การออกประกาศกระทรวงการคลังและประกาศเจ้าพนักงานควมคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday January 12, 2007 11:28 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                  12 มกราคม 2550 
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ที่ ฝกช.(02)ว.18/2550 เรื่อง การออกประกาศกระทรวงการคลังและประกาศเจ้าพนักงานควมคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
ด้วยกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลังจำนวน 2 ฉบับตามแนบ และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินจำนวน 3 ฉบับตามแนบเพื่อผ่อนคลายระเบียบการส่งเงินไปลงทุนโดยตรงหรือให้กู้ยืมในต่างประเทศ บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ และการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ดังนี้
1.ผ่อนผันให้บุคคลไทยส่งเงินไปลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในต่างประเทศที่บุคคลไทยถือหุ้นหรือมีส่วนเป็นเจ้าของไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ในวงเงินที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดต่อรายต่อปี เป็นไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดต่อรายปี
2.ผ่อนผันให้บุคคลไทยส่งเงินไปลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในต่างประเทศที่ถือหุ้นหรือมีส่วนเป็นเจ้าของกิจการของบุคคลไทยดังกล่าวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าอัตราตลาดต่อรายปี
3.ผ่อนผันให้บุคคลไทยฝากเงินตราต่างประเทศเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศในกรณีที่ไม่สามารถแสดงภาระผูกพันได้โดยต้องเปิดเป็นบัญชีเฉพาะและต้องมียอดคงเหลือในบัญชีดังกล่าวไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดสำหรับผู้ฝากที่เป็นนิติบุคคล และไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดสำหรับผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดา
4.ผ่อนผันให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่กำหนดส่งเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยมียอดคงค้างการลงทุนไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดตามเงื่อนไขที่กำหนด
จึงขอประกาศกระทรวงการคลังและประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามที่กล่าวข้างต้นเพื่อทราบและโปรดแจ้งให้ลูกค้าของท่านได้ทราบโดยทั่วกัน
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวนิตยา พิบูลย์รัตนกิจ)
เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต(ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 10 มกราคม 2550
2.ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาติ(ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 11 มกราคม 2550
3.ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน
(ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 12 มกราคม 2550
4.ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน
(ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 12 มกราคม 2550
5.ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนใน
หลักทรัพย์ต่างประเทศ ลงวันที่ 12 มกราคม 2550
ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ
สายตลาดการเงิน
โทรศัพท์ 0-2356-7345-6
โทรสาร 0-2356-7945
หมายเหตุ: ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศกระทรวงการคลัง
เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต
(ฉบับที่ 3)
____________________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13(พ.ศ.2497) ออกตาความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศข้อกำหนดเป็นคำสั่งซึ่งตัวแทนรับอนุญาตจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 12(1) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน
"(1) เพื่อลงทุนในกิจการที่ต่างประเทศหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือที่ต่างประเทศ ต้องปฏิบัติดังนี้
(ก) การส่งเงินไปลงทุนในกิจการที่ต่างประเทศโดยจัดตั้งกิจการในต่างประเทศหรือเข้าร่วมลงทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลในต่างประเทศ และมีสัดส่วนการถือหุ้นหรือมีส่วนเป็นเจ้าของกิจการที่ต่างประเทศดังกล่าวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทุนทั้งหมดของกิจการนั้น หรือการส่งเงินไปให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือที่ต่างประเทศที่เป็นสำนักงานสาขาหรือตัวแทนที่อยู่นอกประเทศของนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ห้างหุ้นส่วนในต่างประเทศที่ผู้ให้กู้เป็นหุ้นส่วนรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทุนทั้งหมดของห้างนั้น บริษัทจำกัดในต่างประเทศที่ผู้ให้กู้ถือหุ้นรวมกัน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทุนทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น และกิจการในต่างประเทศที่ผู้ให้กู้มีส่วนเป็นเจ้าของไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทุนทั้งหมดของกิจการนั้น ในวงเงินไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาด
ทั้งนี้ กิจการที่ต่างประเทศและกิจการในเครือที่ต่างประเทศจะต้องไม่ได้ประกอบธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ และสัดส่วนการถือหุ้นให้นับต่อหนึ่งราย
(ข) การส่งเงินไปลงทุนในกิจการที่ต่างประเทศโดยจัดตั้งกิจการในต่างประเทศหรือเข้าร่วมลงทุนกับนิติบุคคลในต่างประเทศ โดยกิจการที่ต่างประเทศหรือนิติบุคคลในต่างประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนการถือหุ้นหรือมีส่วนเป็นเจ้าของในกิจการของผู้ลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทุนทั้งหมด หรือการส่งเงินไปให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือที่ต่างประเทศที่เป็นห้างหุ้นส่วนในต่างประเทศ บริษัทจำกัดในต่างประเทศ และกิจการในต่างประเทศ ที่เป็นหุ้นส่วน ถือหุ้น หรือมีส่วนเป็นเจ้าของในกิจการของผู้ให้กู้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทุนทั้งหมด ในวงเงินไม่เกินปีละ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาด
ทั้งนี้ กิจการที่ต่างประเทศและกิจการในเครือที่ต่างประเทศจะต้องไม่ได้ประกอบธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ และสัดส่วนการถือหุ้นให้นับต่อหนึ่งราย"
ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2550
(หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประกาศกระทรวงการคลัง
เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต
(ฉบับที่ 4)
__________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13(พ.ศ.2497) ออกตาความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศข้อกำหนดเป็นคำสั่งซึ่งตัวแทนรับอนุญาตจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 13 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน
"ข้อ 13 ในการขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศหรือเพื่อวัตถุประสงค์ตามข้อ 12(1) ถึง (5) แต่มีจำนวนเกินกว่าที่ระบุไว้ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่เจ้าพนักงานกำหนดให้ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงาน ตัวแทนรับอนุญาตต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) จัดให้ผู้ขอยื่นคำขอพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานตามที่เจ้าพนักงานกำหนดและส่งไปให้เจ้าพนักงานพิจารณาอนุญาต
(2) เมื่อเจ้าพนักงานอนุญาตแล้ว จัดให้ผู้ขอยื่นแบบตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่เจ้าพนักงานกำหนด
(3) ขายหรือแลกเปลี่ยนได้ไม่เกินจำนวนที่เจ้าพนักงานอนุญาต
(4) เมื่อตัวแทนรับอนุญาตขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้ว ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เจ้าพนักงานกำหนด"
ข้อ 2 ให้เพิ่มข้อความดังต่อไปนี้เป็นข้อ 13 ทวิ ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรี
ให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547
"ข้อ 13 ทวิในการขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ไทยในต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดจำนวน ในกรณีเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ทำได้โดยมียอดคงค้างการลงทุนตามราคาทุน ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกินห้าสิบล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดต่อราย แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่หน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ลงทุนและคณะกรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ลงทุนกำหนด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่เจ้าพนักงานกำหนด
ในการขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศ แต่มีจำนวนเงินเกินกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่เจ้าพนักงานกำหนด ให้นำความในข้อ 13 มาบังคับใช้โดยอนุโลม"
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 14 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน
"ข้อ 14 นอกจากกรณีที่เจ้าพนักงานมีคำสั่งยกเว้นไว้ ตัวแทนรับอนุญาตจะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเงินตราต่างประเทศเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศดังต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบจนเป็นที่พอใจว่าเงินตราต่างประเทศที่จะรับเข้าบัญชีนั้นเป็นเงินที่ได้รับมาจากต่างประเทศและเรียกให้ผู้ฝากเงินตราต่างประเทศยื่นเอกสารที่แสดงภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินตราต่างประเทศให้แก่บุคคลในต่างประเทศภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่รับฝากเงินตราต่างประเทศนั้น โดยตัวแทนรับอนุญาตจะรับฝากได้ไม่เกินจำนวนที่ผู้ฝากมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเป็นเงินตราต่างประเทศภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ยอดเงินฝากเงินตราต่างประเทศรวมทุกบัญชีและทุกสกุลของผู้ฝากรายนั้นต้องมีจำนวนไม่เกินห้าแสนดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดสำหรับผู้ฝากซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และไม่เกินห้าสิบล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดสำหรับผู้ฝากซึ่งเป็นนิติบุคคล
(2) รับฝากเงินตราต่างประเทศที่ผู้ฝากไม่สามารถแสดงภาระผูกพัน โดยยอดเงินฝากรวมทุกบัญชีและทุกสกุลของผู้ฝากต้องมีจำนวนไม่เกินห้าหมื่นดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดสำหรับผู้ฝากซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และไม่เกินจำนวนที่เจ้าพนักงานกำหนด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินห้าล้านดอลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดสำหรับผู้ฝากซึ่งเป็นนิติบุคคล
การรับฝากเงินตราต่างประเทศตาม (1) และ (2) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่เจ้าพนักงานกำหนด"
ข้อ 4 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2550
(หม่อมราชวงศปรีดิยาธร เทวกุล)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน
(ฉบับที่ 8)
______________________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 และข้อ 13 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องคำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 เจ้าพนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำจำกัดความของคำว่า "ลงทุนในกิจการที่ต่างประเทศ" และ "กิจการในเครือที่ต่างประเทศ" ในข้อ 2 ของประกาศเจ้าพนักงานควบคมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัตเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 14 (1) ของประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 18 (1) ของประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน ลงวันที่ 31 มีนาคม2547 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้
"(1) การส่งเงินไปลงทุนในกิจการที่ต่างประเทศหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือที่ต่างประเทศเป็นจำนวนเกินกว่าวงเงินที่กำหนดตามข้อ 12 (1) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องคำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนุญาต (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 10 มกราคม 2550 รวมทั้งการส่งเงินไปลงทุนในกิจการที่ต่างประเทศหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือที่ต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้เรียกเอกสารหลักฐานดังนี้
(ก) คำขออนุญาตพร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็น รายละเอียดการลงทุนหรือให้กู้แหล่งที่มาของเงินทุน และประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนหรือให้กู้
(ข) งบการเงินล่าสุดของผู้ลงทุนหรือผู้ให้กู้ที่ผู้สอบบัญชีรับรองแล้ว
(ค) หลักฐานแสดงการลงทุน เช่น สัญญาร่วมทน หรือสัญญาซื้อขายห้น (เฉพาะกรณีการส่งเงินไปลงทุน)
(ง) หลักฐานแสดงโครงสร้างการถือหุ้นระหว่างผู้ลงทุนหรือให้กู้และผู้รับการลงทุนหรือผู้กู้ และ
(จ) หลักฐานแสดงตัวของผู้ขอ กรณีเป็นบุคคลธรรมดา เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีเป็นนิติบุคคล เช่น หนังสือบริคณห์สนธิ หนังสือรับรองทุนจดทะเบียน บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ที่กระทรวงพาณิชย์รับรอง"
ข้อ 4 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 มกราคม 2550
(นางสาวนิตยา พิบูลย์รัตนกิจ)
เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน
(ฉบับที่ 9)
__________________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 13 และ 14 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแท่นรับอนุญาต ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 เจ้าพนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 18 (3) ของประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 23 ของประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 และ ให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน
"ข้อ 23 บุคคลใดขอฝากเงินตราต่างประเทศกับนิติบุคคลรับอนญาต ให้นิติบุคคลรับอนุญาตเรียกให้บุคคลนั้นยื่นแบบตามที่กำหนดในข้อ 44 และปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และวงเงิน ดังต่อไปนี้
(1) เงินตราต่างประเทศที่ฝากต้องเป็นเงินอันเกิดจากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ
(2) ผู้ฝากเงินตราต่างประเทศต้องยื่อเอกสารแสดงภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินตราต่างประเทศให้แก่บุคคลในต่างประเทศหรือนิติบุคคลรับอนุญาตภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ฝากเงินตราต่างประเทศนั้น และให้ฝากได้ไม่เกินจำนวนตามภาระผูกพันที่ต้องชำระเป็นเงินตราต่างประเทศภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยภาระผูกพันที่กล่าวให้หมายรวมถึงภาระผูกพันของตนและของธุรกิจในเครือ และยื่นหลักฐานการเป็นธุรกิจในเครือด้วยในกรณีที่เป็นภาระผูกพันของธุรกิจในเครือ ทั้งนี้เงินฝากเงินตราต่างประเทศ ณสิ้นวันรวมทุกสกุลและทุกบัญชีของผู้ฝากรายนั้นต้องมียอดคงเหลือไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาด สำหรับบุคคลธรรมดาหรือ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาด สำหรับนิติบุคคล
ในกรณีที่ผู้ฝากไม่สามารถยื่นเอกสารที่แสดงภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินตราต่างประเทศตามวรรคแรก ให้ตัวแทนรับอนุญาตรับฝากเงินตราต่างประเทศจากบุคคลดังกล่าวได้โดยต้องจัดให้แยกเปิดเป็นบัญชีเฉพาะ และยอดเงินฝากเงินตราต่างประเทศในบัญชีดังกล่าว ณ สิ้นวันรวมทุกสกุลและทุกบัญชีของผู้ฝากรายนั้นต้องมีจำนวนไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาด สำหรับบุคคลธรรมดา หรือ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดสำหรับนิติบุคคล
(3) ให้ผู้ฝากแต่ละรายฝากเงินสดได้ไม่เกินวันละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาด เว้นแต่ผู้ฝากนั้นจะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ
ทั้งนี้ ให้องค์การของรัฐ องค์การของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยรวมทั้งข้าราชการที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใน (2) และ (3)
ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 มกราคม 2550
(นางสาวนิตยา พิบูลย์รัตนกิจ)
เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยน
เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัตเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ
______________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 และ ข้อ 13 ทวิ แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องคำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรัฐอนุญาต ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 เจ้าพนักงานออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"ผู้ลงทุน" หมายความว่า ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ได้แก่
(1) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(2) กองทุนประกันสังคม
(3) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(4) กองทุนรวม (ไม่รวมกองทุนส่วนบุคคลป
(5) บริษัทหลักทรัพย์
(6) บริษัทประกันภัย
(7) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง
"หลักทรัพย์ต่างประเทศ" หมายความว่า หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือนิติบุคคลในต่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศและจำหน่ายในต่างประเทศ
"หลักทรัพย์ไทยในต่างประเทศ" หมายความว่า หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือนิติบุคลลไทยเป็นเงินตราต่างประเทศและจำหน่ายในต่างประเทศ
"นิติบุคคลรับอนุญาต" หมายความว่า ตัวแทนรับอนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องคำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่ตัวแทนรับอนญาต ลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 และนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ
ข้อ 2 เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ลงทุนซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ไทยในต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดจำนวน่ ในกรณีเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ทำได้โดยมียอดคงค้างการลงทุนตามราคาทุน ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าตามอัตราตลาดต่อราย แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่หน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ลงทุนและคณะกรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ลงทุนกำหนด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ