การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday September 16, 2004 14:51 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                             29 กันยายน  2547 
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร*
ที่ ธปท.สนส.(11)ว. 1647/2547 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo)
1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
(1) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยขอยกเลิกหนังสือที่ ธปท.สนส.(11)ว.2522/2544 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์กู้ยืมเงินจากผู้ลงทุนประเภทสถาบันต่างๆ ในรูปแบบของธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo)
(2) นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo) ลงวันที่ 9 กันยายน 2547
อนึ่ง เนื่องจากรายละเอียดในการประกอบธุรกรรมและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล การประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนได้ถูกกำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้แล้ว จึงให้ธนาคารพาณิชย์ ทุกธนาคารไม่ต้องอ้างอิงถึงหนังสือที่ ธปท.สนส.(11)ว.3491/2543 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2543 เรื่อง แนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo) ของสถาบันการเงิน
2. ฉบับประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษา
ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 121 ตอนพิเศษ 102 ง วันที่ 15 กันยายน 2547
3. ขอบเขตการบังคับใช้
ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ยกเว้น กิจการวิเทศธนกิจ
4. สาระสำคัญของประกาศ
(1) ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับปรุงประกาศ เรื่อง การประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาค เอกชน (Private Repo) โดยขยายขอบเขตคู่สัญญาและประเภทตราสารในการทำธุรกรรม ดังนี้
(1.1) ขอบเขตคู่สัญญาในการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo)
การให้กู้ยืมเงิน: ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้กู้ยืมเงินบาทโดยใช้ตราสารหนี้สกุลเงินบาทในรูปแบบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนได้กับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลทุกประเภทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และสามารถให้กู้ยืมเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศโดยใช้ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศในรูปแบบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนได้เฉพาะกับสถาบันการเงินในประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 และนิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (Non-resident)
ขอบเขตคู่สัญญาที่ขยาย คือ การทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนโดยให้กู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศกับสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศและ Non-resident
การกู้ยืมเงิน: ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้ยืมเงินบาทโดยใช้ตราสารหนี้สกุลเงินบาทในรูปแบบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนได้กับนิติบุคคลทุกประเภทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทตามที่กระทรวงการคลังกำหนด และ รัฐบาลหรือสถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศที่ออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทตามที่กระทรวงการคลังกำหนด และสามารถกู้ยืมเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศโดยใช้ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ ในรูปแบบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนได้เฉพาะกับสถาบันการเงินในประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 และนิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (Non-resident)
ขอบเขตคู่สัญญาที่ขยาย คือ การทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนโดยกู้ยืมเงินบาทจากนิติบุคคลทุกประเภทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (เดิมอนุญาตเฉพาะการกู้ยืมเงินบาทจากสถาบันการเงิน) และ Non-resident ผู้ออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทย รวมทั้ง การกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ และ Non-resident
(1.2) ขอบเขตประเภทตราสารในการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo)
ตราสารหนี้สกุลเงินบาท ได้แก่
1) ตราสารหนี้ภาครัฐประเภทเดียวกับตราสารที่สามารถซื้อขายในตลาดซื้อคืนธนาคารแห่งประเทศไทย
2) ตราสารหนี้ที่เป็นเงินบาทที่ออกในประเทศไทย ได้แก่ ตราสารหนี้ที่เป็นเงินบาทที่ออกโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ตราสารหนี้ที่เป็นเงินบาทที่ออกโดยรัฐบาลหรือสถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศตามที่กระทรวงการคลังกำหนด เช่น ตราสารหนี้สกุลเงินบาทที่ออกโดย International Monetary Fund (IMF) Asian Development Bank (ADB) และ International Finance Corporation (IFC) และตราสารหนี้สกุลเงินบาทที่ได้รับการจัดอันดับในระดับที่สูงกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ 1 ระดับ กล่าวคือ ได้รับการจัดอันดับสูงกว่า BBB หรือเทียบเท่าขึ้นไปจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ ได้แก่
1) พันธบัตรรัฐบาลไทยสกุลเงินตราต่างประเทศ
2) พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศสกุลเงินตราต่างประเทศ
3) ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกโดยนิติบุคคลทั้งในและ นอกประเทศ ซึ่งได้รับการจัดอันดับในระดับที่สูงกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ 1 ระดับ กล่าวคือ ได้รับการจัดอันดับสูงกว่า BBB หรือเทียบเท่าขึ้นไปจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้ รับการยอมรับจากนานาชาติ เช่น Fitch Ratings Standard&Poor's และ Moody's เป็นต้น
ทั้งนี้ ตราสารหนี้ดังกล่าวข้างต้นต้องไม่มีความซับซ้อนหรือไม่มีอนุพันธ์ทางการเงินมาเกี่ยวข้องขอบเขตประเภทตราสารที่ขยาย คือ ตราสารหนี้สกุลเงินบาทในข้อ 2) และ ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ
(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลให้มีความชัดเจนขึ้น เช่น การดำรงเงินกองทุน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ เป็นต้น
5. วันเริ่มต้นการใช้บังคับ
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2547 เป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
รองผู้ว่าการ (เสถียรภาพสถาบันการเงิน)
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo) ลงวันที่ 9 กันยายน 2547
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน
โทร. 0-2283-5834, 0-2283-5305, 0-2283-6875
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่......เวลา......น. ณ.........
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว10-กส320001-25470930 ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน
(Private Repo)
_________________________________________
1. เหตุผลในการออกประกาศ
เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดตราสารหนี้ เพิ่มช่องทางในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นการพัฒนาตลาดเงินให้มีการกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินในรูปแบบที่มีหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยง และช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงได้คล่องตัวขึ้น
2. อำนาจตามกฎหมาย
ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ และมาตรา 13 จัตวา แห่ง พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ออกหลักเกณฑ์การประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo) ตามที่กำหนดในประกาศนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ ทุกธนาคาร ยกเว้นกิจการวิเทศธนกิจ
4. เนื้อหา
4.1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo) ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2544
4.2 ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน หมายความว่า การประกอบธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาว่าจะขายคืนหรือซื้อคืน เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงิน หรือกู้ยืมเงินตามแต่กรณี โดยมี หลักประกันเป็นตราสาร ทั้งนี้ ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนเป็นธุรกรรมภายใต้มาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 เนื่องจากโดยลักษณะของธุรกรรมถือเป็นการกู้ยืมเงินโดยมีหลักประกัน
4.3 หลักเกณฑ์การประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน
4.3.1 คู่สัญญาในการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo)
(ก) การให้กู้ยืมเงิน
(1) ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้กู้ยืมเงินบาทโดยใช้ตราสารหนี้สกุลเงินบาท ในรูปแบบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนได้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทุกประเภทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
(2) ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้กู้ยืมเป็นสกุลเงินต่างประเทศโดยใช้ตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศในรูปแบบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนได้เฉพาะกับสถาบันการเงินในประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 และนิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (Non-resident)
(ข) การกู้ยืมเงิน
(1) ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้ยืมเงินบาทโดยใช้ตราสารหนี้สกุลเงินบาทใน รูปแบบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนได้กับนิติบุคคลทุกประเภทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทตามที่กระทรวงการคลังกำหนด และรัฐบาลหรือสถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศที่ออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
(2) ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้ยืมเป็นสกุลเงินต่างประเทศโดยใช้ตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศในรูปแบบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนได้เฉพาะกับสถาบันการเงินในประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 และนิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (Non-resident)
ทั้งนี้ ในการทำธุรกรรมการให้กู้ยืมหรือการกู้ยืมกับนิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามกฎระเบียบในเรื่องมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่เกี่ยวข้องด้วย
4.3.2 หลักทรัพย์ที่ใช้ในการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo)
(ก) ให้ตราสารหนี้ที่เป็นเงินบาทดังต่อไปนี้ เป็นตราสารที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ ใช้ในการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน
(1) ตราสารหนี้ภาครัฐประเภทเดียวกับตราสารที่สามารถซื้อขายในตลาดซื้อคืนธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำและมีราคาตลาดที่อ้างอิงได้อย่างโปร่งใส ได้แก่
(1.1) ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรรัฐบาล
(1.2) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
(1.3) พันธบัตรรัฐวิสาหกิจและหุ้นกู้ที่รัฐบาลค้ำประกัน
(1.4) พันธบัตรและตราสารการเงินอื่นใดที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบ
(2) ตราสารหนี้ที่เป็นเงินบาทที่ออกในประเทศไทย ได้แก่
(2.1) ตราสารหนี้ที่เป็นเงินบาทที่ออกโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
(2.2) ตราสารหนี้ที่เป็นเงินบาทที่ออกโดยรัฐบาลหรือสถาบันการเงินของ รัฐบาลต่างประเทศตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
(2.3) ตราสารหนี้สกุลเงินบาทที่ได้รับการจัดอันดับในระดับที่สูงกว่าระดับ ที่สามารถลงทุนได้ 1 ระดับ กล่าวคือ ได้รับการจัดอันดับสูงกว่า BBB หรือเทียบเท่าขึ้นไปจากสถาบัน จัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ข) ให้ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศดังต่อไปนี้ เป็นตราสารที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ในการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน
(1) พันธบัตรรัฐบาลไทยสกุลเงินตราต่างประเทศ
(2) พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศสกุลเงินตราต่างประเทศ
(3) ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกโดยนิติบุคคลทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งได้รับการจัดอันดับในระดับที่สูงกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ 1 ระดับ กล่าวคือ ได้รับการจัดอันดับสูงกว่า BBB หรือเทียบเท่าขึ้นไปจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เช่น Fitch Ratings Standard&Poor's และ Moody's เป็นต้น
(4) หลักทรัพย์อื่นใดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
4.4 หลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล
4.4.1 ให้ธนาคารพาณิชย์กำหนดให้มีระบบการควบคุมภายในขั้นต่ำ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) นโยบายและระเบียบปฏิบัติในการประกอบธุรกิจ
(ข) นโยบายการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือและการกำหนดวงเงินคู่สัญญา
(ค) ระเบียบและวิธีการบริหารความเสี่ยงและระบบการควบคุมภายใน เช่น
(1) หลักเกณฑ์การวิเคราะห์วามน่าเชื่อถือและการกำหนดวงเงินคู่สัญญา ก่อนการทำธุรกรรม และการทบทวนความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาภายหลังการทำธุรกรรมระยะหนึ่ง ทำนองเดียวกับการให้สินเชื่อ/ให้กู้ยืมโดยทั่วไป
(2) การบริหารความเสี่ยง
(3) การกำหนดคู่มือการปฏิบัติงาน
(4) การแยกหน้าที่ของ Dealer และ Back Office ออกจากกัน โดยเฉพาะ การแยกหน้าที่เรื่องการทบทวนความน่าเชื่อถือของคู่ค้า และการประเมินราคาหลักทรัพย์/หลักประกัน (Mark to Market) ออกจากหน้าที่ของ Dealer
(5) การจัดทำทะเบียนคุมหลักทรัพย์/หลักประกันที่ได้จากการทำธุรกรรม ซื้อคืนภาคเอกชน
4.4.2 การดำรงเงินกองทุน
ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์และภาระผูกพันของธนาคารพาณิชย์และหนังสือเวียนธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุน
4.4.3 การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ในการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติดังนี้
(ก) ให้ผู้ให้กู้ยืมเงิน (ผู้ซื้อตราสาร) ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในตราสาร ณ สิ้นวันใดวันหนึ่ง สามารถนับตราสารตามที่กำหนดไว้ในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องและที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในตราสาร (Settlement date) ในขณะเดียวกันผู้กู้ยืมเงิน (ผู้ขายตราสาร) ซึ่งเป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์ต้องไม่นับตราสารนั้นเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องในวันเดียวกัน และเมื่อถึงวันครบกำหนดสัญญา Private Repo ผู้ให้กู้ยืมเงินต้องตัดตราสารดังกล่าวออกจากการนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องและผู้กู้ยืมเงินซึ่งรับคืนตราสาร สามารถนับตราสารนั้นเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ในวันเดียวกัน
(ข) ให้นับมูลค่าตราสารที่ได้รับโอนมาเข้าเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องหรือการตัดมูลค่าตราสารออกจากการนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง ตามนัยหนังสือว่าด้วยการนับมูลค่าหลักทรัพย์ ที่ใช้ในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4.4.4 การนับลูกหนี้รายใหญ่ ให้ธนาคารพาณิชย์นับธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนรวมกับธุรกรรมปกติของลูกหนี้รายนั้น ตามนัยมาตรา 13 และมาตรา 13 จัตวาแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ดังนี้
(ก) ให้ผู้ให้กู้ยืมเงิน (ผู้ซื้อตราสาร) นับจำนวนเงินที่ให้กู้ยืมดังกล่าวในการคำนวณการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายใหญ่ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราส่วนจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุน ทั้งนี้ หากตราสาร ที่รับโอนมาได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 13 ให้ธนาคารพาณิชย์ผู้รับโอนตราสารได้รับยกเว้น ไม่ต้องนับเงินให้กู้ยืมในส่วนที่มีตราสารวางเป็นประกันดังกล่าวในการคำนวณข้างต้น
(ข) ให้ผู้กู้ยืมเงิน (ผู้ขายตราสาร) นับตราสารที่โอนไปให้ผู้ให้กู้ยืมเงินในส่วนที่ราคาของตราสารเกินกว่าเงินกู้ยืมที่ได้รับมาในการคำนวณตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 กล่าวคือ ตราสารที่โอนไปให้ผู้ให้กู้ยืมเงินในส่วนที่ราคาของตราสารเกินกว่าเงินกู้ยืมที่ได้รับมา เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ หรือลงทุนในกิจการของ หรือก่อภาระผูกพันกับคู่สัญญารายนั้น และมูลค่า ของหลักทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์ให้ยืมในส่วนที่เกินกว่าหลักประกันที่ได้รับมา (กรณีผู้ให้ยืมหลักทรัพย์) จากธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities borrowing and lending-SBL) และ จำนวนเงินหรือมูลค่า หลักทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์ผู้ยืมได้วางเป็นหลักประกันในส่วนที่เกินกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ที่ยืมมา (กรณี ผู้ยืมหลักทรัพย์) จากธุรกรรมการยืมหลักทรัพย์ (SBL) กับคู่สัญญาดังกล่าว ต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของ เงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์
(ค) ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ผู้กู้ยืมเงิน (ผู้ขายตราสาร) ได้ปฏิบัติถูกต้องตาม ข้อ 4.4.4(ข) แล้ว ต่อมาถ้ามูลค่าตราสารที่ธนาคารพาณิชย์โอนเป็นหลักประกันในส่วนที่เกินเงินกู้ยืม ที่ได้รับมาจากธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพันกับคู่สัญญารายนั้น และมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืมในส่วนที่เกินกว่ามูลค่าหลักประกัน ที่ได้รับมา (กรณีผู้ให้ยืมหลักทรัพย์) จากธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities borrowing and lending-SBL) และจำนวนเงินหรือหลักทรัพย์ที่นำไปวางเป็นหลักประกันในส่วนที่เกินกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ที่ได้ ยืมมา (กรณีผู้ยืมหลักทรัพย์) จากธุรกรรมการยืมหลักทรัพย์ (SBL) กับคู่สัญญาดังกล่าวแล้ว มีผลทำให้อัตราส่วนดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 25 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์จะประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนกับคู่สัญญาดังกล่าวเพิ่มอีกไม่ได้ ส่วนการประกอบธุรกรรมซื้อคืน ภาคเอกชนที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว มีผลผูกพันต่อไปตามสัญญาที่ทำไว้
(ง) ในการคำนวณอัตราส่วนตามข้อ 4.4.4(ก) และ 4.4.4(ข) สำหรับช่วงเวลาที่ประกอบธุรกรรมอยู่นั้นจะต้องมีการตีมูลค่าของหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันให้มีมูลค่าตามราคาตลาด (Mark to market) ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงต้องถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ตราสารที่เป็นหลักประกันมีมูลค่าลดลง ถ้าธนาคารพาณิชย์ผู้กู้ยืมเงินถูกเรียกมาร์จินเป็นเงินสด ให้ปรับลดยอดเงินกู้ยืมลงเท่าจำนวนเงินมาร์จินที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าถูกเรียกมาร์จิน เป็นตราสาร ให้ปรับมูลค่าของตราสารที่โอนเป็นหลักประกันโดยรวมตราสารที่เป็นมาร์จินเพิ่มขึ้นด้วย
(2) ในกรณีที่ตราสารที่เป็นหลักประกันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ถ้าธนาคารพาณิชย์ผู้กู้ยืมเงินได้รับคืนมาร์จินเป็นเงินสด ให้ปรับเพิ่มยอดเงินกู้ยืมขึ้นเท่าจำนวนเงินที่ได้รับนั้น แต่ถ้าได้รับคืน มาร์จินเป็นตราสาร ให้ลดจำนวนตราสารที่เป็นหลักประกันลงตามจำนวนตราสารที่ได้รับคืน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของส่วนต่างของมาร์จิน (Exposure) ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ตามมูลค่าของตลาดในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการเรียกมาร์จินหรือหลักประกันเพิ่มนั้น ในการคำนวณอัตราส่วนของลูกหนี้รายใหญ่ (Total Exposure) ในข้อ 4.4.4(ก) และ 4.4.4(ข) ธนาคารพาณิชย์จะต้องนำมูลค่าส่วนต่างของมาร์จินที่กำหนดไว้ตอนเริ่มทำสัญญามาใช้ในการคำนวณอัตราส่วนของลูกหนี้รายใหญ่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างของมาร์จินตลอดเวลาอันเนื่องจากการตีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด แต่ในการคำนวณจะไม่นำส่วนต่างของมาร์จินที่เกิดขึ้นจริงมาใช้ในการคำนวณ แต่จะให้นำมูลค่าของส่วนต่างของมาร์จินเดิมตอนเริ่มทำสัญญามาใช้ในการคำนวณ ดังนั้น อัตราส่วนของลูกหนี้รายใหญ่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงและคงที่ตลอดอายุสัญญา
4.4.5 ให้ธนาคารพาณิชย์บันทึกบัญชีให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีหรือแนวปฏิบัติของสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยหรือศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยแล้วแต่กรณี และให้จัดทำทะเบียนเกี่ยวกับการซื้อหรือขายธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนเพื่อประโยชน์ในการติดตามและควบคุมความถูกต้องของการทำธุรกรรม โดยในทะเบียนควรมีข้อมูลขั้นต่ำดังนี้ วันที่ทำสัญญา วันครบกำหนดสัญญา วันส่งมอบหลักทรัพย์ จำนวนเงินที่ทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน การดำรง Margin รายละเอียดตราสารที่เกี่ยวข้อง เช่น เลขที่ตราสาร ชื่อผู้ออก จำนวนเงิน เป็นต้น
4.5 การรายงาน
การรายงานธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนในแบบรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แสดงไว้ ภายใต้หัวข้อเงินให้สินเชื่อ เงินกู้ยืม รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน สินทรัพย์อื่น หรือ หนี้สินอื่น แล้วแต่กรณีจนกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง และประกาศใช้ต่อไป
5. วันเริ่มต้นบังคับใช้
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 9 กันยายน 2547
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป10-กส32001-25470910ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ