นายสาคร ศรีสวัสดิ์
ผู้วิเคราะห์อาวุโส
ทีมนโยบายและความเสี่ยงระบบการชำระเงิน
การปรับปรุงโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ธปท.และธนาคารพาณิชย์ได้หารือร่วมกันผ่านมา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบการชำระเงินไทยที่ต้องการให้มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นและลดการใช้เงินสดและเช็ค
เป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกคือ การทำให้ประเทศไทยเป็นเขตการชำระเงินเดียวทั้งประเทศ จากปัจจุบันที่การคิดค่าธรรมเนียมขึ้นกับเขตสำนักหักบัญชี (ปัจจุบันมี 85 เขตทั่วประเทศ ส่วนใหญ่แบ่งตามพื้นที่จังหวัด) การมีค่าธรรมเนียมโอนและถอนเงินข้ามเขตสำนักหักบัญชี ทำให้ผู้ใช้บริการมีต้นทุนสูง ลูกค้าจำนวนไม่น้อยจึงเลี่ยงค่าธรรมเนียมด้วยการเปิดบัญชีกับหลายธนาคารในหลายจังหวัด และการบริหารเงินระหว่างบัญชีด้วยการใช้เช็คหรือขนเงินสดข้ามจังหวัด ก่อให้เกิดภาระในการจัดการรวมถึงมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมและการทุจริต ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีค่าธรรมเนียมข้ามเขต ขณะที่ประเทศที่มีระดับเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยไม่มีค่าธรรมเนียมนี้แล้ว
ในการปรับค่าธรรมเนียมนั้น ธปท.คำนึงถึงผลประโยชน์รวมของประเทศ ความเป็นธรรมทั้งต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ และการเข้าถึงบริการการเงินของผู้ใช้บริการ ผลที่ออกมาจึงมีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ อย่างไรก็ดี ลูกค้าที่เสียประโยชน์ก็ยังมีทางเลือกพอที่จะปรับตัวได้ เช่น
1) ค่าธรรมเนียมถอนเงิน/ถามยอดต่างธนาคารฟรี 4 ครั้งแรก เป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการในต่างจังหวัดไม่เคยได้รับ จากเดิมที่ต้องจ่ายขั้นต่ำ 20-25 บาทตั้งแต่รายการแรก และจ่ายเพิ่มอีก 5 บาทเมื่อใช้บริการตั้งแต่ครั้งที่ 5 ของเดือนเป็นต้นไป หากไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็ต้องหาเครื่อง ATM ของธนาคารตนเองไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลแค่ไหน ขณะที่ผู้ใช้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑลได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม 4 ครั้งแรก และจ่าย 5 บาทเมื่อใช้บริการครั้งที่ 5 เป็นต้นไป ผู้ใช้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจึงมีทางเลือกที่ดีกว่า การปรับค่าธรรมเนียมตั้งแต่ครั้งที่ 5 จาก 5 บาทเป็นไม่เกิน 10 บาทนั้น ผู้ใช้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑลอาจต้องปรับตัวบ้าง เช่น เลือกใช้เครื่อง ATM ของธนาคารตนเองและใช้เครื่องต่างธนาคารเมื่อจำเป็น ซึ่งปัจจุบันเครื่อง ATM ในกรุงเทพฯมีมากถึง 14,000 เครื่องหรือประมาณร้อยละ 35 ของทั้งประเทศ น่าจะรองรับความต้องการได้เพียงพอ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์บางแห่งยังให้บริการถอนเงินที่เครื่อง ATM ของธนาคารอื่นๆ ได้ฟรีไม่จำกัดจำนวน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ถอนเงินบ่อยๆ
2) การโอนเงินในธนาคารเดียวกันข้ามเขตที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมในครั้งแรกของแต่ละเดือนและครั้งต่อไปจ่ายไม่เกิน 15 บาท จากเดิมที่จ่าย 20 — 1,000 บาท ตามจำนวนเงินที่โอน จะทำให้ คนทำงานหรือผู้ปกครองที่โอนเงินกลับบ้านหรือส่งเงินให้ลูกหลานที่ศึกษาอยู่ต่างจังหวัดมีค่าใช้จ่ายถูกลงเพราะคิดเป็นต่อครั้งที่โอน โดยไม่ขึ้นกับมูลค่าการโอนเงินหรือถอนเงิน
นอกจากการปรับตัวของลูกค้าผู้ใช้บริการแล้ว ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้า และรายได้ ดังจะเห็นได้จากภายหลังการประกาศปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม ธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้ประกาศลดค่าธรรมเนียมให้ต่ำกว่าเพดานที่ประกาศและลดค่าธรรมเนียมบริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น Internet/Mobile Banking ซี่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น
สำหรับ ธปท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็จะส่งเสริมการแข่งขันดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนให้ลูกค้ามีข้อมูลอย่างเพียงพอในการพิจารณาเลือกใช้บริการ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้ ธปท. ได้เผยแพร่ข้อมูลค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินเพื่อให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น จาก www.bot.or.th ภายใต้หัวข้อ "อัตราค่าธรรมเนียม"
ตารางการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมบริการชำระเงินและกำหนดเวลา
ประเภทบริการ (กำหนดเริ่มใช้) ค่าธรรมเนียมใหม่ ค่าธรรมเนียมก่อนปรับ 1. NITMX Bulk payment - Credit 12 บาท/รายการ 12, 40, 100 บาท Transfer (15 ธันวาคม 2553) (จำกัดการโอนไม่เกิน 2 ลบ./รายการ) ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่โอน 2. โอนเงินผ่าน ATM ธ.เดียวกันข้ามเขต ฟรีครั้งแรกของเดือน 20 — 1,010 บาท (ภายในไตรมาส1 ปี 2554) ครั้งต่อไปคิดไม่เกิน 15 บาท 3. ถอนเงินผ่าน ATM ธ.เดียวกันข้ามเขต ไม่เกิน 15 บาท/รายการ 20 — 1,010 บาท (ภายในไตรมาส1 ปี 2554) 4. ถอน/ถามยอดผ่าน ATM ต่างธนาคาร ฟรี 4 ครั้ง/เดือน, ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ ในจังหวัดเดียวกัน ขึ้นไปคิดไม่เกิน 10 บาท/รายการ - ฟรี 4 ครั้ง/เดือน ครั้งที่ 5 คิดครั้งละ 5 บาท (ประมาณไตรมาส 2 ปี 2554) (เหมือนกันทั้งในกทม. /จังหวัดอื่น) ต่างจังหวัด - ถอน 20 - 25 บาทต่อครั้ง ครั้งที่ 5 ขึ้นไป เพิ่ม 5 บาท 5. ถอนเงินผ่าน ATM ต่างธนาคารข้ามเขต/ 1 ไม่เกิน 20 บาท/รายการ 20 - 25 บาทต่อครั้ง และเพิ่มขึ้น (ประมาณไตรมาส 2 ปี 2554) ตั้งแต่ครั้งที่ 5 เป็นต้นไป อีกครั้งละ 5 บาท หมายเหตุ 1/ การทำรายการในข้อ 5 ผู้ใช้บริการจะมีค่าธรรมเนียมต่างธนาคารไม่เกิน 10 บาท/รายการตั้งแต่รายการที่ 5 เป็นต้นไป โดยการนับจำนวนรายการนับรวมการทำรายการในข้อ 4 และข้อ 5 บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย