การผ่อนผันการจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งเกินอัตรากำหนด

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday May 3, 1994 17:39 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                  ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 พฤษภาคม 2537
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนทุกบริษัท
ที่ ธปท.งฟ.(ว) 804/2537 เรื่อง หลักเกณฑ์การผ่อนผันการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุนหรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเกินอัตราที่กำหนด
ตามที่ธนาคารได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536 เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงิน ตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด กับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่ม 110 ตอนที่225 วันที่ 28 ธันวาคม 2536 และแจ้งให้บริษัททราบแล้ว นั้น ธนาคารขอแจ้งหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 มาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ ดังนี้
1. ยกเลิกหลักเกณฑ์การผ่อนผัน การให้กู้ยืมเกินอัตราที่กำหนดในหนังสือที่ ธปท.งก. (ว)576/2535 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2535 และให้ใช้หลักเกณฑ์การผ่อนผันการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเกินอัตราที่กำหนดที่แนบแทน ซึ่งมีประเด็นที่ปรับปรุงแก้ไข ดังนี้
1) กำหนดเกณฑ์ให้บริษัทปฏิบัติในกรณีที่มีการให้กู้ยืม หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันอยู่ก่อน และมียอดคงค้างเกินอัตราที่กำหนด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536
2) กำหนดวงเงินที่จะผ่อนผันให้บริษัทเงินทุนให้กู้ยืม หรือลงทุนในกิจการของบุคคลหนึ่งบุคคลใด เกินอัตราที่กำหนดลดลงจากเดิม โดยจะผ่อนผันให้ได้สูงสุดรายละไม่เกินร้อยละ 75 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 และกำหนดวงเงินที่จะผ่อนผันให้บริษัทเงินทุนก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันได้สูงสุดรายละไม่เกินร้อยละ 75 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การผ่อนผันทั้ง 2 กรณี รวมกันจะไม่เกิน 1 เท่า ของเงินกองทุนชั้นที่ 1
3) กำหนดเกณฑ์ ให้บริษัทให้กู้ยืมเมื่อทวงถามแก่สถาบันการเงินไปได้เอง โดยไม่ต้องขออนุญาตธนาคารก่อน เฉพาะกรณีที่บริษัทเงินทุนไม่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินนั้น ในลักษณะของการมีผู้ถือหุ้นร่วมกัน หรือมีฝ่ายใดฝ่ายหนี่ง เข้าถือหุ้นระหว่างกันเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้น ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือมีกรรมการร่วมกัน โดยเมื่อนับรวมกับการผ่อนผันตามที่กล่าวใน 2) และที่ธนาคารได้ผ่อนผันก่อนแล้ว ตามหนังสือที่ ธปท.งก.(ว) 576/2535 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2535 ด้วยแล้วต้องไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1
4) กำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมกรณีที่ธนาคารจะไม่พิจารณาผ่อนผันการให้กู้ยืม หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเกินอัตราที่กำหนด ในกรณีลูกค้าเป็นบริษัทจำกัดที่ถือหุ้นในบริษัทเงินทุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทเงินทุนนั้น และในกรณีมีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 10 ทั้งในบริษัทจำกัด และบริษัทเงินทุนนั้น
5) กำหนดให้แสดงรายละเอียดข้อมูลประกอบคำขออนุญาตเพิ่มเติมในแบบคำขออนุญาตให้กู้ยืมเงินฯ เกินอัตราที่กำหนดที่แนบ
การให้กู้ยืม หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน แก่บริษัทหลักทรัพย์ที่แยกธุรกิจออกไป ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีความเกี่ยวข้องกันนั้น สามารถยื่นโครงการให้ธนาคารพิจารณาให้ความเห็นชอบได้เป็นราย ๆ ไป
2. ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่แนบมาพร้อมนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถือ
วิจิตร สุพินิจ
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. หลักเกณฑ์การผ่อนผันการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเกินอัตราที่กำหนด
2. แบบคำขออนุญาตให้กู้ยืม่เงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน เกินอัตราส่วนที่กำหนดตามมาตรา 35
3. รายงานการให้กู้ยืมเงินประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถามแก่สถาบันการเงินฯ
ส่วนกำกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร. 2826650
หลักเกณฑ์การผ่อนผันการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน
หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเกินอัตราที่ก่ำหนด
————————————————
1. การให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน ซึ่งบริษัทเงินทุนได้กระทำขึ้น ก่อนวันที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536มีผลใช้บังคับให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
(1) การให้กู้ยืมเงิน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน ที่ได้กระทำขึ้นก่อนวันที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับ ดังกล่าว มีผลใช้บังคับ และยังไม่ถึงกำหนดชำระเงินคืนหรือปลอดภาระผูกพันตามสัญญา ให้ดำเนินการต่อไปได้จนครบกำหนดตามสัญญา แต่หากมีการชำระเงินคืน หรือปลอดภาระผูกพันบางส่วนแล้ว จะให้เบิกเงินหรือก่อภาระผูกพันเพิ่มอีกไม่ได้ ตราบเท่าที่ยอดเงินให้กู้ยืมหรือเงินลงทุน หรือภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน รวมกันตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับ ดังกล่าว ยังเกินอัตราส่วนที่กำหนด
(2) การให้กู้ยืมเงิน ประเภทจ่ายคืน เมื่อทวงถาม (CALL MONEY) หรือไม่มีกำหนดชำระเงินคืน และภาระผูกพันที่ไม่กำหนดระยะเวลา รวมกับเงินให้กู้ยืม นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นหรือเงินลงทุน หรือภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับ ดังกล่าว เกินอัตราส่วนที่กำหนด บริษัทเงินทุนต้องเรียกชำระคืน หรือขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย
(3) ในกรณีที่ให้เบิกเงินให้กู้ยืม หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันบางส่วนตามสัญญา แล้วรวมกันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าว ไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนด บริษัทเงินทุนจะให้เบิกเงินให้กู้ยืม หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มขึ้นได้อีกเพียงไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดใหม่เท่านั้น
2. ธนาคารจะพิจารณาอนุญาตให้กู้ยืมเงินหรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน รวมกันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าว เกินอัตราส่วนที่กำหนด ตามความจำเป็นโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับฐานะของบริษัทเงินทุน ทั้งนี้ มีข้อพิจารณา ดังนี้
(1) เป็นการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน ในกิจการที่ธนาคารพิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคม
(2) จำนวนเงินที่จะอนุญาตให้บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงิน และหรือลงทุนในกิจการของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่ละรายจะไม่เกินร้อยละ 75 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุน และจำนวนเงินที่จะอนุญาตให้บริษัทเงินทุนก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่ละรายจะไม่เกินร้อยละ 75 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุน ทั้งนี้ จำนวนเงินที่จะอนุญาตให้บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุนในกิจการของบุคคลใด เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่บริษัทเงินทุนก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลนั้น รวมกันจะต้องไม่เกิน 1 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุน และเมื่อรวมกับที่ได้รับอนุญาตทุกรายและตามกรณีข้อ 3 แล้วต้องไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุน ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นไปตามโครงการที่ธนาคารเห็นชอบ
(3) บริษัทเงินทุนผู้ยื่นคำขออนุญาตจะต้องแสดงหลักประกันของลูกค้า หรือผลการวิเคราะห์ฐานะการเงินของลูกค้า เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
3. กรณีให้กู้ยืมเงินเฉพาะประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถาม (CALL MONEY) ประเภทเดียวแก่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเงินทุนอื่น ๆ แต่ละรายเกินอัตราส่วนที่กำหนด ซึ่งเมื่อรวมกันทุกรายและรวมกับการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตามข้อ 2(2) แล้ว หากไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุน ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทเงินทุนดำเนินการได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตก่อน แต่ให้บริษัทเงินทุนรายงานการให้กู้ยืมเงินนั้นตามแบบที่กำหนด ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่จะได้รับอนุญาตดังกล่าวข้างต้น จะต้องไม่มีความสัมพันธ์กับบริษัทเงินทุนผู้ให้กู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกับที่กำหนดในข้อ 4 กรณีเป็นบริษัทจำกัด และขอให้พึงระมัดระวังต้องนับรวมบุคคลตามมาตรา 35 วรรคสอง เป็นรายเดียวกันด้วย
4. การให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพัน ในกรณีดังต่อไปนี้ ธนาคารจะไม่พิจารณาผ่อนผันให้ เว้นแต่ เป็นไปตามโครงการที่ธนาคารเห็นชอบ
(1) การให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันแก่บริษัทจำกัด ที่บริษัทเงินทุนถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น หรือบริษัทจำกัดที่ถือหุ้นในบริษัทเงินทุนไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทเงินทุนนั้น
(2) การให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันแก่บริษัทจำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน ในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว ทั้งหมดทั้งในบริษัทจำกัดนั้น และในบริษัทเงินทุน
บุคคลดังกล่าวข้างต้นให้หมายความรวมถึงบุคคลตามมาตรา 14 วรรคสามด้วย
(3) การให้กู้ยืมแก่บริษัทจำกัดที่มีกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุน หรือคู่สมรส หรือบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น
(4) การให้กู้ยืมแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มีผู้จัดการ หรือพนักงาน หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุน หรือคู่สมรส หรือบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวเป็นหุ้นส่วน
(5) การให้กู้ยืมแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุน หรือคู่สมรส หรือบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือการให้กู้ยืมแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุน เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ที่มีหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 10 ของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น
(6) การให้กู้ยืมแก่บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนที่มีกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงาน หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุนนั้น ดำรงตำแหน่งหรือทำหน้าที่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนั้น
(7) การให้กู้ยืมเงิน หรือก่อภาระผูกพัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อหลักทรัพย์
5. ในการพิจารณาผ่อนผันตามข้อ 2 ข้างต้น หากปรากฎว่าผู้ขอกู้ยืมเงินที่ได้รับการผ่อนผัน มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ธนาคารจะถือเป็นเงื่อนไขในการผ่อนผัน โดยนับรวมเป็นรายเดียวกันคือ
(1) มีกรรมการจำนวนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งสิ้นร่วมกัน
(2) มีผู้ถือหุ้นในสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดร่วมกัน หรือผู้ขอกู้ยืมเงินรายหนึ่งถือหุ้นในผู้ขอกู้ยืมเงินอีกรายหนึ่ง ตั้งแต่ร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
(3) มีสัดส่วนของรายได้ของกิจการตั้งแต่ร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งสิ้นมาจากอีกกิจการหนึ่ง
ในการขออนุญาต ให้บริษัทเงินทุนพิจารณาลูกหนี้ ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้น แล้วยื่นขออนุญาตตามแบบที่กำหนด ทั้งนี้ ในการอนุญาต ธนาคารแห่งประเทศไทย จะกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตอีกด้วยก็ได้
ส่วนกำกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร. 2826650

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ