การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday August 6, 2004 11:58 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                        6 สิงหาคม 2547 
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร*
ที่ สนส.(21)ว. 93/2547 เรื่อง การนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรหรือมีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ตามนัยประกาศธนาคารแห่ง ประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2546 นั้น
เพื่อขยายขอบเขตการทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝงหรือมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร ให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสภาวการณ์ ตลอดจนเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่อง ดังกล่าวโดยยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรหรือมีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2546 และขอนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2547 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ทวิและมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่ แก้ไขเพิ่มเติม และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 88 ง. ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2547 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไป
สรุปสาระสำคัญในการปรับปรุงประกาศครั้งนี้
1. ปรับปรุงชื่อธุรกรรมจากเดิม "ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีการจ่ายผลตอบแทน อ้างอิงกับตัวแปรหรือมีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง" เป็น "ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง" โดยธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝงได้รวมถึงธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรไว้ด้วย
2. อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ซึ่งมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับกลุ่มของตัวแปร ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะทำธุรกรรมดังกล่าวจะต้องมีความพร้อมทางด้านระบบข้อมูล ระบบบริหารการลงทุน และระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดเพิ่มเติม
3. เพิ่มตัวแปรที่จะนำมาใช้อ้างอิงในการทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ซึ่งมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร ให้ครอบคลุมถึงตัวแปรที่มีลักษณะเป็นดัชนีทางการเงินที่มีคุณสมบัติตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
4. ขยายขอบเขตการทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ให้ ครอบคลุมกรณีที่ธุรกรรมดังกล่าวซึ่งให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ผู้รับเงินฝาก (หรือผู้กู้ยืม) ในการขาย หรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือผู้ฝากเงิน (หรือผู้ให้กู้ยืม) ในการซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามสกุลเงินและอัตราที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะทำธุรกรรมดังกล่าวได้เฉพาะกับสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ หรือบุคคลที่มีภาระที่จะต้องส่งมอบเงินตราต่างประเทศในอนาคตเท่านั้น
5. อนุญาตให้ทำธุรกรรมเงินฝากดังกล่าวเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศกับบุคคลที่มีถิ่น ที่อยู่ในประเทศที่สามารถฝากเงินตราต่างประเทศไว้กับนิติบุคคลรับอนุญาตได้ตามกฎหมายและระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
6. ยกเลิกการกำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับธุรกรรมดังกล่าว แต่กำหนดเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการทำธุรกรรมเป็นสกุลเงินบาทกับบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศว่าจะต้องไม่ขัดกับมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทเท่านั้น (กล่าวคือ การรับฝากหรือออกขายตราสารสกุลเงินบาทแก่บุคคลที่มีถิ่น ที่อยู่นอกประเทศ มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทกำหนดให้ต้องมีอายุเกินกว่า 6 เดือนและ 3 เดือนตามลำดับ)
7. ปรับปรุงรายชื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามเอกสารแนบ โดยไม่รวมกองทุนส่วนบุคคล และนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์รวมตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีรับรองแล้วตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป แต่อนุญาตเพิ่มเติมให้ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ซึ่งมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรในประเทศ หรือให้สิทธิผู้รับฝากหรือผู้กู้ยืมที่จะขยายระยะเวลาหรือไถ่ถอนก่อนครบกำหนดตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา กับบุคคลอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดในรายชื่อแนบ
8. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการนำตัวแปรประเภทใหม่ ๆ มาใช้ หรือการเสนอธุรกรรมที่มีลักษณะในรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไป หรือการทำธุรกรรม เงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับกลุ่มของตัวแปรเป็นครั้งแรก หรือเมื่อมีการ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดในการทำธุรกรรมดังกล่าว
9. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง
10. ธนาคารแห่งประเทศไทยสงวนสิทธิในการจำกัดปริมาณการทำธุรกรรมดังกล่าว ตามความเหมาะสมต่อไป
11. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมดังกล่าวให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในรูปแบบของสื่อคอมพิวเตอร์ ตามแบบรายงานแนบ ไม่ว่าจะจัดส่งโดยผ่านระบบบริหารข้อมูลหรือไม่ก็ตาม ภายใน 21 วันนับจากวันสิ้นเดือน
นอกจากนี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยขอซักซ้อมความ เข้าใจในประเด็นต่อไปนี้
1. ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝงจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและการนับลูกหนี้รายใหญ่สำหรับเงินฝากหรือเงินกู้ยืมนั้นและอนุพันธ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้อง อนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างปรับปรุง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและการนับลูกหนี้รายใหญ่เพื่อรองรับอนุพันธ์ทางการเงินที่ เกี่ยวข้องกับตราสารทุน ซึ่งจะได้ประกาศใช้ในโอกาสต่อไป
2. การแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการนำดัชนีทางการเงินใหม่มาใช้ หรือการทำธุรกรรมดังกล่าวที่อ้างอิงกับกลุ่มของตัวแปรเป็นครั้งแรก หรือการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดลักษณะ ธุรกรรม ตามที่ระบุไว้ในข้อ 4.17 ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับที่กล่าว ให้ดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษรและจัดส่งมายังธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธนาคารพาณิชย์จะต้องแจ้งชื่อดัชนีทางการเงินที่ใช้ รวมทั้งองค์ประกอบและวิธีการคำนวณดัชนีทางการเงินดังกล่าว หรือลักษณะการทำ ธุรกรรมในรายละเอียด แล้วแต่กรณี
3. การจัดส่งข้อมูลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตามข้อ 4.18 ของประกาศธนาคารแห่งประเทศฉบับดังกล่าว ให้จัดส่งในรูปแบบ Excel File ตามแบบรายงานแนบโดยผ่านช่องทางการส่งข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยน (Microsoft Exchange)
4. การทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝงกับผู้ลงทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่นของทางการ ผู้ลงทุนรายดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรม ที่กล่าวจากหน่วยงานกำกับดูแลนั้นด้วย
5. ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ซึ่งให้สิทธิคู่สัญญาในการชำระคืนหรือรับชำระคืนเงินต้นหรือผลตอบแทนเป็นหลักทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ กับผู้ลงทุนประเภทสถาบันที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นการทั่วไปให้ซื้อหลักทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศตามหนังสือ สกง. (05)ว. 3/2546 เรื่อง การขายหลักทรัพย์เงินตราต่างประเทศต่อให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันในประเทศ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณีจากเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ให้ถือปฏิบัติตามข้อจำกัดในเรื่องประเภทหลักทรัพย์ วงเงิน และการขายหลักทรัพย์ต่อ รวมทั้งการจัดทำรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมการซื้อสิทธิที่จะขายหรือขายสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือฉบับที่กล่าว หรือหนังสืออนุญาตของเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเป็นรายกรณี โดยให้นับจำนวนเงินตามสัญญาการซื้อสิทธิที่จะขายหรือขายสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์อยู่ภายในวงเงินที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้ขายหลักทรัพย์เงินตราต่างประเทศแก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันเป็นการทั่วไป หรือวงเงินที่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันรายดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ซื้อหลักทรัพย์เงินตราต่างประเทศเป็นรายกรณี ตั้งแต่วันทำธุรกรรม (Trade Date) โดยถือเสมือนเป็นการขายหลักทรัพย์ เงินตราต่างประเทศต่อให้แก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันในประเทศ
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ