การทดสอบภาวะวิกฤตของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 19, 2010 09:55 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

การทดสอบภาวะวิกฤตของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศยุโรป

นายศุภรัตน์ วรพันธ์

ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ด้านตรวจสอบแบบจำลองความเสี่ยง

สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2553 ที่ผ่านมา หลายท่านคงได้รับทราบผลการทดสอบภาวะวิกฤต ของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ในยุโรปกันไปบ้างแล้ว วันนี้ผมจึงขอสรุปเนื้อหาสำคัญของการทดสอบดังกล่าวเพื่อให้ท่านที่ไม่ได้ติดตามได้รับทราบด้วย

การทดสอบภาวะวิกฤตของ ธพ. ในยุโรปครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ The Committee of European Banking Supervisors (CEBS) กับ ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินในยุโรป 20 ประเทศ ได้จัดให้ มีการทดสอบภาวะวิกฤตของ ธพ. จำนวน 91 แห่ง เพื่อประเมินเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบ ธพ. ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนทางการเงินไปแล้วรวม 170 พันล้านยูโร และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน เจ้าหนี้ และนักลงทุนด้วย ซึ่งแตกต่างจากการทดสอบของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีที่ผ่านมาที่เป็นการประเมินเงินกองทุนของ ธพ. ในส่วนที่ยังไม่เพียงพอตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่ทางการกำหนดและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐบาล

การทดสอบครั้งนี้ครอบคลุมสินทรัพย์ประมาณร้อยละ 65 ของสินทรัพย์รวมของระบบ ธพ. ในยุโรป โดย CEBS ได้เน้นผลกระทบจากความเสี่ยงด้านเครดิต ตลาด และความเสี่ยงประเทศ (sovereign risk) ที่อาจเกิดขึ้นกับพอร์ตสินเชื่อและเงินลงทุน อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปเกิดภาวะ หดตัวซ้ำจากภาวะขาดความเชื่อมั่นและวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป โดยกำหนดเป็นสถานการณ์จำลองให้อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงจากสถานการณ์ในกรณีฐานที่ร้อยละ 0.7 เป็นร้อยละ -0.2 ในปี ค.ศ. 2010 และจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ -0.6 ในปี ค.ศ. 2011 แต่ไม่ได้กำหนดสถานการณ์กรณีที่มีการพักหรือผิดนัดชำระหนี้สำหรับประเทศในกลุ่มยุโรปไว้ด้วย

ผลการทดสอบที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2553 แสดงให้เห็นถึงประมาณการความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นรวม 566 พันล้านยูโร ในจำนวนดังกล่าวเป็นผลขาดทุนจากเงินให้สินเชื่อที่อาจด้อยคุณภาพ 473 พันล้านยูโร และจากเงินลงทุนในบัญชีเพื่อการค้า 67 พันล้านยูโร หรือคิดเป็นร้อยละ 84 และร้อยละ 12 ของประมาณการความเสียหายรวมตามลำดับ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่หนึ่ง ต่อ สินทรัพย์เสี่ยง (Tier 1 capital ratio) รวมของระบบ ธพ. ลดลงจากร้อยละ 10.3 ในปี ค.ศ. 2009 เหลือร้อยละ 9.2 ณ สิ้นปี ค.ศ. 2011 โดยมี ธพ. ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบ (เกณฑ์ขั้นต่ำต้องมี Tier 1 capital ratio ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6) รวม 7 แห่ง ประกอบด้วย ธพ. ของประเทศเยอรมนีและกรีซประเทศละ 1 แห่ง และ ธพ. ของสเปนอีก 5 แห่ง รวมส่วนของเงินกองทุนชั้น 1 ที่ยังไม่เพียงพอตามเกณฑ์ขั้นต่ำรวมประมาณ 3.5 พันล้านยูโร

จากผลการทดสอบข้างต้น ทำให้ตลาดในภาพรวมมีการตอบรับในเชิงบวกซึ่งอาจสังเกตได้จากค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และช่องว่างระหว่าง Credit default swap indexes ของประเทศสหรัฐ อเมริกา และประเทศในกลุ่มยุโรป ลดลงเหลือเพียง 0.7 basis points (ณ วันที่ 27 ก.ค. 2553) จากเดิมที่เคยแตกต่างกันมากถึง 23 basis points (ณ วันที่ 7 พ.ค. 2553) อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางกลุ่มยังคงมีมุมมอง ในเชิงลบ และได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงผลการทดสอบในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสถานการณ์จำลองที่ใช้ทดสอบ คือ

(1) การกำหนดสถานการณ์จำลองวิกฤตยังมีความรุนแรงไม่เพียงพอ เช่น ค่าที่ใช้ในการปรับลด (haircut) มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลกรีซ ที่ปัจจุบันมีการซื้อขายกันที่มูลค่าลดลงกว่าร้อยละ 60 หรือมากกว่า 3 เท่าของสมมติฐานที่ใช้ในการทดสอบ หรือความแตกต่างและไม่สมเหตุสมผลของสมมติฐานบางเรื่องในแต่ละประเทศ เช่น ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของกรีซที่ลดลงเพียงร้อยละ 2 เปรียบเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ที่ลดลงประมาณร้อยละ 5-10 และสเปนที่ลดลงถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ออสเตรียกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7

(2) สมมติฐานที่ว่าไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศในกลุ่มยุโรป ทำให้ไม่มีการคำนวณhaircut สำหรับฐานะในบัญชีเพื่อการธนาคารซี่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น รวมถึงประมาณการกำไร/ขาดทุนที่นำมาใช้ในการคำนวณฐานะเงินกองทุนที่อนุญาตให้ ธพ. สามารถประเมินกำไรจากธุรกิจอื่นที่อาจเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ และกรณี ธพ. ที่มีสาขาในต่างประเทศสามารถประเมินกำไรจากธุรกิจในภูมิภาคอื่นที่อาจไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์จำลองนี้ร่วมด้วยได้

สำหรับการทดสอบภาวะวิกฤตของไทยที่ผ่านมานั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เน้นในเรื่องของการกำหนดสถานการณ์จำลองให้มีความรุนแรงมากเพียงพอและให้มีความสมเหตุสมผลด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤตจากปัญหาสินเชื่อ Sub-prime mortgage ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาในช่วงปี 2551 — 2552 ธปท. ได้เคยทดสอบภาวะวิกฤตของระบบ ธพ. ไทยโดยกำหนดสถานการณ์จำลองที่มีความรุนแรงถึงขนาดให้อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบถึงร้อยละ 4 ในปี 2552 หรือกรณี ธพ. ในต่างประเทศประสบปัญหาทางการเงินซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อสาขา ในประเทศไทย ก็ได้กำหนดให้สาขา ธพ. ต่างประเทศในไทยทำการทดสอบภาวะวิกฤตด้านสภาพคล่องด้วยซึ่งใช้สมมติฐานเหตุการณ์ที่รุนแรง ผลการทดสอบปรากฏว่า ระบบ ธพ. ของไทย ยังคงมีฐานะเงินกองทุนและฐานะสภาพคล่องที่เข้มแข็งเพียงพอรองรับเหตุการณ์วิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ผมเชื่อว่า หากประเทศไทยได้มีการจัดทำ Stress test สำหรับสถาบันการเงินอย่างจริงจังและต่อเนื่องอย่างเช่นที่ผ่านมา จะช่วยให้เราได้รับทราบจุดอ่อนและสามารถหาแนวทางป้องกันปัญหาหรือลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ได้ก่อนซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกภาคส่วน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 19-21 สิงหาคม 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย





ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ