6 ตุลาคม 2547
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ สนส.(12)ว. 26/2547 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การ อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง
1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
เพื่อนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง
2. ฉบับประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 121 ตอนพิเศษ 108 ง วันที่ 29 กันยายน 2547
3. ขอบเขตการถือปฏิบัติ
ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารยกเว้นกิจการวิเทศธนกิจ
4. สาระสำคัญของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีคุณสมบัติและมีความพร้อมในด้านบุคลากรและระบบงาน สามารถประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตามหลักการและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศ
5. วันเริ่มต้นการถือปฏิบัติ
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2547 เป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถือ
(นางทองอุไร ลิ้มปิติ)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง ลงวันที่ 27 กันยายน 2547
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน
โทร. 0-2283-5876, 0-2283-5836
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่.....เวลา.........ณ.........
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว10-กส37002-25471006ด
(สำเนา)
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง
_________________________________________
1. เหตุผลในการออกประกาศ
เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์สามารถประกอบธุรกิจได้กว้างขวางขึ้น และเพื่อเป็นแหล่ง
เงินทุนในการเสริมสภาพคล่องสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises:
SMEs) ให้มีเงินทุนหมุนเวียน จึงสมควรอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง
2. อำนาจตามกฎหมาย
ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2522 อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตามข้อกำหนดในประกาศนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
ทุกธนาคาร ยกเว้นกิจการวิเทศธนกิจ
4. เนื้อหา
4.1 หลักการ
4.1.1 ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตามนโยบายที่จะสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์สามารถประกอบธุรกิจได้กว้างขวางขึ้นตามแนวทางของแผน
พัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีเจตนารมณ์ที่จะให้การประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์กับลูกค้าเป็นไปตามลักษณะของธุรกรรมอย่างแท้จริงและมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
4.1.2 การให้สินเชื่อในการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงเป็นการให้สินเชื่อระยะสั้นเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงต้องมีความพร้อมในด้านระบบการวิเคราะห์สินเชื่อการบริหารความเสี่ยง การติดตามหนี้ และการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล เช่นเดียวกับที่ใช้ในการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อของธนาคาร
นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ต้องคำนึงถึงคุณภาพของลูกค้าและลูกหนี้เป็นหลัก มิใช่
มุ่งเน้นเพียงการเพิ่มปริมาณธุรกรรม เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวจะมีผลกระทบโดยตรงต่อฐานะและผลการ
ดำเนินงานของธนาคาร
4.1.3 หลักเกณฑ์การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมุ่งเน้นให้ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารความเสี่ยงของตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยธนาคารพาณิชย์ต้องมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะธุรกรรม ธุรกิจของลูกค้าและลูกหนี้และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และมีการกำหนดนโยบายและระเบียบวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจ รวมถึงระบบงานและระเบียบการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนและเหมาะสมเพียงพอที่จะรองรับการประกอบธุรกิจได้ และต้องมีระบบการควบคุมภายในที่ดี อาทิ จัดให้มีขั้นตอนและวิธีการประเมินเครดิตของลูกค้าและลูกหนี้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
4.2 หลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการประกอบธุรกิจ
4.2.1 ในประกาศฉบับนี้
"ธนาคารพาณิชย์" หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
"ธุรกิจแฟ็กเตอริง" หมายความว่า ธุรกิจที่ลูกค้าตกลงจะโอนหนี้ทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง โดยผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงนั้นตกลงจะให้สินเชื่อซึ่งรวมถึงการรับที่จะ
ดำเนินธุรกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) การบริหารบัญชีลูกหนี้
(2) เรียกเก็บหนี้ทางการค้า
(3) รับผิดชอบในหนี้ที่ลูกหนี้ของลูกค้าผิดนัด
ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ
แฟ็กเตอริงอื่นซึ่งรับโอนหรือตกลงที่จะรับโอนหนี้ทางการค้าจากผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตามวรรคหนึ่ง
และรับที่จะดำเนินการตาม (1) (2) หรือ (3) ของวรรคหนึ่งด้วย
"สัญญาแฟ็กเตอริง" หมายความว่า สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างธนาคารพาณิชย์ฝ่ายหนึ่งกับลูกค้าอีกฝ่ายหนึ่ง โดยลูกค้าตกลงโอนและธนาคารพาณิชย์ตกลงรับโอนหนี้ทางการค้าที่ลูกค้ามีสิทธิเรียกร้องเหนือลูกหนี้ เพื่อดำเนินธุรกรรมภายใต้ธุรกิจแฟ็กเตอริง และให้หมายความรวมถึงกรณีที่ธนาคาร
พาณิชย์รับโอนหรือตกลงที่จะรับโอนหนี้ทางการค้าจากผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงมาอีกทอดหนึ่งด้วย
"สัญญาแฟ็กเตอริงแบบมีสิทธิไล่เบี้ย (With Recourse) " หมายความว่า สัญญาแฟ็กเตอริงที่ธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกร้องหรือไล่เบี้ยให้ลูกค้าชำระหนี้แทนลูกหนี้หากลูกหนี้ผิดนัด
"สัญญาแฟ็กเตอริงแบบไม่มีสิทธิไล่เบี้ย (Without Recourse) " หมายความว่า สัญญาแฟ็กเตอริงที่ธนาคารพาณิชย์ไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือไล่เบี้ยให้ลูกค้าชำระหนี้แทนลูกหนี้หากลูกหนี้ผิดนัด
"ลูกค้า" หมายความว่า ผู้ขายสินค้าหรือบริการแก่ลูกหนี้ และมีสิทธิได้รับชำระหนี้สำหรับจำนวนหนี้ทางการค้าจากลูกหนี้
"ลูกหนี้" หมายความว่า ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการจากลูกค้าและมีหน้าที่ต้องชำระหนี้อันเนื่องมาจากหนี้ทางการค้าให้แก่ลูกค้า ซึ่งต่อมาลูกค้าได้โอนสิทธิการรับชำระหนี้ทางการค้านั้นให้แก่ธนาคารพาณิชย์ตามสัญญาแฟ็กเตอริง
"หนี้ทางการค้า" หมายความว่า เงินค่าสินค้าหรือบริการที่ลูกหนี้ต้องชำระให้แก่ลูกค้าอันเนื่องมาจากการขายสินค้าหรือบริการ
"การบริหารบัญชีลูกหนี้" หมายความว่า การจัดทำทะเบียนและ/หรือรายงานบัญชีลูกหนี้ที่ลูกค้านำมาโอนให้แก่ธนาคารพาณิชย์ตามสัญญาแฟ็กเตอริง การตรวจสอบข้อมูลเครดิตและสถานภาพของลูกหนี้ การควบคุมดูแลยอดหมุนเวียนและยอดคงค้างของลูกหนี้ให้เหมาะสม
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
4.2.2 ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถประกอบธุรกิจ แฟ็กเตอริงได้ โดยธนาคารพาณิชย์ที่จะประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง ต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
(1) มีฐานะการเงินและฐานะการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถกันเงินสำรองได้ครบถ้วนและดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์และภาระผูกพันไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศ
ไทยกำหนดหรือสั่งการเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งสามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ได้ตามที่ธนาคารแห่ง
ประเทศไทยได้มีการสั่งการเป็นกรณีพิเศษด้วย
(2) มีระบบงาน ระบบข้อมูล และมีบุคลากรเพียงพอเพื่อรองรับการทำธุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบุคลากรดังกล่าวจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถ และประสบการณ์
เพียงพอ
(3) ให้ความร่วมมือกับทางการในการปฏิบัติตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินในการปรับบทบาทและรูปแบบสถาบันการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีสถาบันการเงินที่รับฝากเงินจาก ประชาชนอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจเดียวกันมากกว่า 1 แห่ง/รูปแบบ ต้องจัดทำแผนการควบกิจการ รวมกิจการ ขายกิจการ คืนใบอนุญาต รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากสถาบันการเงินแห่งอื่น เพื่อการดำเนินการตามนโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (One Presence) ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงต้องยื่นหนังสือแสดงความ
จำนงที่จะประกอบธุรกิจดังกล่าวที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธนาคารพาณิชย์ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (One Presence) ของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินต้องให้การรับรองมาในหนังสือแสดงความจำนงดังกล่าวด้วยว่าจะปฏิบัติตามแผนการควบกิจการ รวมกิจการ ขายกิจการ คืนใบอนุญาต รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากสถาบันการเงินแห่งอื่น เพื่อการดำเนินการตามนโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (One Presence) ที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ รวมทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ที่รัฐมนตรีจะกำหนดประกอบการให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์จัดส่งหนังสือแสดงความจำนงไปที่สายกำกับสถาบันการ
เงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเมื่อธนาคารพาณิชย์ได้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงแล้ว ให้มีผลเป็นการอนุญาตเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ยื่นหนังสือดังกล่าว เว้นแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีข้อทักท้วงหรือให้ชี้แจงเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร โดยในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีข้อทักท้วงหรือให้ชี้แจงเพิ่มเติม ให้ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตเมื่อได้รับแจ้งการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
4.2.3 ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงจะต้องมีระบบการบริหาร
ความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการทำธุรกรรมดังนี้
(1) คณะกรรมการธนาคารหรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง (ในกรณีสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) ต้องมีความรู้ความเข้าใจในธุรกรรมและความเสี่ยงที่ เกี่ยวข้อง
(2) คณะกรรมการธนาคารหรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง (ในกรณีสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) ต้องจัดให้มีระบบงานอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเป็นผู้กำหนด อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบ นโยบาย กลยุทธ์ ขั้นตอนการปฏิบัติในการประกอบธุรกิจระเบียบและวิธีการบริหารความเสี่ยง ระบบการควบคุมภายใน ระบบการจัดการ และระบบบัญชี
(3) ระบบงานที่เกี่ยวกับระเบียบและวิธีการบริหารความเสี่ยงในการประกอบ
ธุรกิจแฟ็กเตอริงอย่างน้อยต้องครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) ระบบการวิเคราะห์เครดิตของลูกค้าและลูกหนี้โดยเฉพาะกรณีการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงแบบไม่มีสิทธิไล่เบี้ย ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเครดิตลูกค้าและลูกหนี้ที่จะรับโอน
ทุกรายอย่างเพียงพอ และมีระบบการกำหนดวงเงินสินเชื่อของลูกค้า โดยพิจารณาถึงหลักเกณฑ์หรือ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาให้สินเชื่อตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วย เช่น การกำหนดเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อที่จำเป็น ได้แก่ ใบกำกับสินค้า (Invoice) และเอกสารการค้าอื่น ๆ เป็นต้น
(ข) ระบบการติดตามหนี้ที่รับโอนมาตามสัญญาแฟ็กเตอริง ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลูกหนี้และลูกค้า เช่น ความมีอยู่จริงของหนี้ทางการค้าที่รับโอน คุณภาพ
การชำระหนี้ของลูกหนี้ คุณภาพสินค้าที่จัดส่ง และการปฏิบัติตามข้อตกลงการค้า
(ค) การบริหารความเสี่ยงด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การประกันภัย หรือการเรียกเงินประกันตามคุณภาพของลูกค้าและประเภทของธุรกรรม รวมทั้งการกระจายความเสี่ยงอันเกิดจากการกระจุกตัวของลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง เป็นต้น
(ง) ระบบการจัดเก็บข้อมูลและการจัดทำรายงานเพื่อการติดตาม วิเคราะห์และประเมินผลการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตรวจสอบได้
4.2.4 เพื่อเป็นการเปิดเผยข้อมูลและทำความเข้าใจกับลูกค้าเกี่ยวกับธุรกรรม ธนาคาร
พาณิชย์ต้องจัดให้มีสัญญาแฟ็กเตอริงเป็นหนังสือและมอบให้แก่ลูกค้าเก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ โดยในสัญญาดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) จำนวนวงเงินที่จะรับโอน
(2) สิทธิเรียกร้องที่จะรับโอน หรือวิธีการเลือกสิทธิเรียกร้องดังกล่าว
(3) วิธีการในการคำนวณอัตราดอกเบี้ย ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าอย่างชัดเจน โดยให้แนบรายละเอียดไว้กับคู่ฉบับของสัญญาที่มอบให้แก่ลูกค้า
(4) ค่าใช้จ่ายและเบี้ยปรับต่าง ๆ
(5) อายุสัญญา
ทั้งนี้ รายละเอียดตาม (3) และ (4) ธนาคารพาณิชย์อาจจัดทำเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญาอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาได้
4.2.5 การแก้ไข เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ที่
ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า ค่าใช้จ่าย หรือเบี้ยปรับต่าง ๆ ตามสัญญาแฟ็กเตอริงนั้น ธนาคารพาณิชย์ จะต้องมีหนังสือแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วันก่อนที่จะมีการแก้ไข เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิฉะนั้น ธนาคารพาณิชย์จะสามารถเรียกดอกเบี้ย ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ที่เรียกเก็บจากลูกค้า ค่าใช้จ่าย หรือเบี้ยปรับต่าง ๆ ได้เพียงเท่าที่ระบุไว้ในสัญญา
4.2.6 ธนาคารพาณิชย์ต้องตรวจสอบดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีที่ยอมรับ
ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
4.2.7 ในการคำนวณจำนวนเงินสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์สามารถทำธุรกรรมแฟ็กเตอริง
กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ให้ธนาคารพาณิชย์นับธุรกรรมการให้สินเชื่อหรือลงทุนในกิจการหรือก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง รวมเข้ากับธุรกรรมแฟ็กเตอริง ธุรกรรมการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน และธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ของบุคคลนั้น เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ ในการคำนวณการทำธุรกรรมกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งข้างต้นให้ปฏิบัติดังนี้
(1) กรณีสัญญาแฟ็กเตอริงแบบมีสิทธิไล่เบี้ยให้นับลูกค้าที่นำสิทธิการรับชำระหนี้มาโอน
แก่ธนาคารพาณิชย์ในการคำนวณ
(2) กรณีสัญญาแฟ็กเตอริงแบบไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้นับลูกหนี้ในการคำนวณ
4.2.8 ในการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การจัดชั้นและกันสำรอง การดำรงเงินกองทุน การสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน และแบบรายงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการระงับการรับรู้รายได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
4.2.9 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจยับยั้งหรือสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ประกอบ
ธุรกิจแฟ็กเตอริงได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดข้างต้น
(2) ธนาคารพาณิชย์ไม่ดำเนินการตามแผนการควบกิจการ รวมกิจการ ขายกิจการ คืนใบอนุญาต รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากสถาบันการเงินแห่งอื่นเพื่อการดำเนินการตามนโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (One Presence) ตามที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
(3) ธนาคารพาณิชย์ไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดประกอบการให้ความ
เห็นชอบแผนการควบกิจการ รวมกิจการ ขายกิจการ คืนใบอนุญาต รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากสถาบันการเงินแห่งอื่น เพื่อการดำเนินการตามนโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (One resence)
(4) กรณีอื่น ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่ากระทบกับความปลอดภัยหรือผาสุก
ของประชาชน
5. วันเริ่มต้นบังคับใช้
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 27 กันยายน 2547
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป10-กส37002-25470927ด
-ยก-