การทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday September 29, 1995 19:53 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                         ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 กันยายน 2538
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.งพ. (ว) 2106/2538 เรื่อง การทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ตามที่ธนาคารได้มีหนังสือที่ ธปท.งพ.(ว) 1137/2537 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ลงวันที่23 มิถุนายน 2537 แจ้งให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถือปฎิบัติเกี่ยวกับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศหรืออัตราแลกเปลี่ยน และมีหนังสือที่ ธปท.งพ.(ว) 1138/2537 เรื่อง รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำรงฐานะเงินตราต่างประเทศ ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2537 และที่ ธปท.งพ.(ว) 2117/2537 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเรื่องสิทธิในการซื้อเงินตราต่างประเทศ ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 ชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิในการซื้อเงินตราต่างประเทศ (Buy call option) ที่จะนำมาปรับลดฐานะเงินตราต่างประเทศขาดดุล นั้น
เนื่องจากมีบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายราย หารือไปยังธนาคารเกี่ยวกับการทำสัญญา เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในรูปแบบต่าง ๆ ธนาคารจึงขอแจ้งให้ทราบทั่วกันถึงรูปแบบของสัญญาที่ธนาคารยินยอมให้ทำได้ ดังนี้
1. การทำสัญญา option รูปแบบพื้นฐาน
เป็นการทำสัญญา Buy call option ที่มี strike price ไม่สูงกว่าอัตรา spot rate ณ วันที่ทำสัญญาบวกด้วย forward premium ของสัญญาที่มีอายุครบกำหนดเท่ากัน และระยะเวลาจะต้องไม่เกินกว่าอายุสัญญาเงินกู้ ซึ่งเป็นรายการหนี้สินที่เกี่ยวข้องของบริษัท การทำสัญญารูปแบบนี้ธนาคารยินยอมให้ทำได้ ดังที่ได้ชี้แจงและซักซ้อมความเข้าใจไว้ในหนังสือที่ ธปท.งพ.(ว) 1138/2537 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2537 และหนังสือที่ ธปท.งพ.(ว) 2117/2537 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 แล้ว
2. การทำสัญญา option ในลักษณะที่บริษัทเงินทุนยินยอมจะไม่เอากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
กรณีที่บริษัทประสงค์จะทำสัญญา option ในลักษณะที่ป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุน แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากในที่สุดเกิดมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ก็ยินยอมจะไม่เอากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น
วิธีการนี้คือการทำสัญญาซื้อ call option ควบคู่ไปกับการทำสัญญาขาย put option ที่เรียกว่า Collar option หรือทำสัญญาซื้อ call option ควบคู่ไปกับสัญญา forward เพื่อซื้อเงินตราต่างประเทศที่เรียกว่า Fortion ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้จะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงต่ำลง เนื่องจากการยินยอมจะไม่เอากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว
กรณีเช่นนี้ธนาคารยินยอมให้กระทำได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1) บริษัทต้องมีสิทธิซื้อเงินตราต่างประเทศตามสัญญา forward หรือ option ดังกล่าวได้ในอัตราไม่สูงกว่า spot rate ณ วันที่ทำสัญญาบวกด้วย forward premium ของสัญญาที่มีอายุครบกำหนดเท่ากัน และระยะเวลาจะต้องไม่เกินกว่าอายุสัญญาเงินกู้ ซึ่งเป็นรายการหนี้สิน ที่เกี่ยวข้องของบริษัท
2) จำนวนเงิน (nominal value) ของสัญญา put option ต้องเท่ากันกับจำนวนเงินของสัญญา call option
3. การทำสัญญา option ในลักษณะที่มีอัตราค่า premium หลายระดับ
กรณีที่บริษัทประสงค์จะทำสัญญา option โดยมีอัตราค่า premium หลายระดับ และอัตราค่า premium สูงขึ้นตามระดับ spot rate ซึ่งวิธีนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงต่ำลง
กรณีเช่นนี้ธนาคารยินยอมให้กระทำได้โดย strike price ที่กำหนดในสัญญาจะต้องไม่สูงกว่า spot rate ณ วันที่ทำสัญญาบวกด้วย forward premium ของสัญญาที่มีอายุครบกำหนดเท่ากัน และระยะเวลาจะต้องไม่เกินกว่าอายุสัญญาเงินกู้ ซึ่งเป็นรายการหนิ้สินที่เกี่ยวข้องของบริษัท
4. การทำสัญญา call option ซึ่งมี strike price สูงกว่าอัตราซื้อล่วงหน้า ณ วันทำสัญญา
ธนาคารยินยอมให้บริษัทซื้อ call option ซึ่งมี strike price สูงกว่าอัตราซื้อล่วงหน้า ณ วันทำสัญญา (อัตรา spot rate ณ วันทำสัญญาบวกด้วย forward premium ของสัญญาที่มีอายุครบกำหนดเท่ากัน) แต่บริษัทจะต้องตั้งสำรองเผื่อผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในจำนวนเท่ากับผลต่างของ strike price กับอัตรา spot rate ณ วันทำสัญญา คูณด้วยมูลค่าหนี้สินต่างประเทศและนำเงินเท่ากับจำนวนที่ตั้งสำรองไปฝากไว้กับสถาบันการเงิน โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่ไถ่ถอนเงินฝากก่อนสัญญา call option ครบกำหนด ทั้งนี้ บริษัทต้องจัดส่งหลักฐานการฝากเงินไปยังฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงินทุกเดือน พร้อมกับแบบ บ.ง.5
5. การทำสัญญาอนุพันธ์ประเภท Leveraged contracts หรือ Structured contracts
ธนาคารไม่สนับสนุนให้บริษัทำสัญญาอนุพันธ์ที่มีความเสี่ยงซับซ้อนประเภท leveraged contracts หรือสัญญาอนุพันธ์ประเภท Structured contracts ซึ่งเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในลักษณะทวีคูณ
ธนาคารอนุญาตให้บริษัทเงินทุนทำสัญญา option เพื่อปัองกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่มีฐานะมั่นคงได้ นอกเหนือจากการทำสัญญากับธนาคารรับอนุญาตตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยน ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือที่ ธปท.งพ.(ว) 1137/2537 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2537
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฎิบัติต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
วิจิตร สุพินิจ
ผู้ว่าการ
ส่วนพัฒนาธุรกิจสถาบันการเงิน
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร. 2835837, 2835868

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ