ธปท. ต้องมองกว้าง คิดไกล ไม่บิดเบือนความจริง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 30, 2010 10:19 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส

ผู้บริหารส่วน

ส่วนพยากรณ์เศรษฐกิจและวิเคราะห์เสถียรภาพ

ฝ่ายนโยบายการเงิน

สำหรับ ธปท. ขณะนี้คงไม่มีเสียงใดดังเท่ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ส่งออกที่กล่าวหาว่า ธปท. ไม่ทำงาน เพราะไม่แทรกแซงให้เงินบาทอ่อนค่าลง รวมไปถึงเสียงเรียกร้องให้ออกมาตรการอื่นเพื่อหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินบาท

จะว่าไปทุกครั้งที่เงินบาทแข็งค่าก็มีเสียงสะท้อนเช่นนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะต่อให้ผู้ส่งออกขายของได้จำนวนชิ้นเท่าเดิมเนื่องด้วยอุปสงค์ในตลาดโลกยังขยายตัว และเป็นที่ทราบกันดีว่าอุปสงค์ในตลาดโลกมีผลต่อการส่งออกมากกว่าปัจจัยค่าเงินเป็นไหนๆ แต่เมื่อแปลงรายได้เงินตราต่างประเทศกลับมาเป็นเงินบาท ผู้ส่งออกจะได้รับเงินบาทน้อยลง กำไรที่คิดเป็นเงินบาทน้อยลง สภาพคล่องลดลง ทำธุรกิจได้ยากขึ้น

แต่การที่ ธปท. จะทำตามคำเรียกร้องของผู้ส่งออกหรือไม่ มีข้อเท็จจริงอย่างน้อย 3 ประการที่ต้องคำนึงถึง

ประการแรก ค่าเงินบาทเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง มีทั้งผู้ที่เสียประโยชน์และได้ประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่า ดังนั้น ในขณะที่ฟังเสียงบ่นของผู้ส่งออก ต้องไม่ลืมนึกไปถึงผู้บริโภคที่ซื้อน้ำมันได้ในราคาที่ถูกลง ผู้ผลิตที่นำเข้าวัตถุดิบ เช่น ปุ๋ย ได้ถูกลง ผู้ประกอบการที่ซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศมาปรับปรุงกระบวนการผลิตและเพิ่มคุณภาพสินค้าได้สะดวกขึ้น รวมไปถึงลูกหนี้ที่จะจ่ายเงินบาทน้อยลงเมื่อมีการคืนหนี้ต่างประเทศ

ประการที่สอง จริงอยู่ว่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจจะไม่ดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะทำให้ภาคส่งออกลำบากขึ้น แต่สิ่งที่จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง คือ การติดอยู่ในกับดักของระยะสั้น คิดแต่ประโยชน์ในระยะสั้นๆ แทนที่จะคิดว่าในอีก 5 — 10 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะยืนอยู่บนเวทีการค้าโลกที่นับวันจะมีแต่การแข่งขันรุนแรงขึ้นได้อย่างไร ประเทศไทยไม่ได้มีปัจจัยแรงงานหรือทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือเฟือเหมือนบางประเทศ นับวันโอกาสที่จะสู้ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำมีแต่จะหมดไป ดังนั้น หนทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ต่อไปภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ คือ การสู้ด้วยคุณภาพสินค้า ซึ่งต้องมาพร้อมกับการลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและเครื่องจักร ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นขณะนี้จะเอื้อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทำสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้น ผลดีที่จะเกิดต่อศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาวต้องนำมาชั่งน้ำหนักกับผลเสียในระยะสั้นด้วย

ประการที่สาม ความสามารถในการฝืนโลกมีจำกัด ใครที่ติดตามดูงบดุลของ ธปท. จะเห็นชัดเจนว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อ “ซื้อเวลา” ให้ภาคเศรษฐกิจจริงปรับตัวต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ข้อเท็จจริงที่ว่าเงินทุนไหลเข้าเพิ่งมารุนแรงในช่วงไม่นานมานี้ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองยุติ แต่ ธปท. ได้แทรกแซงเงินบาทต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ชี้ให้เห็นว่าแรงผลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าไม่ได้มาจากเงินทุนไหลเข้าเท่านั้น แต่เป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งส่วนนี้มาจากรายได้เงินตราต่างประเทศของคนไทยกันเอง

แม้เงินตราต่างประเทศที่ ธปท. ซื้อมาแล้วมีจำนวนมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถหยุดแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทได้ คล้ายกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีการเข้าแทรกแซงแต่ค่าเงินยังแข็งขึ้นถ้วนหน้า เพราะตราบใดที่ประเทศมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และดูท่าว่าจะมีอัตราการเติบโตโดดเด่นเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก ค่าเงินควรจะแข็งขึ้นเพื่อสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี เหมือนกับคนทำงานเก่งที่ค่าตัวก็ควรจะแพงขึ้น ไม่ใช่ถูกลงหรือเท่าเดิม

เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงทั้ง 3 ประการนี้แล้ว ธปท. ควรยึดหลักการใดในการดำเนินนโยบาย

ในความเห็นของผู้เขียน อย่างแรก ธปท. ในฐานะธนาคารกลางควรมีความเป็นกลาง ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่ต้องคิดถึงคนทุกกลุ่ม ทำให้ต้องมีจิตใจหนักแน่น ไม่ซวดเซเพราะคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่รับฟังนำมาตรึกตรองพิจารณา อย่างที่สอง ธปท. มีข้อมูลและมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลกในอนาคต ตลอดจนผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย ต้องช่วยมองไปข้างหน้าไกลๆ และชั่งน้ำหนักให้รอบคอบระหว่างผลในระยะสั้นกับผลในระยะยาว และอย่างที่สาม เมื่อรู้ว่าการฝืนโลกหรือการฝืนธรรมชาติเป็นไปไม่ได้อย่างจีรังยั่งยืน ธปท. ต้องไม่กระทำสิ่งใดหรือสื่อสารกับผู้ประกอบการและประชาชนในเชิงให้ความหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น การให้ความหวังว่า ธปท. สามารถฝืนให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจได้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดความนิ่งนอนใจ การปรับตัวต่างๆ ที่ควรเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแทนที่จะถูกเร่งรัดให้ทันการณ์กลับจะยิ่งล่าช้าออกไป

ดังนั้น ในภาวะปัจจุบัน ธปท. ต้องรับแรงกดดันมาก เพราะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีกับผลเสีย ทั้งในมุมมองที่กว้าง มุมมองที่ไกล รวมถึงต้องสื่อสารกับสาธารณชนแบบไม่สร้างความคาดหวังที่เกินจริง โดย ธปท. ไม่สามารถดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในระบบเศรษฐกิจ เพราะชัดเจนแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้

โอกาสหน้ามาคุยกันต่อว่า ธปท. ควรทำอะไรให้เป็นรูปธรรม และผู้ส่งออกควรทำอย่างไรในภาวะที่ท้าทายนี้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 29 กันยายน 2553

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ