ธนาคารแห่งประเทศไทย
7 กรกฎาคม 2540
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.งพ.(ว) 1886/2540 เรื่อง พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และ
ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการ ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2540 นั้น ธนาคารจึงขอนำส่งสำเนาของพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งได้ลง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาเล่ม 114 ตอนที่ 29 ก แล้ว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540 เพื่อทราบและถือปฏิบัติต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(นายศิริ การเจริญดี)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ
แทน
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน
ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540
ส่วนพัฒนาธุรกิจสถาบันการเงิน
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร. 283-5868, 283-5837
___________________________________________________________________________
พระราชกำหนด
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน
ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 3)
พ.ศ.2540
________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2540
เป็นปีที่ 52 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า "พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการ ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540"
มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคห้าของมาตรา 26 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราช กำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ในกรณีที่บริษัทเงินทุนต้องดำเนินการลดทุนหรือเพิ่มทุน ตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบ ตามวรรคสอง หรือตามคำชี้ขาดตามวรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับการกำหนด จำนวนขั้นต่ำของทุนจดทะเบียน และทุนซึ่งชำระแล้วของบริษัทเงินทุน และมาตรา 1222 มาตรา 1224 มาตรา 1225 และมาตรา 1226 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 139 มาตรา 140 และมาตรา 141 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 แล้วแต่กรณีมาใช้บังคับ"
มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น หมวด 5 ทวิ การควบกิจการและการโอนกิจการ มาตรา 67 ทวิ มาตรา 67 ตรี และมาตรา 67 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522
"หมวด 5 ทวิ
การควบกิจการและการโอนกิจการ
มาตรา 67 ทวิ การควบบริษัทเข้าด้วยกันไม่มีผลเป็นการโอนใบอนุญาตของบริษัทเดิม ไปเป็น ของบริษัทใหม่
มาตรา 67 ตรี การโอนกิจการของบริษัททั้งหมด หรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่สถาบันการเงินอื่น ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
เมื่อได้รับความเห็นชอบการโอนกิจการจากรัฐมนตรีแล้ว ให้ดำเนินการโอนกิจการได้ โดยการโอนสิทธิเรียกร้องในการโอนกิจการนี้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในกรณีที่เป็นการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่นเพื่อโอนกิจการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจ ผ่อนผันไม่นำมาตรา 22 (4) มาใช้บังคับเป็นเวลาไม่เกินห้าปี
มาตรา 67 จัตวา ในกรณีที่คณะกรรมการของบริษัทใดมีข้อเสนอจะควบกิจการกับสถาบัน การเงินอื่น หรือโอนกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนที่สำคัญ ให้แก่สถาบันการเงินอื่นเป็นการเร่งด่วน หรือ ในกรณีตามมาตรา 26 ทวิ ที่คณะกรรมการของบริษัทเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงาน โดยการควบกิจการหรือโอนกิจการ หรือในกรณีตามมาตรา 26 มาตรา 26 ตรี หรือมาตรา 57 ที่คณะ กรรมการของบริษัท หรือคณะกรรมการควบคุมเสนอแก้ไขฐานะ หรือการดำเนินงานโดยการควบกิจการ หรือโอนกิจการ ถ้ารัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า กรณีดังกล่าว มีความ จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องควบกิจการ หรือโอนกิจการเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงิน และประโยชน์ของ ประชาชน ให้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาอนุญาตให้ดำเนินการได้ โดยจะกำหนดระยะเวลา ดำเนินการและเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องได้รับยกเว้น การ ใช้บังคับบทบัญญัติดังต่อไปนี้ แล้วแต่กรณี
(1) บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับการบังคับให้บริษัทเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และ การกำหนดจำนวนขั้นต่ำของทุนจดทะเบียนและทุน ซึ่งชำระแล้วของบริษัท
(2) มาตรา 1240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(3) มาตรา 52 มาตรา 102 ประกอบกับมาตรา 33 วรรคสอง มาตรา 147 และ มาตรา 148 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535
(4) มาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ทั้งนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับ การโอนทรัพย์สิน หรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินเนื่องในการควบกิจการหรือการโอนกิจการ ตามวรรคหนึ่ง
ให้บริษัทและสถาบันการเงินที่ควบกิจการหรือโอนหรือรับโอนกิจการตามวรรคหนึ่ง จัดให้มี การประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อควบกิจการหรือโอน หรือรับโอนกิจการ ในการนี้มิให้นำบทกฎหมายเกี่ยวกับการ ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อควบกิจการหรือโอนหรือรับโอนกิจการของบริษัท หรือสถาบันการเงินนั้นมาใช้บังคับ และให้บริษัทและสถาบันการเงินนั้นงดรับลงทะเบียนการโอนหุ้นเมื่อพ้นเจ็ดวัน นับแต่วันมีประกาศอนุญาต ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งจนถึงวันประชุมผู้ถือหุ้น และเรียกประชุมผู้ถือหุ้น โดยจัดส่งหนังสือนัดให้ผู้ ถือหุ้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ต้องไม่เกินสิบสี่วัน ทั้งนี้ ให้โฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมใน หนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่าสามวัน ก่อนวันประชุมด้วย ในการประชุมถ้ามีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อย กว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม ให้ถือว่าการควบกิจการหรือการโอนหรือรับโอน กิจการนั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมาย
ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทและสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง เป็นคดีล้มละลายในระหว่าง การดำเนินการเพื่อควบกิจการ หรือโอนกิจการตามที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรานี้
ให้บริษัทและสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่งได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม และภาษีอากรต่าง ๆ บรรดาที่เกิดจากการควบกิจการ หรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะกำหนดเป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะรายก็ได้
คณะกรรมการของสถาบันการเงินที่ควบกันแล้วมีสิทธิยื่นขอจดทะเบียนการควบกิจการได้ภายใน สิบสี่วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาตให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง
ในการอนุญาตให้ควบกิจการหรือโอนกิจการตามมาตรานี้ หากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย จำต้องเข้าไปช่วยเหลือทางการเงิน และได้รับความเสียหาย ให้รัฐบาลช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบัน การเงินตามควรแก่กรณี"
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ: เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ยังขาดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนให้ สถาบันการเงินดำเนินการควบกิจการ หรือโอนกิจการ ประกอบกับการควบกิจการหรือโอนกิจการ บางกรณี จำเป็นต้องกระทำโดยเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูฐานะและสร้างความมั่นคงแก่ระบบสถาบันการเงิน และคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน สมควรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนองความจำเป็นดังกล่าว และโดยที่ธุรกิจการเงินในปัจจุบันอยู่ในภาวะซบเซาจำต้องแก้ไขโดยเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้