ธปท. ปรับข้อมูลสินเชื่อการค้า (Trade Credit) ให้ทันสมัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 10:16 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 41 /2553

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ปรับการเผยแพร่ข้อมูลสินเชื่อการค้า รวมทั้งผลกระทบต่อข้อมูลเศรษฐกิจภาคต่างประเทศที่ ธปท. เผยแพร่รายเดือนให้ทันสมัย และสอดคล้องกับโครงสร้างการส่งออก-นำเข้าที่เปลี่ยนแปลงไป

สินเชื่อการค้ากับต่างประเทศ ทั้งด้านสินค้าเข้าซึ่งเป็นหนี้สินของประเทศ และด้านส่งออกซึ่งเป็นสินทรัพย์ของประเทศ มีความสำคัญมากในเชิงข้อมูลสถิติ เพราะปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงระดับหลายพันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี เนื่องจากมูลค่าสินเชื่อการค้าแปรผันไปกับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ทุกปี ปัจจุบัน ธปท. เผยแพร่ข้อมูลสินเชื่อการค้าไว้ในสถิติเศรษฐกิจภาคต่างประเทศ ทั้งดุลการชำระเงิน (ในส่วนของดุลเงินทุน) หนี้ต่างประเทศ และฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ

เนื่องจากโครงสร้างการส่งออก/นำเข้า และวิธีการชำระเงินปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพื่อให้ข้อมูลด้านโครงสร้างสินเชื่อการค้าสะท้อนภาวะปัจจุบัน ธปท. เริ่มสำรวจยอดคงค้างสินเชื่อการค้าจากผู้ส่งออก/นำเข้าโดยตรง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงล่าสุด ปี 2553 เพื่อยืนยันว่ายอดคงค้างที่ได้จากการสำรวจมีมูลค่าสูงกว่าข้อมูลที่เผยแพร่จริง รวมทั้งได้ปรับปรุงกรอบวิธีการสำรวจให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ธปท. มั่นใจว่า ข้อมูลสินเชื่อการค้าที่ได้จากการสำรวจตามหลักสากลทางสถิติถึง 5 ครั้งเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้อง สะท้อนขนาดธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง จึงได้นำข้อมูลสินเชื่อการค้าดังกล่าว ปรับใช้ในสถิติดุลการชำระเงิน หนี้ต่างประเทศ และฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ โดยปรับย้อนหลังถึงปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่ดำเนินการสำรวจฯ (รายละเอียดวิธีการสำรวจและการจัดทำ ข้อมูลสินเชื่อการค้า ได้นำเผยแพร่ไว้ใน BOT Website แล้ว ตาม Link ดังนี้ http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/Articles/Pages/StatArticles1.aspx ผลจากการปรับข้อมูลสินเชื่อการค้าที่ได้จากการสำรวจตั้งแต่ปี 2547-2552 แทนข้อมูลที่ได้เผยแพร่ ทำให้

  • ในปี 2552 สินเชื่อการค้าด้านหนี้สินเพิ่มขึ้น 6.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศของไทยในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากเดิม 69.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (กว่าร้อยละ 90 เป็นหนี้ระยะสั้น) เป็น 75.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเพิ่มขึ้น 5.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
  • หากพิจารณาในด้านสินทรัพย์แล้ว พบว่าในปี 2552 เพิ่มขึ้นถึง 13.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และในปี 2551 เพิ่มขึ้น 14.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศสุทธิ ณ สิ้นปี 2551 ปรับตัวดีขึ้น จากที่มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์อยู่ 14.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงเหลือเป็นมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ 10.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้ หากจะดูผลกระทบของสินเชื่อการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต้องดูผลสุทธิของสินเชื่อการค้า (ทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน) ที่ปรากฏในบัญชีฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (IIP) ด้วยจึงจะครบถ้วน
  • ดุลการชำระเงิน เปลี่ยนแปลงไปเฉพาะด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร และภาครัฐวิสาหกิจ โดยหากพิจารณาเฉพาะในรายการ Flow สินเชื่อการค้าแล้วจะพบว่า Flow ในปี 2552 เปลี่ยนจากเดิมที่เกินดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นขาดดุล 4.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจาก Flow ที่คำนวณขึ้นใหม่ด้านสินทรัพย์ (บันทึกเป็น Outflow ของประเทศ) เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก สอดคล้องกับมูลค่าการค้าที่เกินดุลต่อเนื่องในระดับสูงติดต่อกันหลายปี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการปรับข้อมูลเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ รายการอื่นๆ ให้สอดคล้องกับผลสำรวจ IIP ปี 2552 ด้วยแล้ว ส่งผลให้เงินทุน เคลื่อนย้ายฯ รวมของปี 2552 เปลี่ยนจากขาดดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นขาดดุล 3.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ