สรุปผลการประเมินการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระจากต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 4, 2010 10:37 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 46/2553

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงผลการประเมินการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (2543-2553) โดยผู้เชี่ยวชาญอิสระจากต่างประเทศ สาระสำคัญมีดังนี้

ที่มา และวัตถุประสงค์ของการประเมิน

ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อครบ 10 ปี ในปีนี้ จึงเห็นควรจัดให้มีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระเพื่อตอบคำถามว่า ภายใต้สภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กรอบนโยบายการเงินดังกล่าวยังมีความเหมาะสมกับประเทศไทยอยู่หรือไม่ และมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร โดยเน้นการประเมินในด้านต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

  • ประสิทธิผลของการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
  • ความพอเพียงของเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงิน
  • กระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน
  • ข้อมูลและแบบจำลองที่ใช้
  • การสื่อสารกับสาธารณชน
  • ความสัมพันธ์ของนโยบายการเงินกับนโยบายเศรษฐกิจอื่น เช่น การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน
ผู้เชี่ยวชาญอิสระ

(1) Dr. Stephen Grenville ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร ศาสตราจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย นักวิชาการเกียรติคุณ Lowy Institute for International Policy และ อดีตรองผู้ว่าการและคณะกรรมการธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA)

(2) Professor Takatoshi Ito ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น และที่ปรึกษาอาวุโส ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

สรุปผลการประเมินโดยสังเขป

1. โดยรวมแล้ว ผู้ประเมินเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ในด้านกระบวนการตัดสินใจ ความพอเพียงของเครื่องมือ ข้อมูลและแบบจำลองที่ใช้ในการดำเนินนโยบาย ตลอดจนการสื่อสารกับสาธารณชน อยู่ในเกณฑ์ที่ดีสอดคล้องกับมาตรฐานสากลสูงสุด (Best International Practices) และเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ยังเหมาะสมกับประเทศไทยในระยะต่อไป

2. ธปท. ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา (Price stability) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยอยู่ภายในกรอบเป้าหมายร้อยละ 90 ของเวลาที่ได้ดำเนินนโยบาย และที่ออกนอกเป้าหมายก็เป็นด้านที่ต่ำกว่าเป้า

3. แม้ธปท. จะนำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่ผ่านมานับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เฉลี่ยที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี ซึ่งผู้ประเมินเห็นว่าน่าจะสูงกว่านี้ ถ้าไม่เกิดวิกฤตการเงินโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศ

4. การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ไม่ได้ขัดกับการดำเนินงานในด้านอื่นของ ธปท. ทั้ง การรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินหรือ ด้านการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ วิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมาทำให้ผู้ประเมินมีความเห็นว่า การที่งานด้านกำกับดูแลสถาบันการเงินยังอยู่ที่ธนาคารกลางน่าจะเป็นข้อดี ในด้านการแก้ไขปัญหาที่จะสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว

ข้อเสนอแนะของผู้ประเมิน
  • ผู้ประเมิน มีความเห็นว่ากรอบนโยบายการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว แต่ได้ให้ข้อเสนอแนะที่อาจจะนำมาปรับปรุงให้กระบวนการดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในบางจุด อาทิ
  • เป้าหมายเงินเฟ้อ ควรจะให้ความสำคัญกับค่ากลางของเป้าหมายเพื่อลดโอกาสที่สาธารณชนอาจเข้าใจผิดว่าขอบบนของช่วงเป้าหมายเป็นสิ่งที่ กนง. คาดหวังที่จะเห็น และปรับขอบล่างของช่วงเป้าหมายขึ้นเพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาเงินฝืด
  • การสื่อสาร กนง. ควรจะสื่อสารกับสาธารณชนมากขึ้นถึงทิศทางนโยบายการเงิน และ อาจพิจารณาเปิดเผยผลการลงมติ และรายงานการประชุม ของ กนง. ในเวลาอันควร
  • การนำมาตรการ Macro-prudentials มาใช้ประกอบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อลดโอกาสการเกิดความไม่สมดุลทางการเงิน
  • ข้อมูล อาจปรับปรุงข้อมูลเรื่องการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน
  • แบบจำลองทางเศรษฐกิจที่ใช้ อาจปรับปรุงข้อสมมติที่ใช้ในการทำประมาณการทางเศรษฐกิจบางประการ

ทั้งนี้ ธปท. จะได้ศึกษาข้อเสนอแนะของรายงานโดยละเอียด เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงินพิจารณาความเหมาะสมของการดำเนินการในขั้นต่อไป

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้จากเวปไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th

          ข้อมูลเพิ่มเติม : ทีมกลยุทธ์นโยบายการเงิน 1 โทร: 0 2283 5621, 02283 6186 e-mail:           MonetaryPolicyStrategyTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ