4 พฤษภาคม 2548
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.ฝสว.(21) ว. 801 /2548 เรื่อง การขยายระยะเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์รอการขาย
1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
1.1 เพื่อให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินดำเนินการเป็นไปอย่าง
ต่อเนื่อง และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
1.2 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออกไปอีก 2 ปี โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมและจำกัดเฉพาะหนี้บางประเภทเท่านั้นที่สถาบันการเงินจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นจะต้องออกหนังสือเวียนฉบับนี้เพื่อขยายระยะเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์รอการขายเพิ่มเติม
2. อำนาจตามกฎหมาย
ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20(2)(ข) และมาตรา
54(5)(ข) และ (ง) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ขยายระยะเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์รอการขาย ตามความในหนังสือฉบับนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
หนังสือฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
4. เนื้อหา
4.1 ขยายระยะเวลาให้บริษัทถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์รอการขายได้เกิน
กว่าระยะเวลาที่กำหนด เฉพาะอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้รับโอนมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สงสัย สงสัยจะสูญ และสูญ ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2548 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2547 และให้รวมถึงลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญที่กันสำรองครบ
ร้อยละ 100 และตัดออกจากบัญชีแล้วแต่ยังไม่ได้บันทึกกลับเข้ามาในบัญชี โดยบริษัทต้องขายอสังหาริมทรัพย์รอการขายดังกล่าวภายใน 10 ปี นับจากวันที่ได้รับโอน โดยให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
4.1.1 บริษัทต้องทยอยขายอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ถือครองกรรมสิทธิ์มาแล้ว 5 ปี โดยให้เริ่มขายในปีถัดจากปีที่ได้ถือครองกรรมสิทธิ์ครบ 5 ปีเป็นต้นไป ในการคำนวณจำนวนอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่จะต้องทยอยขายในแต่ละปี ให้บริษัทใช้มูลค่าตามบัญชีสุทธิของอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ครบกำหนดต้องขายนั้น หารด้วยจำนวนปีคงเหลือจนถึงปีที่สิ้นสุดการขยายระยะเวลา
ทั้งนี้ ในการคำนวณจำนวนเงินที่ต้องขายอสังหาริมทรัพย์รอการขายในแต่ละปีนั้น ให้บริษัทใช้มูลค่าตามบัญชีสุทธิของปีก่อนหน้าปีที่ต้องขายอสังหาริมทรัพย์รอการขายดังกล่าว
4.1.2 ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถขายอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ถือครองครบ 5 ปีในแต่ละปีได้ตามจำนวนที่คำนวณในข้อ 4.1.1 บริษัทสามารถขายอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้รับโอนมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ซึ่งถือครองยังไม่ครบ 5 ปีหรือถือครองครบ 5 ปีแล้วแต่บริษัทสามารถขายได้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดแทนก็ได้ แต่จะต้องมียอดรวมเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าจำนวนที่ต้องทยอยขายทั้งหมดในรอบปีดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทต้องขายอสังหาริมทรัพย์รอการขายให้หมดภายในระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่ได้รับโอน
4.1.3 หากบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามที่กล่าวในข้อ 4.1.2 ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับหรือดำเนินการอื่นใดตามกฎหมายต่อไป
4.1.4 บริษัทต้องทำการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ถือครองและกันเงินสำรองสำหรับผลต่างของราคาตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่าของอสังหาริมทรัพย์รอการขายนั้นในอัตราร้อยละ 100 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2547 และที่จะแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทจะต้องจัดทำและมีเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตรวจสอบได้ทุกกรณี และในกรณีมีเหตุอันควร ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งระงับหรือยกเลิกการอนุญาตดังกล่าวเมื่อใดก็ได้
5. วันเริ่มต้นบังคับใช้
หนังสือฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์
โทร. 0-2283-5304, 0-2283-5303
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่...........เวลา.......ณ .............
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ฝสวว30-คส22405-25480506 ด