การคาดการณ์เศรษฐกิจของแบงก์ชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 09:58 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

การคาดการณ์เศรษฐกิจของแบงก์ชาติ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแบงก์ชาติจัดสัมมนาระบบฐานข้อมูล ในโอกาสครบรอบ 10 ปีคลังข้อมูล ซึ่งทำให้ระบบการเผยแพร่ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานอื่น และข้อมูลที่แบงก์ชาติจัดทำขึ้นเอง เพื่อให้ภาคธุรกิจได้รับข้อมูลเท่าเทียมกับที่แบงก์ชาติมีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมีข้อมูลพอเพียงประกอบการตัดสินใจ ผลพลอยได้ดังกล่าวยังทำให้สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวิเคราะห์และคาดการณ์เศรษฐกิจด้วย ทำให้ประมาณการเศรษฐกิจไม่ผูกขาด เฉพาะหน่วยราชการเช่นเดิม และภาคธุรกิจมีทางเลือกใช้ข้อมูลมากขึ้น

ผมเองบ่อยครั้งมีโอกาสไปบรรยายภายนอก มักได้รับคำถามเสมอว่าโหรทำนายเศรษฐกิจตอนนี้มีมากมายจะเชื่อใครดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ตอบยากมากและส่วนหนึ่งก็มีเรื่องความเชื่อหรือรสนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะแต่ละสำนักก็ใช้วิธีการประมาณที่ต่างกันไป ตั้งแต่ใช้แบบจำลองที่ซับซ้อนไปจนใช้มือจิ้มเอาก็มาก สำหรับภาคธุรกิจแล้วการคาดการณ์เศรษฐกิจมีผลในการตัดสินใจเชิงธุรกิจและการวางแผนในอนาคต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานใดก็ตามที่ต้องการเผยแพร่การคาดการณ์เศรษฐกิจต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการที่สมเหตุผล และได้ใช้ข้อมูลในขณะนั้นบวกกับวิจารณญาณในวิชาชีพอย่างเต็มที่แล้ว

ต้องยอมรับว่าการคาดการณ์เศรษฐกิจเป็นเรื่องในอนาคต ถูกผิดอย่างไรก็คงไม่มีใครสามารถรู้อนาคตได้แน่นอน สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ กระบวนการได้มาของการประมาณการนั้นได้กระทำอย่างถูกหลักการ เป็นวิทยาศาสตร์ รอบคอบ และมีการกลั่นกรองที่สมเหตุผลหรือไม่

ในแบงก์ชาติการประมาณการเศรษฐกิจมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1) ใช้ดำเนินนโยบายการเงิน และ 2) เผยแพร่ให้สาธารณะชนได้ใช้ประโยชน์ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน มีระบบตรวจสอบไขว้ และการระดมสมองจากเศรษฐกรผสมผสานกับผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ สำหรับเครื่องมือเชิงปริมาณ เราใช้แบบจำลองที่รู้จักกันในชื่อของแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยหลายสิบสมการที่แสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรในระบบเศรษฐกิจเพื่อจำลองการทำงานของเศรษฐกิจทั้งระบบว่าภายใต้สมมติฐาน (ตัวแปรภายนอก) ที่เราคาด จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เท่าใด และมีอัตราเงินเฟ้อเท่าใด เพราะฉะนั้นนอกจากต้องมีแบบจำลองที่ทันสมัยแล้ว กระบวนการในการกำหนดสมมติฐานก็มีส่วนสำคัญในการคาดการณ์เศรษฐกิจ สมมติฐานที่สำคัญ เช่น ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายภาครัฐ การกำหนดสมมติฐานจึงมีการกลั่นกรองกันหลายชั้น เริ่มตั้งแต่ประชุมผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน หลังจากนั้นก็มีการกลั่นกรองโดยทีมผู้บริหารระดับสูงก่อนที่จะนำสมมติฐานดังกล่าวไปใช้ในแบบจำลอง

ในขณะเดียวกันก็จะมีอีกฝ่ายงานหนึ่งทำงานคู่ขนานกันไป โดยจะติดตามและคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจรายเดือนและรายไตรมาส โดยใช้ความชำนาญของเศรษฐกรแต่ละสาขา และเพื่อให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น เราจะสอบถามความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรมทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดด้วยว่าสิ่งที่เราคาดการณ์นั้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เขาประสบอยู่จริงหรือไม่ อยากจะเรียนกับผู้อ่านว่าเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับข้อมูลจากภาคสนาม ในปีที่ผ่านมาเราออกไปพบกับผู้ประกอบการถึง 804 แห่ง ครึ่งปีนี้เราออกไปพบแล้ว 458 แห่ง นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการก็ยังต้องเดินสายออกพบผู้ประกอบการในต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคด้วย ในขั้นตอนสุดท้าย ข้อมูลดังกล่าวจะนำมาผนวกกับข้อมูลการคาดการณ์จากแบบจำลอง และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต่อไป ซึ่งในการพิจารณาของ กนง. คณะกรรมการอาจเชื่อ หรืออาจแก้ไขสมมติฐานก็ได้ และเนื่องจากกระบวนการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ซึ่งยึดหลักโปร่งใส จึงถือเป็นหน้าที่ของทั้ง กนง. และแบงก์ชาติที่ต้องเผยเพร่ข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งเหตุผลลงในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ (ซึ่งเผยแพร่ไตรมาสละครั้ง) และหากการคาดการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากคราวก่อน กนง. ก็ต้องอธิบายถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อด้วย ด้วยวิธีการนี้จะนำมาซึ่งความโปร่งใสสามารถอธิบายต่อสาธารณชนได้ตลอดเวลาว่าเราประเมินและคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอย่างไร เพราะเหตุใด

การคาดการณ์เศรษฐกิจของเราจึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะแข่งขันกับใคร อย่างไรก็ตามเนื่องจากปีนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากที่เศรษฐกิจติดลบในปีก่อน จึงทำให้ตัวเลขที่เราเผยแพร่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนเมษายนเราคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 4.3-5.8 ซึ่งค่อนข้างสูงกว่าสำนักอื่น จึงได้รับคำวิจารณ์ว่า แบงก์ชาติยุคใหม่ conservative น้อยลงไหม ต่อมาในช่วงปลายเดือนกรกฏาคมเราได้ปรับประมาณการใหม่เป็น 6.5-7.5 ซึ่งยังคงสูงกว่าสำนักอื่นและตามมาด้วยข้อท้วงติงเรื่อง ธปท. ไม่ conservative หรือเปล่าอีก แต่ปัจจุบันหลายสำนักเริ่มเห็นพ้องกันและปรับตัวเลขเข้ามาใกล้กับที่เราประกาศไปมากขึ้น ทำให้ระยะหลังผมเหนื่อยน้อยลงเพราะมีสำนักอื่นมาช่วยอธิบายแล้วว่าเศรษฐกิจปีนี้สามารถโตได้ร้อยละ 7 อย่างไรก็ตาม ข้อท้วงติงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทีมงาน และแม้กระทั่ง กนง. ต้องรับฟัง แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ เราไม่มีแนวคิดหรือเหตุผลใดๆ ที่จะทำตัวเลขให้ต่ำหรือสูงกว่าที่ควรจะเป็น และจากกระบวนการทำงานที่ได้อธิบายมาข้างต้น คงชัดเจนแล้วว่า แม้คิดจะทำก็ทำไม่ได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันอังคารที่ 24 สิงหาคม 2553

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ