การอนุญาตให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday April 20, 2005 06:22 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                        20  เมษายน  2548 
เรียน ผู้จัดการ บริษัทประกันชีวิตทุกแห่ง
เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม
ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ที่ ธปท.ฝกก.(03) ว.723 /2548 เรื่อง การอนุญาตให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและอายุการอนุญาตสิ้นสุดเมื่อสิ้นปี 2547 แล้วนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่องและเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การลงทุนในตลาดต่างประเทศรวมทั้งเพิ่มช่องทางการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ในปี 2548 ธปท. จะผ่อนผันให้ ผู้ลงทุนประเภทสถาบันลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศในกรอบและเงื่อนไข ดังนี้
1. ผู้ลงทุนประเภทสถาบันที่อนุญาตให้ลงทุน ประกอบด้วย 1) บริษัทประกันชีวิต2) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 3) กองทุนประกันสังคม และ 4) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง
2. ประเภทหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ลงทุน
2.1 ตราสารหนี้ไทยที่ออกเป็นเงินตราต่างประเทศ และออกจำหน่ายในต่างประเทศ ได้แก่ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย รัฐวิสาหกิจไทย ธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ไทย
ในต่างประเทศ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง หรือเอกชนไทย
2.2 หลักทรัพย์ต่างประเทศ ได้แก่
(1) ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือรัฐวิสาหกิจต่างประเทศ ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade โดยสถาบัน จัดอันดับที่ได้รับการยอมรับสากล ทั้งนี้ หากตราสารหนี้รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไว้ ให้ใช้การจัดอันดับที่สถาบันผู้ออกตราสารหนี้ได้รับ
(2)หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ หน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International
Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือออกจำหน่ายในประเทศที่มีตลาดซื้อขาย
หลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุน
รวมประเภทเฮดจ์ฟันด์ (hedge fund) และกองทุนรวมดังกล่าวต้องลงทุนในตราสารหนี้ตามข้อ 2.1 หรือ
2.2(1) เท่านั้น
3. ผู้ประสงค์ลงทุนให้ยื่นหนังสือขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินโดยระบุวงเงินที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ไทยหรือวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ชัดเจนพร้อมรายละเอียด อาทิ ความพร้อมที่จะลงทุน ข้อจำกัดทางกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผู้ยื่นขออนุญาต ภายในวันที่ 30 เมษายน 2548
4. การระบุวงเงินขออนุญาตให้ระบุเท่าที่ผู้ลงทุนมีความสามารถและพร้อมจะลงทุนได้ภายในสิ้นปี 2548 หากได้รับอนุญาตแล้วลงทุนได้ไม่สอดคล้องกับวงเงินที่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานควบคุม การแลกเปลี่ยนเงินอาจจะพิจารณาขอคืนวงเงินอนุญาตและจะมีผลต่อการพิจารณาอนุญาตในครั้งต่อไป
5. เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินจะพิจารณาอนุญาตเฉพาะผู้ยื่นหนังสือขออนุญาตที่มีความพร้อมลงทุนและกฎหมายและผู้กำกับดูแลผู้ลงทุนอนุญาตแล้วเท่านั้น
6. เมื่อผู้ลงทุนได้รับอนุญาตและจัดการลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนต้องจัดทำรายงานผลการลงทุนตามแบบที่กำหนด ส่งให้เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามที่กำหนด
7. ผู้ได้รับอนุญาตต้องบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนให้เหมาะสม เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ลงทุนและเจ้าของเงินออม โดยผู้ลงทุนต้องแจ้งเจ้าของเงินออมให้ทราบถึง ความเสี่ยงที่มีจากการลงทุนดังกล่าวด้วย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวนิตยา พิบูลย์รัตนกิจ)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
ฝ่ายกลยุทธ์และกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน
สายตลาดการเงิน
โทร. 0-2356-7636
สกงว90-กส51003-25480421

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ