การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday September 22, 2004 12:09 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                22 กันยายน  2547 
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ สนส. (21) ว. 166/2547 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
เพื่อให้หลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์สอดคล้องกับนโยบาย การปรับปรุงและพัฒนาระบบงานจัดการธนบัตรแนวใหม่ ตลอดจนเพื่อให้มีความปลอดภัยและความคล่อง ตัวในทางปฏิบัติ และลดภาระของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอนำส่งประกาศ ธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ลงวันที่ 16 กันยายน 2547 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 ตรี มาตรา 11 จัตวา และมาตรา 11 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 103 ง. ลงวันที่ 20 กันยายน 2547 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 8 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าวมีดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสินทรัพย์สภาพคล่อง
ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของยอดรวมเงินฝาก และเงินกู้ยืมบางประเภท โดยปรับปรุงในส่วนขององค์ประกอบ ดังนี้
1.1 เงินฝากที่ ธปท. เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.8
1.2 เงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 เว้นแต่ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำรงเงินฝากที่ ธปท. ตามข้อ 1.1 ไว้เกินกว่าร้อยละ 0.8 เป็นจำนวนใด ธนาคารพาณิชย์สามารถดำรงเงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวได้ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 เป็นจำนวนนั้น ทั้งนี้ เมื่อนับรวมกับข้อ 1.1 แล้วจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1
1.3 เงินสดที่ธนาคารพาณิชย์แต่เมื่อรวมกับเงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์ ส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ต้องดำรงตามข้อ 1.2 แล้ว ให้ถือเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ ไม่เกินร้อยละ 2.5
1.4 หลักทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพันยังคงกำหนดเช่นเดิม ยกเว้นรายการตั๋วสัญญา ใช้เงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบัตรเงินฝากที่ออกโดย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามโครงการรับแลกเปลี่ยนตั๋ว 56 บริษัทเงินทุนที่ถูกระงับการดำเนิน กิจการซึ่งในปัจจุบันได้ไถ่ถอนครบถ้วนแล้ว
ทั้งนี้ ธปท. ได้แก้ไขถ้อยคำในประกาศฯ ในส่วนของการโอนเงินฝากที่ ธปท. ในปักษ์ ที่เกินไปใช้ในปักษ์ถัดไป หรือการโอนเงินฝากที่ ธปท. ในปักษ์ถัดไปมาชดเชยในปักษ์ที่ขาดอยู่ เพื่อให้ เป็นไปตามการกำหนดองค์ประกอบในข้อนี้ โดยยังคงเจตนารมณ์ และวิธีการเช่นเดิม (สำหรับตัวอย่างการ คำนวณสินทรัพย์สภาพคล่องและการโอนเงินฝากที่ ธปท. ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารแนบ)
เงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์ซึ่งจะนำมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ สภาพคล่องตามข้อ 1.2 ที่กล่าวข้างต้น จะเริ่มนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ต่อเมื่อมีการแจ้งรายชื่อศูนย์ เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์กับสายจัดการธนบัตร ธปท. แล้วเท่านั้น
2. การแก้ไขฐานในการคำนวณสินทรัพย์สภาพคล่อง
กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับการทำธุรกรรมในรูปเงิน กู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการกำกับดูแลการทำธุรกรรมดังกล่าวไม่ว่า จะอยู่ในรูปแบบของเงินฝากหรือเงินกู้ยืม
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ลงวันที่ 16 กันยายน 2547
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์
โทร. 0-2283-5843 0-2283-5307
หมายเหตุ [
] มีการจัดประชุมชี้แจงในวันที่.........ณ.....................
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว10-คส32001-25470922ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
____________________
1. เหตุผลในการออกประกาศ
เพื่อให้กฎเกณฑ์การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยเฉพาะใน รายการเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความคล่องตัว สามารถปฏิบัติได้ และสอดคล้องกับระบบงาน จัดการธนบัตรแนวใหม่ โดยไม่สร้างภาระให้กับธนาคารพาณิชย์ และกำหนดให้สถาบันการเงินต้องดำรง สินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับธุรกรรมเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ซึ่งได้มีการขยายขอบเขตให้ ธนาคารพาณิชย์สามารถประกอบธุรกรรมดังกล่าวได้เพิ่มเติม
2. อำนาจตามกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 ตรี มาตรา 11 จัตวา และมาตรา 11 เบญจ แห่งพระราช บัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามที่กำหนดในประกาศนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ ทุกธนาคาร
4. เนื้อหา
ข้อ 1. ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546
ข้อ 2. ธนาคารพาณิชย์นอกจากกิจการวิเทศธนกิจและกิจการวิเทศธนกิจสาขาต่างจังหวัด ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของ
(1) ยอดรวมเงินฝากทุกประเภท
(2) ยอดรวมเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ครบกำหนดใน 1 ปีนับแต่วันกู้และยอดรวม เงินกู้ยืมต่างประเทศซึ่งอาจชำระคืนหรืออาจถูกเรียกคืนได้ใน 1 ปีนับแต่วันกู้ เว้นแต่เป็นเงินกู้ยืมตาม หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(3) ยอดรวมเงินกู้ยืมที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรหรือมีอนุพันธ์ทางการ เงินแฝง ทั้งนี้ ยอดรวมเงินฝากและยอดรวมเงินกู้ยืมข้างต้นให้นับรวมยอดเงินซึ่งโอนเข้ามา ในประเทศไทยจากสาขาหรือสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศที่แสดงอยู่ในบัญชีระหว่างกันด้วย
ข้อ 3. สินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามข้อ 2 ดังกล่าว ได้แก่
(1) เงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.8
(2) เงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 เว้นแต่ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำรงเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตาม (1) ไว้เกินกว่าร้อยละ 0.8 เป็นจำนวนใด ธนาคารพาณิชย์สามารถดำรงเงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวได้ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 เป็นจำนวนนั้น ทั้งนี้ เมื่อนับรวมกับ (1) แล้วจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1
(3) เงินสดที่ธนาคารพาณิชย์แต่เมื่อรวมกับเงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์ ส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ต้องดำรงตาม (2) แล้ว ให้ถือเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ ไม่เกินร้อยละ 2.5
(4) หลักทรัพย์ซึ่งปราศจากภาระผูกพันดังต่อไปนี้
ก. หลักทรัพย์รัฐบาลไทย
ข. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
ค. หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงิน และดอกเบี้ย
ง. พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
จ. หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงินค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
ฉ. หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยองค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบ หรือที่ออกโดยบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย
ช. หลักทรัพย์ที่บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยออกใหม่สืบเนื่องจาก โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็น หลักทรัพย์ พ.ศ. 2540
ข้อ 4. ในกรณีของกิจการวิเทศธนกิจ และกิจการวิเทศธนกิจสาขาต่างจังหวัดต้องดำรง สินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของ
(1) ยอดรวมเงินฝากในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศซึ่งอาจถอนได้ใน 1 ปีนับแต่วันฝาก เว้นแต่เป็นเงินฝากในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนด
(2) ยอดรวมเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ครบกำหนดใน 1 ปีนับแต่วันกู้และยอดรวมเงิน กู้ยืมจากต่างประเทศซึ่งอาจชำระคืนหรืออาจถูกเรียกคืนได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันกู้ เว้นแต่เป็นเงินกู้ยืมตาม หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทั้งนี้ ยอดรวมเงินฝากและยอดรวมเงินกู้ยืมข้างต้นให้นับเฉพาะยอดรวมเงินฝาก หรือยอดรวมเงินกู้ยืมของกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในประเทศและกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมเป็นเงินบาทในต่างจังหวัดเท่านั้น และให้นับรวมยอดเงินซึ่งโอนเข้ามาในประเทศไทยจากสาขาหรือสำนักงาน ใหญ่ในต่างประเทศที่แสดงอยู่ในบัญชีระหว่างกันด้วยสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตาม (1) และ (2) ให้ถือปฏิบัติตามข้อ 3
(3) ยอดรวมทั้งสิ้นของเงินฝากทุกประเภท ยกเว้นยอดรวมเงินฝากของกิจการวิเทศธนกิจ เพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศ และยอดรวมเงินฝากในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศที่กล่าวใน (1) แห่งข้อนี้ โดยกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารต่างประเทศและกิจการวิเทศธนกิจสาขาต่างจังหวัดจะถือเอาสินทรัพย์ใด ๆ เป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงก็ได้ ส่วนกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยให้ถือ ปฏิบัติตามข้อ 3
ข้อ 5. สินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามประกาศนี้ให้คิดจากส่วนเฉลี่ยรายปักษ์ของ ทุกสิ้นวัน และส่วนเฉลี่ยรายปักษ์ของยอดรวมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์แล้วแต่กรณีทุกสิ้นวัน ในปักษ์ก่อน ทั้งนี้ ให้ถือเอาวันที่ 8 ถึงวันที่ 22 ของเดือนเป็นปักษ์หนึ่ง และวันที่ 23 ถึงวันที่ 7 ของเดือนถัดไป เป็นอีกปักษ์หนึ่ง และให้นับวันหยุดทำการรวมคำนวณเข้าด้วย
ในกรณีที่ในปักษ์ใดปักษ์หนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ กิจการวิเทศธนกิจ และกิจการวิเทศธนกิจ สาขาต่างจังหวัดดำรงเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยไว้น้อยกว่าร้อยละ 0.8 หรือดำรงเงินฝากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยและเงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยไว้น้อยกว่าร้อยละ 1 ให้สามารถ โอนเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใน 1 ปักษ์ก่อนหน้า หรือเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใน 1 ปักษ์ ถัดไปที่ได้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องถูกต้องตามประกาศฉบับนี้ และมีการดำรงเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศ ไทยไว้เกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในข้อ 3(1 ) เข้ามารวมในการคำนวณเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใน ปักษ์ที่ขาดได้ ภายใต้ข้อกำหนด ดังนี้
(1) การโอนเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่วนที่ดำรงไว้เกินในปักษ์ก่อนหน้าเพื่อนำ ไปใช้สำหรับปักษ์ที่ขาด สามารถทำได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของ ก. หรือ ข. แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ดังนี้
ก. จำนวนเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำรงไว้จริงในข้อ 3(1) ของปักษ์ที่โอน หรือ
ข. จำนวนที่คำนวณจากร้อยละ 1 ของยอดรวมเงินฝากและเงินกู้ยืมตามข้อ 2 ของ ปักษ์ที่โอน
(2) การโอนเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปักษ์ถัดไป เพื่อนำไปใช้สำหรับปักษ์ ที่ขาด สามารถทำได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องดำรงตามเกณฑ์ ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในข้อ 3(1) ของปักษ์ที่ขาด
ข้อ 6. เงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่วนที่โอนไปใช้ในปักษ์ที่ขาด จะต้องถูกหักออก จากจำนวนเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับการคำนวณสินทรัพย์สภาพคล่องในปักษ์ที่โอนนั้น และ การโอนดังกล่าวต้องไม่ทำให้ปักษ์ที่โอนดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำกว่าอัตราที่ประกาศฉบับนี้กำหนด
5. วันเริ่มต้นบังคับใช้
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน 2547
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ