาน นอกจากนี้ การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ศูนย์บริหารเงินยังสอดคล้องกับนโยบายทางการที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกิจในการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ แบบครบวงจร ซึ่งนอกจากศูนย์บริหารเงินแล้ว ทางการได้พยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบริการโดยส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarter: ROH)(*1) เพิ่มเติมจากการที่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติในหลายภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

หากท่านเป็นบริษัทไทยที่มีเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศหรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงินตราต่างประเทศ ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก call center ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ 0-2356-7799 หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซด์ ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th หรือ http://www2.bot.or.th/FIPCS/Thai/PFIPCS_List.aspx? docgroup=4

(*1) สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) คือสำนักงานที่ให้บริการกับบริษัทในเครือหรือสาขาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ด้านการบริหารองค์กรและวางแผนธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ การตลาด วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน การจัดการและควบคุมสินเชื่อ และบริการสนับสนุนด้านอื่นๆ ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม และการบริการทางเทคนิค
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2553

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ