พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday August 14, 1997 16:32 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                      ธนาคารแห่งประเทศไทย
7 กรกฎาคม 2540
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ ธปท.งพ.(ว) 1885/2540 เรื่อง พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติชอบในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2540 นั้น ธนาคารจึงขอนำส่งสำเนาของพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาเล่ม 114 ตอนที่ 29 ก แล้ว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540 เพื่อทราบและถือปฎิบัติต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(นายศิริ การเจริญดี)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ
แทน
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540
ส่วนพัฒนาธุรกิจสถาบันการเงิน
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร. 283-5868, 283-5837
_________________________________________________________________________________
พระราชกำหนด
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์
พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 2)
พ.ศ. 2540
__________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2540
เป็นปีที่ 52 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า "พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540"
มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 และให้ใช้ ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 5 เบญจ ธนาคารพาณิชย์ต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และต้องมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขฐานะหรือการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ใด รัฐมนตรีด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจผ่อนผันให้มีจำนวนหุ้นหรือกรรมการ เป็นอย่างอื่นได้ ในการผ่อนผันนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้"
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 19 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งเป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งอื่นในธนาคารพาณิชย์ใดเป็น กรรมการหรือดำรงตำแหน่งอื่นในธนาคารพาณิชย์อื่นอีกในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เป็นตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมาย หรือตำแหน่งที่ไม่มีหน้าที่ปฎิบัติหรือให้ความเห็นเกี่ยวแก่ การดำเนินการของธนาคารพาณิชย์
(2) ได้รับการผ่อนผันจากรัฐมนตรีด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในการผ่อนผันต้องกำหนดเป็นระยะไม่เกินสามปี และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ที่มีสัญชาติอื่นนอกจากสัญชาติไทยถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์หรือเป็น กรรมการธนาคารพาณิชย์ได้เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนหุ้นและกรรมการทั้งหมด และห้ามมิให้กรรมการธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นในขณะเดียวกัน แต่สถานการณ์ ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติการณ์ความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินและปัญหาคุณภาพ สินทรัพย์ในสถาบันการเงินเสื่อมลงอย่างรวดเร็วตามภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงมีความจำเป็น ต้องส่งเสริมให้มีการระดมเงินทุนนอกประเทศมาสร้างเสริมระบบสถาบันการเงินให้มั่นคงยิ่งขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ที่มีสัญชาติอื่นนอกจากสัญชาติไทยถือหุ้นและเป็นกรรมการธนาคารพาณิชย์ได้เกินอัตราส่วนดังกล่าว และให้กรรมการธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งไปดำรงตำแหน่งกรรมการในการธนาคารพาณิชย์ แห่งอื่นได้ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ