แนวนโยบายการกำกับดูแลการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Money)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday February 10, 2004 11:02 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                     10  กุมภาพันธ์ 2547       
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ ธปท.สนส. (11) ว. 378/2547 เรื่อง แนวนโยบายการกำกับดูแลการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Money)
1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
ปัจจุบันได้มีการริเริ่มการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Money) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถนำเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆได้ ซึ่งบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวนี้ เป็นบริการที่มีแพร่หลายในต่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นประโยชน์ของธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวในประเทศไทย เช่น ประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน เป็นต้น จึงได้พิจารณาถึงความเสี่ยงและแนวทางกำกับการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ในเบื้องต้น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและให้ธนาคารพาณิชย์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพของระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน
2. เนื้อหา
2.1 คุณลักษณะของเงินอิเล็กทรอนิกส์
เงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่อาจเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น Multipurpose Stored Value Card, E-purse, E-Wallet หรือ Smart Card เป็นต้น มีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1) ผู้บริโภคชำระเงินล่วงหน้าให้ผู้ออกเงินอิเล็กทรอนิกส์ (pre-paid)
2) มูลค่าเงินที่ชำระล่วงหน้าถูกบันทึกในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ (stored value) เช่น บัตรพลาสติก หรือสื่อคอมพิวเตอร์อื่น
3) ผู้บริโภคสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ได้จากร้านค้าที่ผู้ออกเงินอิเล็กทรอนิกส์กำหนด (multi purpose)
2.2 ความเสี่ยงและผลกระทบของเงินอิเล็กทรอนิกส์
การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ในระบบเศรษฐกิจอาจมีความเสี่ยงและมีผลกระทบต่อระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินได้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดแนวทางการกำกับเพื่อควบคุมความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้
2.2.1 ผลกระทบต่อระบบการเงิน
ผลกระทบจากการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเงินที่ออกโดยภาครัฐมีผลกระทบต่อความสามารถในการควบคุมเงินเฟ้อและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่
- ตัวทวีฐานเงิน (money multiplier) ที่อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากความจำเป็นในการใช้ธนบัตรเป็นสื่อกลางในการชำระเงินลดลง
- ปริมาณเงินที่อาจเพิ่มขึ้นจากการนับรวมเงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสื่อกลางในการชำระเงินเข้าไปในนิยามของปริมาณเงินและการที่ผู้ให้บริการนำเงินที่รับล่วงหน้า (float) ไปทำธุรกรรมต่อ
แนวทางการกำกับ
- ติดตามและควบคุมปริมาณเงินอิเล็กทรอนิกส์ในระบบอย่างใกล้ชิด
- กำหนดสัดส่วนการดำรงเงินสดสำรองต่อเงินอิเล็กทรอนิกส์ (หากจำเป็น)
2.2.2 ผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน
1) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง จากการที่ผู้ออกเงินอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถชำระเงินได้เมื่อมีการเรียกเก็บเงิน เนื่องจากการใช้เงินอย่างผิดวัตถุประสงค์ หรือมีการบริหารเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ผลกระทบ
- รายได้และความสามารถในการชำระเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องรายอื่น เช่น สถาบันการเงินอื่นที่ร่วมโครงการ หรือร้านค้า
- การสูญเสียเงินของผู้บริโภคที่ได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้ออกเงินอิเล็กทรอนิกส์
- ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อระบบ
แนวทางการกำกับ
- ธนาคารพาณิชย์ผู้ให้บริการต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
- ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดเงื่อนไขการบริหารเงินที่รับล่วงหน้า(float) ได้หากจำเป็น
2) ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ จากความบกพร่องของการดำเนินการ การรักษาความปลอดภัยของระบบ ตลอดจนการฉ้อโกงของผู้ให้บริการหรือร่วมให้บริการ
ผลกระทบ
- ความถูกต้องของข้อมูล และการรักษาความลับของข้อมูล
- ความต่อเนื่องในการให้บริการ
- ความน่าเชื่อถือของระบบการชำระเงินและระบบสถาบันการเงิน
แนวทางการกำกับ
- ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เช่น แนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยการให้บริการการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และแนวปฏิบัติในการใช้บริการด้านงานเทคโนโลยีสารสนเทศจากผู้ให้บริการรายอื่น เป็นต้น
- ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานสากล
- กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล
2.2.3 ผลกระทบอื่นๆ
1) การคุ้มครองผู้บริโภค
เนื่องจากธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นธุรกิจที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อแลกกับเงินอิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีความสำคัญมาก โดยการให้บริการดังกล่าวควรพิจารณาถึง
- ขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ออกเงินอิเล็กทรอนิกส์ ร้านค้า และผู้บริโภค กรณีเกิดความเสียหายทั้งจากการฉ้อโกง ความผิดพลาด บัตรสูญหาย (กรณีบันทึกมูลค่าเงินลงบนบัตร) เป็นต้น
- ค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ
- เงื่อนไขการคืนเงินให้แก่ลูกค้า
แนวทางการกำกับ
- ธนาคารพาณิชย์ที่จะให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ
- มีการให้ความรู้และชี้แจงข้อมูลรายละเอียดการให้บริการและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนและโปร่งใส
2) การฟอกเงิน เนื่องจากการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบางรูปแบบอาจเอื้อต่อการฟอกเงินได้ เช่น ระบบที่มีการโอนเงินได้ระหว่างลูกค้าโดยไม่ต้องผ่านระบบของผู้ให้บริการ เป็นต้น
แนวทางการกำกับ
- ไม่อนุญาตให้มีการโอนเงินระหว่างลูกค้าโดยไม่ผ่านระบบข้อมูลของผู้ให้บริการ
- ระบบที่ให้บริการต้องสามารถตรวจสอบรายการย้อนหลังได้
- กำหนดมูลค่าสูงสุดของเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ได้
- เงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกต้องเป็นเงินบาทและใช้ในประเทศไทยเท่านั้น
3. ขอบเขตการถือปฏิบัติ
ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวข้างต้น ต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยในการพิจารณาอนุญาต ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามที่กล่าว พร้อมทั้งพิจารณาถึงความสามารถและความน่าเชื่อถือของผู้อื่นที่ร่วมให้บริการด้วย อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอนุญาตของธนาคารแห่งประเทศไทยจะคำนึงถึงการไม่ปิดกั้นพัฒนาการของเทคโนโลยีและธุรกิจ เพื่อมิให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
4. วันเริ่มต้นการถือปฏิบัติ
ให้ถือปฏิบัติตามแนวนโยบายการกำกับดูแลการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน
โทร. 0-2283-6938, 0-2283-6939
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่.....ณ..........
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ