การขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้จำเป็นเพียงใด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 10:00 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้จำเป็นเพียงใด

ปริเยศ พจชมานะวงศ์

เศรษฐกรอาวุโส ทีมกลยุทธ์นโยบายการเงิน 1

ธนาคารแห่งประเทศไทย

วิกฤตการเงินโลกที่ปะทุขึ้นในปี 2551 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง จากการชะลอตัวอย่างฉับพลันของความต้องการสินค้าส่งออกและการท่องเที่ยว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 1.00 ต่อปีในเดือนธันวาคม 2551 นับว่ามากที่สุดในประวัติการณ์ของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และต่อมาได้ปรับลดลงรวมกันอีกร้อยละ 1.50 ต่อปี ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 3 ครั้งถัดมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตและลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจขาลง

ต่อมา เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนจากระดับของเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน การขยายตัวของสินเชื่อ การท่องเที่ยว รวมถึง ภาคการส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่แท้จริง ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12 ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง และมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในระยะต่อไป ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ดังนั้น คณะกรรมการฯ ได้มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละร้อยละ 0.25 ต่อปี ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ถือเป็นการสิ้นสุดของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำพิเศษ ซึ่งได้อยู่ในระดับนี้มาเป็นเวลากว่าปีเศษ

หลายท่านอาจสงสัย เศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ทำไมจึงต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย รังแต่จะเป็นการเพิ่มภาระดอกเบี้ยให้แก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค

ความจำเป็นของการนำอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติและเหมาะสมกับภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันว่า Monetary Policy Normalization มีเหตุผลดังต่อไปนี้ 1) ระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ปกติ เพราะเป็นอัตราที่ต่ำเป็นพิเศษที่ใช้เพื่อประคับประคองในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหาจากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลก จึงน่าจะไม่เหมาะสมที่จะคงอัตราต่ำนี้ต่อไปในช่วงที่เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติและมีแนวโน้มจะขยายตัวเองได้ 2) อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานานเกินความจำเป็น จะก่อให้เกิดพฤติกรรมการเก็งกำไร และมีการใช้จ่ายที่เกินตัวจนต้องไปกู้หนี้ยืมสินที่เกินความเหมาะสม ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากนักลงทุนและประชาชนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคาร 3) นอกจากนี้ ภาคสถาบันการเงินก็อาจเกิดพฤติกรรมการเก็งกำไรได้เช่นกัน และอาจปล่อยสินเชื่อที่ต่ำกว่ามาตรฐานและไม่ระมัดระวัง เพราะเกรงว่าจะเสียสัดส่วนทางการตลาดสินเชื่อให้แก่คู่แข่ง เมื่อเป็นเช่นนี้อัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมจะมีมากขึ้น และส่งผลต่อฐานะของสถาบันการเงินได้ในระยะต่อไป

ดังนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นพิเศษเป็นระยะเวลานานเกินไป แทนที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่เศรษฐกิจและอาจจะต้องกลับมาแก้ไขปัญหากันในช่วงถัดไป ทั้งนี้แม้สัญญาณของการเกิดฟองสบู่ หรือพฤติกรรมการเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่าง ๆ ของประเทศไทยในขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนนัก แต่ไม่ใช่ว่าเราควรจะเพิกเฉยต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้ง เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ได้สะท้อนถึงการกลับเข้าสู่ภาวะปกติของเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยจะต้องกลับเข้าสู่ระดับปกติด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าดอกเบี้ยที่สูงขึ้นย่อมกระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยเป็นวัฏจักรที่มีขึ้นและลง ในช่วงดอกเบี้ยขาลงธุรกิจก็ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ช่วงขาขึ้นก็จะต้องปรับตัว เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างถาวรต่อการดำเนินธุรกิจ ในด้านผู้ที่ต้องพึ่งพารายได้ดอกเบี้ย เช่น ผู้สูงอายุ ก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงนี้

การดูแลเศรษฐกิจก็เปรียบเสมือนการควบคุมจังหวะดนตรีในวงออเคสตร้า หากไวทยากรเร่งให้นักดนตรีเล่นแต่จังหวะที่เร้าร้อน ย่อมทำให้ผู้ฟังรู้สึกตื่นเต้นและสนุก แต่นักตนตรีก็จะเล่นได้ไม่นานเพราะต้องใช้ความพยายามมาก แต่ถ้าคอยควบคุมให้มีจังหวะช้าและอ่อนนุ่มแทรกบ้างสลับกันไป ก็จะเป็นบทเพลงที่มีชีวิตชีวาและน่าฟัง และทำให้ผู้ฟังสามารถดื่มด่ำกับบทเพลงได้ยาวนานกว่า

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 กันยายน 2553

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ