ค่าเงินบาท: ความจริงของเหรียญ 2 ด้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 24, 2010 10:18 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวนันทพร พงศ์พัฒนานนท์

เศรษฐกร ทีมวิเคราะห์ดุลการชำระเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องที่เป็นประเด็นร้อนและถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ คือ ทำไมเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ใครจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และบทบาทของธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

ก่อนอื่น ดิฉันขอตอบคำถามแรกก่อนว่าอะไรคือสาเหตุที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับแต่ต้นปีเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 7.5 (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ย. 53) เทียบกับ มาเลย์เซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่แข็งขึ้นร้อยละ 8.7 4.7 3.9 และ 3.6 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าค่าเงินแข็งขึ้นทั้งภูมิภาค ปัจจัยหลัก ได้แก่ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตรของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจของเอเชียที่ฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินโลกได้รวดเร็วกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ผนวกกับดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลต่อเนื่อง

การแข็งค่าของเงินบาทมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้ลงทุนและผู้ที่กู้เงินตราต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดต่อผู้ที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียจากทิศทางค่าเงินบาท วันนี้จึงขอมาเล่ารายละเอียดให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกัน

ข้อเท็จจริงที่ 1 หากค่าเงินบาทแข็งจะทำให้ภาคส่งออกมีรายได้ในรูปเงินบาทลดลง อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของผลกระทบก็จะลดหลั่นลงไปตามสัดส่วนความเข้มข้นของการนำเข้าสินค้าเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าส่งออก (Import content of export) หากการผลิตดังกล่าวมี Import content สูง เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะถูกกระทบไม่มาก เมื่อเทียบกับผู้ส่งออกที่มี Import content ต เช่น สิ่งทอ เครื่องเรือน น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับภาคท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจชะลอลงบ้าง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องจากราคาหรือค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวจะแพงขึ้นในสายตาของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวเอเชียน่าจะถูกกระทบน้อยกว่า เนื่องจากค่าเงินในเอเชียก็แข็งขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาของแบงก์ชาติ พบว่ายังมีปัจจัยที่สำคัญต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยมากกว่าค่าเงินบาท คือ ความต้องการหรือรายได้ของประเทศคู่ค้า ซึ่งที่ผ่านมา

ได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย อาทิ จีนและกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นคู่ค้าและตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญของไทยในระยะหลังนี้ ข้อเท็จจริงที่ 2 เงินบาทที่แข็งค่ามักถูกกล่าวขานถึงแต่ผลเสีย ซึ่งที่จริงผลดีก็มีด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ผู้นำเข้าจะได้ประโยชน์จากบาทแข็ง เนื่องจากราคาสินค้าจากต่างประเทศจะถูกลง เอื้อให้ผู้นำเข้าที่ต้องการจะพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตของตนสามารถนำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง ท้ายที่สุดก็จะเป็นการเกื้อหนุนการลงทุนของไทยในอนาคตด้วยอีกทางหนึ่ง สำหรับราคาน้ำมันที่ต้องนำเข้าก็จะถูกลงเช่นกันและจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงได้ หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5 ราคาน้ำมันในประเทศจะลดลงประมาณ 0.8-1.0 บาทต่อลิตร (อิงจากราคาน้ำมันดิบ 70-85 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งลดลงตาม นอกจากนี้ ยังเป็นผลดีต่อผู้ที่จะชำระหนี้ต่างประเทศในระยะนี้ เพราะใช้เงินบาทที่น้อยลงมาแลกเป็นดอลลาร์ สรอ.

ทิศทางค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งมีทั้งกลุ่มคนที่ได้และเสียเสมอ ทำให้แบงก์ชาติพยายามดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยจะรองรับได้ รวมทั้งให้เอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ก็จะไม่พยายามบิดเบือนตลาดและทำให้เงินบาทอ่อนหรือแข็งกว่าที่ควรจะเป็น หากค่าเงินบาทอ่อนกว่าที่ควรจะเป็นจะส่งผลให้ราคาสินค้าที่นำเข้าแพงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อโน้มสูงขึ้นและไม่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งจะมีผลให้การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตช้ากว่าที่ควรจะเป็น และในระยะยาวจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่หากเงินบาทแข็งค่ากว่าที่ควรจะเป็น จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และในที่สุดจะกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงพบว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเงินบาทเริ่มแข็งค่านั้น ภาคการผลิตและส่งออกไทยได้ทยอยปรับตัวมาโดยตลอดเช่นกัน สะท้อนจากการส่งออกของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยใน 7 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกเติบโตถึงร้อยละ 34.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาคเอกชนควรเร่งทำในระยะถัดไปเพื่อบริหารความเสี่ยงจากค่าเงิน คือ การพัฒนาศักยภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออกให้มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น เพิ่มคุณภาพและลดต้นทุน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกในระยะยาว

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 21 กันยายน 2553

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ